ตามที่ได้เกิดธรณีพิบัติขึ้นใน 6 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา โดยมีชาวประมงที่อาศัย อยู่บริเวณเกาะ และชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับความเสียหายจำนวน 141 ชุมชน (จาก 400 ชุมชน) โดยบ้านเรือนราษฏรได้รับความเสียหาย และไร้ที่อยู่อาศัย 2,500 ครอบครัว เรือประมงเสียหายประมาณ 3,000 ลำ โดยสถาบันพัฒนา องค์กรชุมชน (พอช) สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัดพังงา (พมจ.) ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ จัดสร้างศูนย์พักชั่วคราวขึ้น 6แห่ง
ได้แก่ที่ บางม่วง คึกคัก ทับตะวัน จังหวัดพังงา รวม 1,050 หน่วย ที่บ้านหินลาด จังหวัดกระบี่ 59 หลัง ที่ ปากเตรียม จังหวัดระนอง ฯลฯ นั้น
นายสุวัฒน์ คงแป้น หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า ในส่วนของศูนย์พักชั่วคราว ตำบลบางม่วงนั้น นับเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าพักอาศัยจนถึงปัจจุบันจำนวน 850 ครอบครัว ประชากร 3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากบ้านน้ำเค็ม โดยทำการเปิดศูนย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งเบื้องต้นให้ผู้เดือดร้อนพักอาศัยอยู่ในเต้นท์พักชั่วคราวประมาณ 3 คน/เต้นท์ จากนั้นก็ได้มีการทยอยสร้างบ้านพักชั่วคราวให้กับผู้เดือดร้อน โดยเปิดให้ครอบครัวที่มีเด็ก คนชรา และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเข้าพักอาศัยก่อน และทยอยสร้างบ้านพักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีทหาร, ตำรวจตระเวนชายแดน และพี่น้องเครือข่ายองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศร่วมกันก่อสร้าง
ในการจัดระบบการอยู่อาศัยในศูนย์พักชั่วคราวนั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยเข้ามาเป็นหลักในการทำ โดยมีการแบ่งงานเป็น 10 แผนก ได้แก่ งานก่อสร้าง งานจัดระบบชุมชน งานจัดระบบการบริจาค เด็กและเยาวชน แผนกอาหาร แผนกอนามัย แผนกความปลอดภัย แผนกข้อมูลและประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานในศูนย์จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนประมาณ 70 องค์กร ซึ่งหากหน่วยไหนเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็จะจัดให้ทำงานร่วมกับชุมชน ในแผนกที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิเด็ก มูลนิธิดวงประทีป ก็จะจัดให้ทำงานด้านเด็ก วิทยุชุมชนภาคใต้ ก็รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ เป็นต้น โดยทุกวันจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างชาวชุมชนกับหน่วยงานสนับสนุน เพื่อสรุปปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
การจัดระบบชุมชนนั้น จะให้ชาวชุมชนรับผิดชอบทั้งหมด โดยมีการแบ่งเป็นระบบแถวและโซน ในแต่ละโซนจะดูแลผู้เดือดร้อน 10 ครอบครัว ซึ่งขณะที่มีอยู่ 21 โซนด้วยกัน โดยหัวหน้าโซนจะดูแลทุกข์สุข ความเป็นอยู่ ข้อมูลครัวเรือนสมาชิก ในขณะที่แผนกอาหารก็มีการรับอาสาสมัครเข้ามาทำอาหารทุกวัน เป็นต้นตอนนี้มีผู้นำชาวบ้านอาสาสมัครเข้ามาทำงาน 63 คน
ด้านนางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ มีเรื่องที่น่ายินดีว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วภาคใต้ และจากภาคต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญในการดูแลพี่น้องด้วยกันเอง เช่นในเรื่องการก่อสร้าง การช่วยวางแผนชุมชนการให้กำลังใจ ซึ่งกันและกัน รวมทั้งที่ส่วนในการจัดระบบชุมชน ทำให้เกิดผู้นำใหม่ ๆ ที่เป็นผู้เดือดร้อนหลายคน เป็นการยกระดับของผู้เดือดร้อนว่ามิใช่เป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือ แต่จะเป็นกำลังสำคัญในการที่จะร่วมกันจัดการกับปัญหาของตนเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่พักและชุมชนถาวรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทุก ๆ ศูนย์ที่ พอช. รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นศูนย์คึกคัก ศูนย์ทับตะวัน ก็จะมีการจัดระบบชุมชนในลักษณะนี้
ส่วนเรื่องการสร้างบ้านพักถาวรนั้น ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เปิดเผยว่า ในขณะนี้คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน องค์กรภาคเอกชนก็ยินดีให้การสนับสนุนมากมาย ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ภาครัฐโดยกรมโยธาธิการก็มีแบบบ้านสำเร็จ แต่การสร้างบ้านน่าจะไม่ใช่เพียงการสร้างบ้านแต่ควรเป็นการสร้างระบบชุมชนที่มั่นคงด้วย จึงน่าจะให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมคิดว่า เขาต้องการจะมีบ้านลักษณะไหนอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับความเป็นอยู่และอาชีพการประมงของพวกเขา เราอาจเสียเวลาเล็กน้อย เพื่อทำเรื่องเหล่านี้ให้ชาวบ้านขึ้นมารับผิดชอบหลัก
" ในส่วนของ พอช. นั้น ขณะที่ได้ส่งสถาปนิกชุมชน ออกไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อออกแบบบ้านตามที่ชาวบ้านต้องการ พร้อม ๆ ไปกับการส่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชนไปช่วยจัดกระบวนการชุมชน ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ที่อยู่เดิมของชาวบ้านบางส่วนจะมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน เช่น อยู่ในที่ดินสาธารณะบ้าง ที่สัมปทานเหมืองแร่บ้าง ที่เอกชนบ้าง จึงต้องค่อย ๆ แกะเรื่องที่ออกมา แล้วอาจเลือกพื้นที่ทำงานเป็นการนำร่อง ซึ่งเบื้องต้นอาจจะทำที่บ้านไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต จำนวน 59 ครอบครัว เป็นการนำร่อง " ผอ.พอช. กล่าวในที่สุด