playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

สถานภาพ

     สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 เป็นองค์กรของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาในเดือนตุลาคม 2545 ได้ย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

6 ปี แห่งกระบวนการจัดตั้ง

     การเตรียมการจัดตั้งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เมื่อหน่วยงานพัฒนาหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมระดมความคิดเห็นหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 กระทรวงการคลังและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมจัดทำแผนการเงินและการคลังเพื่อสังคมขึ้น ภายใต้มาตรการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนให้ครอบคลุมทั้งภาคเมืองและภาคชนบท ทั้งนี้ มาตรการสำคัญประการหนึ่งที่เห็นชอบร่วมกันคือ “การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสถาบันกลางทางการเงินและการพัฒนาที่มีบทบาทในการสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีข้อเสนอให้รวม 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง การเคหะเเห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ เข้าด้วยกันซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกเพราะมีทุน กลไกการดำเนินงานและบุคลากรอยู่แล้ว

     การดำเนินการเพื่อจัดตั้งองค์กรใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 2538-2543ได้มีการประชุมสัมมนาผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรชุมชนเมืองและชนบท องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึง 8 เวที มีหน่วยงานร่วมระดมความคิดเห็นถึง 101 องค์กร จนได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาและสนับสนุนการเงินให้เเก่องค์กรชุมชนในรูปแบบองค์การมหาชน โดยใช้ชื่อ "สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)" ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง พอช.ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีสมัยนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2539 และได้นำทูลเกล้ารอลงพระปรมาภิไธ แต่ต้องสะดุดหยุดลงเนื่องจากการปรับเปลี่ยนรัฐบาลช่วงกลางปี 2540 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง พอช.และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2540 จากการจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าวัตถุประสงค์การจัดตั้งควรมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นหลัก การให้บริการสินเชื่อควรเป็นวัตถุประสงค์รอง พอช.ควรเป็นองค์กรประสานงานด้านการพัฒนาชุมชนกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งขอบเขตงานดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากได้ข้อสรุปดังกล่าวก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกครั้งจึงไม่ได้เสนอกลับไปยังคณะรัฐมนตรี

     จนกระทั่งถึงรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย คณะทำงานร่วมองค์กรชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้ติดตามการจัดตั้ง พอช.มาโดยตลอดเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน จึงได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นด้วยในหลักการและส่งหนังสือยืนยันการจัดตั้ง พอช.ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สคก.ได้พิจารณาตรวจร่างพระราชกฤษฎีกาฯแล้วเสร็จในและส่งไปให้สำนักเลขาธิการ ครม. เมื่อเดือนเมษายน 2542 สำนักเลขาธิการ ครม. ได้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงการคลังยืนยันการจัดตั้งอีกครั้ง และสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่สุดกระทรวงการคลังสรุปว่ามีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้ง พอช. และควรใช้ พ.ร.บ.องค์การมหาชนเป็นกฎหมายในการจัดตั้ง สำนักงานเลขาธิการ ครม.ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ปรร.)พิจารณาอีกครั้ง เมื่อ ปรร.เห็นชอบจึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 จึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 71 ก โดยให้ยุบรวมสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง โครงการพิเศษในสังกัดการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าด้วยกัน และในเบื้องต้นได้มีการโอนงบประมาณและทรัพย์สินจากทั้งสองหน่วยงานมารวมกันทั้งสิ้น 3,274.35 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท และเพื่อให้มีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน"

องค์กรแห่งการมีส่วนร่วม

     กระบวนการจัดตั้ง พอช. เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปลายปี 2537 จากการที่หน่วยงานพัฒนาทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ในระหว่างปี 2538 – 2543 ได้มีการประชุมสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อเนื่องหลายครั้ง ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง พอช.แล้ว (เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543) ก็ได้มีคณะทำงานองค์กรชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ไปร่วมจัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้ง พอช. และระดมความเห็นจากองค์กรชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน พอช. โดยได้จัดเวทีในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 8 พื้นที่ มีเครือข่ายองค์กรชุมชนรวมกว่า 100 เครือข่าย ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2543) ก็ได้มีการสัมมนารวม “การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยได้สรุปภาพรวมความเห็นจากเวทีต่าง ๆ ทั่วประเทศว่า อยากให้ พอช. เป็นองค์กรแบบใด ทำงานอย่างไร การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนใน พอช. ควรมีวิธีการ/ช่องทางอย่างไร เป้าหมายและวิธีการของชาวบ้านที่จะไปสู่การเป็นองค์กรชุมชนเข้มแข็งเป็นอย่างไร และ พอช. จะสนับสนุนองค์กรชุมชนอย่างไร ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะและความคาดหวังต่อการทำงานของพอช. ไว้อย่างหลากหลาย ทั้งในระยะ 1 ปี 5 ปี และ 20 ปี ซึ่งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันและผู้บริหารของสถาบันได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

     การบริหารงานของ พอช.เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยในคณะกรรมการสถาบัน(บอร์ด พอช.) ซึ่งมีจำนวน 11 คน มีกรรมการผู้แทนองค์กรชุมชนอยู่จำนวน 3 คน ซึ่งสรรหามาจากองค์กรชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการพัฒนาองค์กรชุมชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์กรชุมชนทุกภาคเพื่อเป็นให้คำปรึกษา เชื่อมประสานนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหากับชุมชน

     หลักการทำงานของ พอช. เน้นการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ในคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ จะมีผู้แทนองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยเสมอ เช่น คณะกรรมการสวัสดิการชุมชน คณะกรรมการแผนชุมชน คณะกรรมการสินเชื่อ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรชุมชน ฯลฯ

     และเพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น สถาบันได้กระจายการบริหารจัดการไปยังสำนักงานปฏิบัติการภาค โดยมีคณะกรรมการภาคซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ/องค์กรพัฒนาเอกชน/ผู้ทรงคุณวุฒิ ประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในพื้นที่ร่วมบริหารและกำกับดูแล

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter