กระบวนการและขั้นตอนการวางผังและออกแบบกระบวนการ
1. กรณีการปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิม
สำรวจชุมชน
1. สำรวจทางกายภาพ
1.1 การรังวัดชุมชน ได้แก่ การวัดขนาดแปลงที่ดิน การวัดขนาดแปลงบ้าน รวมถึงทางเดินในชุมชน
ขั้นตอนการทำรังวัดชุมชน
การรังวัดทำได้อย่างง่ายๆ โดยการใช้สายวัดขนาดยาว 20-50 เมตร โดยการวัดไปพร้อมกับสเกตซ์รูปร่างคร่าวๆ ของที่ดินชุมชน จากนั้นการวัดขอบเขตของที่ดินชุมชนทั้งหมดจะถูกนำมาเขียนแบบ ลงมาตราส่วน โดยเปรียบเทียบกับแผนที่ตั้งชุมชน
การวัดขนาดแปลงบ้านแต่ละหลัง ทำโดยวัดขอบเขต กว้าง xยาว ของที่ดินแต่ละหลัง จากนั้นเขียนระบุตำแหน่งลงในแผนที่ แปลงที่ดินชุมชน
การวัดทางเดินและพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ ทางเท้าสาธารณะของชุมชน สวนหย่อม เป็นต้น
1.2 การทำแผนที่ชุมชน ได้แก่ การนำขนาดขอบเขตและรูปร่างที่ดินที่วัดได้ การวัดแปลงที่ดินของแต่ละบ้าน การวัดขนาด ความกว้างและรูปร่างของทางเดินภายในชุมชน มาเขียนเป็นแผนที่ชุมชน เพื่อให้เห็นลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนตามสภาพปัจจุบัน
ขั้นตอนการทำแผนที่ชุมชน
นำภาพผังที่ได้จากการสเกตซ์ในเบื้องต้นมาเขียนลงเป็นมาตราส่วน เพื่อให้ทราบถึงขนาดและสัดส่วนที่ถูกต้องของชุมชน และแปลงที่ดินของบ้านแต่ละหลัง ประโยชน์ที่ได้จากการทำแผนที่มีอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก ทำให้รู้ว่าขนาดที่ดินมีเท่าไรสภาพเป็นอย่างไร เพื่อทำเรื่องขอเช่าที่ดินได้ถูกต้อง และประการที่สอง ทำให้เห็นแนวทางความเป็นไปได้ ข้อจำกัด และทางเลือกในการปรับปรุงสภาพกายภาพของชุมชน
ภาพผังที่ได้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยในการสำรวจชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และเข้าใจชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลต่างๆ ของชุมชนจะถูกนำมาบันทึกในรูปของแผนที่ เช่น การทำแผนที่จำนวนสมาชิกในครัวเรือน การทำแผนที่รายได้ของคนในชุมชนการทำแผนที่ออมทรัพย์ เป็นต้น
การสำรวจภูมิศาสตร์ชุมชน ได้แก่ การสำรวจเส้นทางระบายน้ำปัจจุบัน สภาพปัญหาอันเกิดจากระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เหมาะสม และปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาระบบสาธารณูปโภคชุมชน
1.3 การสำรวจและการประเมินสภาพอาคารปัจจุบัน ได้แก่ การสำรวจวัสดุที่ใช้สร้างอาคารในปัจจุบัน เช่น วัสดุมุงหลังคา วัสดุผนังวงกบ ประตู เพื่อศึกษาความสามารถในการนำวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ การสำรวจจำนวนชั้นอาคาร เป็นต้น
2. สำรวจทางสังคม
- “คน” สำรวจจำนวนและลักษณะประชากรในชุมชน ได้แก่การระบุว่าใครนับเป็นคนในชุมชน และใครไม่นับเป็นคนในชุมชน
โดยพิจารณาจากระยะเวลาการอยู่อาศัยในชุมชน ความคุ้นเคยของสมาชิก การเข้าร่วมกระบวนการ เป็นต้น
- สำรวจอาชีพพื้นฐานและรายได้ของคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของสมาชิกในชุมชน
แต่ละครัวเรือน หากต้องใช้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการจัดออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับลักษณะการประกอบอาชีพของแต่ละครัวเรือน
- ลักษณะความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือกลุ่มเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่กายภาพที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชน
- สำรวจการถือครองที่ดินในชุมชน ได้แก่ การสำรวจว่า ใครบ้างในชุมชนที่เช่าอยู่ หรือเป็นผู้อยู่อาศัยจริง แต่ละกลุ่มมีจำนวน
- เท่าไร จากนั้นให้นำมาลงในแผนที่ชุมชนที่ได้จัดทำไว้แล้ว
- สำรวจกรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชน สำรวจและสืบค้นดูว่าที่ดินที่ชุมชนอาศัยอยู่ปัจจุบัน ใครเป็นเจ้าของที่ดินแท้จริง เช่น เป็นที่ของเอกชน ที่ดินกรมธนารักษ์ (ราชพัสดุ) ที่ดินของการท่าเรือ ที่ดินของการรถไฟ หรือที่ดินของเทศบาล (หากเป็นที่ดินของรัฐ ให้ประสานงานเพื่อขอสิทธิ์ในการเช่า หากเป็นที่ดินเอกชน ให้ประสานเจรจาของซื้อที่ดิน โดยชุมชนรวมตัวกันในรูปของสหกรณ์)
จัดระเบียบและจัดรูปที่ดินใหม่
แต่เดิมลักษณะบ้านเรือนตั้งอย่างไร้ระเบียบ อัดแอ ถนนหนทางเดินคับแคบ มืด อับชื้น ขณะเดียวกันบ้านเรือนก็รุกล้ำทางเดินเท้าไม่มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นกิจลักษณะ “การจัดระเบียบและจัดรูปที่ดินใหม่” จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องทำก่อนการวางผัง เพื่อขยายและจัดพื้นที่ของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นระเบียบมากขึ้น โดยเน้นการคงกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินตามแปลงที่ดินเดิม แต่เจรจาขอปรับรูปที่ดินใหม่
ขั้นตอนการจัดระเบียบและจัดรูปที่ดินใหม่
จัดประชุมหารือร่วมกัน เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันหาแนวทางในการปรับปรุงผังชุมชนให้มีสภาพดีขึ้น เช่น การจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนเพิ่มขึ้น อาทิ ศูนย์ชุมชน สวนสาธารณะชุมชนระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ทางเดินเท้าในชุมชน โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้และข้อจำกัดจากการศึกษาผังสภาพปัจจุบันของชุมชนการ
กำหนดแนวทางการปรับปรุงอาจจะทำร่วมกับสถาปนิกชุมชน หรือเกิดจากการพูดคุยกันเองระหว่างสมาชิกก็ได้ การประชุมหารือมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสมองและสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้ในการปรับปรุงชุมชนที่มาจากความเห็นชอบของสมาชิก
กำหนดทางเดินและทางเท้าในชุมชน
โดยคนในชุมชนต้องร่วมมือกันกำหนดทางเดินในชุมชนที่ดีกว่าเดิม โดยมีเกณฑ์ดังนี้
§ เลือกจัดระบบทางเดินภายในชุมชนใหม่โดยให้เกิดการรื้อถอน หรือมีผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงน้อยที่สุด หากมีผู้เสียหายมากให้ชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงทางเดิน หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ
§ คำนึงความปลอดภัยที่ได้รับเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรณีการเกิดเพลิงไหม้ ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะดวกสบายจากการสัญจร เป็นต้น
เจรจาขอแบ่งปันที่ดิน
ภายหลังจากการที่ทางชุมชนมีการกำหนดทางเดินเท้าแล้วเสร็จ อาจจะต้องมีชาวชุมชนบางส่วนเสียสละที่ดินเพื่อให้ทางเดินเกิดเป็นแนว เพื่อความมีระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยของชุมชน ดังนั้นเมื่อมีคนเสียสละจึงควรมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างชดเชยในส่วนที่ชาวชุมชนได้เสียสละ เช่น ห้องน้ำระเบียง เป็นต้น
การวางผัง
วิธีการวางผังชุมชนโดยการใช้ตารางกระดาษ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพขนาดตัวบ้านที่อยู่ชุมชน เห็นลักษณะการเรียงตัวของบ้าน ช่องว่างระหว่างตัวบ้าน ทางเดินเท้าชุมชน ทางเข้าออกของชุมชนกับถนนภายนอก การทำผังเช่นนี้จะช่วยให้ชาวชุมชนได้เข้าใจถึงลักษณะของชุมชนด้านกายภาพมากขึ้น
หลักการของการใช้ตารางกระดาษ คือ เตรียมแผนที่ชุมชนที่เข้ามาตราส่วน โดยมีรายละเอียด สภาพแวดล้อมโดยรอบชุมชน ได้แก่ ขนาดและรูปร่างของชุมชน ถนนโดยรอบ และเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียน ได้แก่ ปากกาเมจิก กรรไกรสีไม้ เครื่องคิดเลข เทปกาว เป็นต้น
ตีตารางลงบนกระดาษเป็นช่องตารางโดยให้แต่ละช่องมีความกว้าง ยาว เท่าๆกัน ช่องละ 1 เซนติเมตร โดย 1 ช่องของ
ตารางเท่ากับพื้นที่ 1 ตารางเมตรของสถานที่จริง หรือความยาว 1 เซ็นติเมตรในตารางเท่ากับความยาว 1 เมตรของสถานที่จริง
นำกระดาษตารางที่ตัดตามขนาดตัวบ้านแต่ละหลังที่สำรวจและวัดขนาดไว้ วางลงตามตำแหน่งบ้านจริงของแต่ละหลัง เพื่อให้ได้ภาพรวมของแผนที่ชุมชนทางกายภาพ
ข้อจำกัดในการจัดรูปที่ดินใหม่
ขนาดที่ดินเทียบต่อจำนวนครัวเรือน ในบางกรณีที่ชุมชนที่มีความหนาแน่นมาก เมื่อทำการปรับปรุงชุมชนแล้ว การจัดวางสาธารณูปโภคที่จำเป็นบางอย่างอาจทำได้ยาก อีกทั้งการปรับปรุงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในสูงอีกด้วย
ขนาดชุมชน ในกรณีที่ชุมชนมีจำนวนครัวเรือนมาก การจัดรูปที่ดินใหม่อาจทำให้คนในชุมชนเกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้มาก อาจส่งผลให้การเจรจาเพื่อหาข้อยุติ หรือข้อสรุปของผัง ตลอดจนการเจรจาขอปันที่ดินล่าช้าได้
ระเบียบใหม่ เพื่อการอยู่ร่วมกัน
หลังจากเราสามารถจัดวางผัง และจัดรูปที่ดินใหม่ในชุมชนได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ การจัดระเบียบชุมชน การกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม เช่น การกลับมาบุกรุกต่อเติมบ้านล้ำทางเท้า
โดยกติกาสำคัญที่ควรมีร่วมกันก็คือ
- ระเบียบการต่อเติมอาคาร ได้แก่ การใช้วัสดุอาคาร วัสดุมุงหลังคา การกำหนดระยะยื่นอาคาร
- ระเบียบการจัดการพื้นที่สาธารณะร่วมกัน ได้แก่ ทางเดินเท้าในชุมชน สวนสาธารณะชุมชน
2. กรณีการสร้างชุมชนบนที่ดินใหม่
การสร้างชุมชนใหม่ในที่ดินใหม่นั้นมีรายละเอียดขั้นตอนการออกแบบวางผังชุมชนที่แตกต่างจากการปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมอยู่มาก เพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่ผู้คน ครัวเรือนที่จะเข้ามาอยู่ร่วมกัน การจัดการระบบ การจัดระเบียบชุมชน การจัดการความสัมพันธ์
เมื่อมารวมกันใหม่
ชุมชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ มักเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เช่น คนที่เช่าบ้านอยู่ หรือคนที่กำลังจะขยายครอบครัว ดังนั้นชุมชนใหม่นี้จะเป็นการผสมผสานคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่มีพื้นฐานความสัมพันธ์ร่วมกันแบบชุมชนมาก่อน
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้สมาชิกชุมชนใหม่ ได้คุ้นเคยกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้น เพราะเราจะต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนาน
ขั้นตอนการสร้างชุมชนบนที่ดินใหม่ หมั่นจัดประชุมหารือกัน พูดคุยกันในเรื่องบ้านมั่นคง ทั้งเรื่องความหมาย ความเข้าใจในโครงการบ้านมั่นคง แผนการดำเนินการตลอดจนการหาข้อตกลงถึงรูปแบบในการอยู่อาศัยร่วมกัน เช่น รูปแบบผังชุมชนที่ควรจะเป็น ขนาดแปลงที่ดินที่เหมาะสมของชุมชนการจัดการกลุ่มการอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิก เป็นต้น
การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ หรือสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อจัดเก็บเงินออมของสมาชิกตามที่ชุมชนกำหนด และประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อการดำเนินการบ้านมั่นคงอาทิ พอช. เทศบาล สถาปนิกชุมชน เป็นต้น
การสรรหาที่ดิน โดยสมาชิกในชุมชนร่วมกันช่วยสืบหาที่ดินหรือประสานงานผ่านทางเทศบาลก็ได้ หากที่ดินที่สรรหามาได้เป็นที่ดินของเอกชนให้ตัวแทนร่วมเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อเช่าหรือซื้อ(หากทำการซื้อที่ดินเอกชนมาเป็นชุมชน ต้องตั้งเป็นสหกรณ์แล้วชุมชนจะซื้อที่ดินผ่านสหกรณ์) หากเป็นที่ดินของราชการให้ทำเรื่องขอเช่าระยะยาว สิ่งที่ต้องพิจารณาในu3585 การเลือกแปลงที่ดิน ได้แก่
- ทำเลที่ดินควรมีความสะดวกและสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพของคนในชุมชน
- ที่ดินมีการถมดินแล้วเสร็จหรือไม่ ซึ่งบทเรียนจากหลายๆ กรณีที่ผ่านมาที่ชาวบ้านชุมชนซื้อที่ดินที่ดูเหมือนราคาถูก แต่พื้นที่ยังไม่ได้ถม ทำให้ชุมชนเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการถมดินภายหลังซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น และเป็นการหมดเปลืองงบประมาณสาธารณูปโภคชุมชน
- ขนาดที่ดินที่ซื้อหรือเช่ามีความเหมาะสมกับจำนวนครัวเรือนในชุมชนหรือไม่ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ควรถือคติ “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” ที่ผ่านมา ในบางชุมชนซื้อที่ดินขนาดใหญ่เกินไปทำให้เป็นหนี้ที่ดินโดยไม่จำเป็น (พบมากในกรณีที่ซื้อที่ดิน)
การออกแบบวางผังชุมชนแบบมีส่วนร่วม ทั้งชุมชน : การแบ่งล็อคแบ่งแปลง
การออกแบบวางผังร่วมกันของชุมชนที่สร้างใหม่ในที่ดินใหม่นั้น เนื่องจากชุมชนต้องสร้างที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภคชุมชนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ดังนั้นการกำหนดรูปแบบลักษณะและวิธีการอยู่อาศัยร่วมกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยการออกแบบวางผังชุมชนร่วมกันนั้นทำได้อย่างน้อย 2 แนวทาง ได้แก่ การออกแบบร่วมกันหมดของคนทั้งชุมชน และการออกแบบวางผังชุมชนโดยใช้กลุ่มย่อย
การออกแบบร่วมกันทั้งหมด
หมายถึง การออกแบบวางผังชุมชนร่วมกันโดยพร้อมเพรียงของสมาชิกทั้งชุมชน โดยสมาชิกแต่ละครอบครัวอาจส่งตัวแทนมาเพื่อกำหนดผังชุมชนร่วมกัน ได้แก่ การกำหนดขนาดแปลงที่ดินที่เหมาะสมต่อความต้องการใช้สอยพื้นที่ และความสามารถในการผ่อนชำระหรือเช่า การกำหนดพื้นที่ส่วนกลางชุมชน การกำหนดทางเข้าและขนาดทางสัญจรในชุมชน เป็นต้น วิธีการนี้เหมาะสำหรับชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักประมาณ 25-40 ครัวเรือน
ข้อดีของการออกแบบวางผังชุมชนโดยพร้อมเพรียงกันทั้งชุมชน คือ เกิดฉันทามติร่วมกันอย่างชัดเจน เกิดผังชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแก้ไข ภาพรวมของชุมชนมีความเป็นเอกภาพ
แต่ในวิธีการนี้ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดอยู่บ้าง ได้แก่ ความพร้อมเพรียงในการนัดหมายสมาชิกร่วมกันทั้งหมดทำได้ยากมีโอกาสที่ชาวชุมชนมีความเห็นไม่ลงรอยกันได้มาก
วิธีการออกแบบ คือ
เอาผังชุมชนมาดูพร้อมกันทั้งชุมชน โดยสมาชิกจะมีการพูดคุยเพื่อกำหนดตำแหน่งพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันได้แก่ การวางแนวถนนในชุมชน ขนาดถนน ตำแหน่งและประเภทของพื้นที่ส่วนกลางที่ชุมชนต้องการ เช่น ลานกีฬา ศูนย์ชุมชน สวนหย่อม เป็นต้น
เมื่อสมาชิกร่วมกันเพื่อกำหนดพื้นที่ส่วนกลางได้แล้ว จากนั้นสมาชิกแต่ละคนก็จะเลือกตำแหน่งแปลงที่ดินของตน โดยการเอากระดาษตารางมาตราส่วนที่เท่ากับขนาดแปลงที่ดินที่ตนกำหนดวางลงในแปลงที่ดินชุมชน เมื่อสมาชิกแต่ละคนกำหนดตำแหน่งบ้านของตนได้แล้ว จึงค่อยๆ ก่อรูปกลุ่มที่อยู่อาศัยร่วมกันที่เป็นกลุ่มย่อยๆ ขั้นทำการปรับแต่งการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นระเบียบในกลุ่มย่อยที่ทำการจัดกลุ่ม โดยเน้นการออกแบบพื้นที่ว่างขนาดเล็กเพื่อใช้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างละแวกบ้าน และสุดท้ายทำการออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง
การออกแบบชุมชนโดยแยกตามกลุ่มย่อย
วิธีที่สองเป็นวิธีที่นิยมใช้กันค่อนข้างมากนั่นคือ การจัดกลุ่มย่อยเพื่อออกแบบวางผัง โดยสมาชิกในชุมชนจะจับกลุ่มกันประมาณกลุ่มละ 6-10 ครัวเรือน เพื่อกำหนดการเรียงตัวของแปลงที่ดินที่กลุ่มพอใจ โดยส่วนมากจะเป็นการจัดกลุ่มตามความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมก่อนมารวมตัวกัน ได้แก่ เครือญาติและคนคุ้นเคย เหมาะกับสภาพชุมชนที่มีขนาดใหญ่ สมาชิกมากยากต่อการนัดประชุมพร้อมๆกัน และสมาชิกเองก็ยังไม่คุ้นเคยกัน การแบ่งกลุ่มย่อยตามความสัมพันธ์เดิมจึงจะง่ายกว่า
โดยเมื่อแต่ละกลุ่มย่อยทำการวางผังในกลุ่มของตนเองจนเป็นที่พอใจแล้ว แต่ละกลุ่มจะเอาผังมาวางลงในแปลงที่ดินชุมชนแล้วขยับให้เข้าที่เข้าทางอีกทีหนึ่ง การกำหนดพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ได้แก่ ถนนในชุมชน พื้นที่สาธารณะของชุมชนจะได้รับการกำหนดในตอนที่แต่ละกลุ่มเอาผังย่อยที่วางไว้มาลงแปลงที่ดินแล้ว
วิธีการออกแบบ คือ
จับกลุ่มย่อยตามความคุ้นเคยของสมาชิก ตั้งแต่ประมาณกลุ่มละ 6-10 ครัวเรือน เพื่อออกแบบผังชุมชนระดับละแวกบ้านร่วมกัน
วางผังร่วมกันในแต่ละกลุ่มย่อย โดยการใช้กระดาษตารางแทนที่มีสัดส่วนเท่ากับแปลงที่ดิน นำมาจัดเรียงเป็นกลุ่มโดยเน้นให้เกิดพื้นที่โล่งใช้สอยร่วมกันในกลุ่มย่อย
แต่ละกลุ่มนำผังย่อยที่ได้มาจัดวางลงในแผนที่ชุมชนที่ได้สำรวจแล้ว โดยในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องหารือร่วมกันหมดทั้งชุมชน เพื่อกำหนดตำแหน่งของแต่ละกลุ่มย่อยลงในผัง ตลอดจนถึงการกำหนดพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ได้แก่ ถนน ทางเดิน สวนชุมชน ศูนย์ชุมชน ฯลฯ
ผังที่กลุ่มย่อยจัดมาในเบื้องต้นอาจจะไม่พอดีกับแปลงที่ดินจำเป็นต้องมีการปรับตำแหน่งอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความกลมกลืนของผัง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกลุ่มย่อยกับกลุ่มย่อย และแต่ละกลุ่มย่อยกับพื้นที่ส่วนกลาง