playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ. 1839 หรือ เมื่อ 707 ปีก่อน พญาเม็งราย ทรงพบไชยมงคล 7 ประการที่เหมาะแก่การสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหนึ่งในเจ็ดไชยมงคลนี้ คือ ขุมแม่ข่า สายน้ำจากดอยสุเทพ ที่ไหลอ้อมจากทิศเหนือไปสู่ทิศตะวันออกแล้วลงสู่แม่น้ำปิงทางตอนใต้ นัยว่าไชยมงคลทั้ง 7 ประการนี้จำต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาได้เพื่อความเป็นสิริมงคลของเมือง และเพื่อชีวิตที่ดีของชาวเชียงใหม่ทุกคน

เป็นที่น่าเสียดายว่า หนองใหญ่ หนึ่งในเจ็ดไชยมงคล และเป็นหนองน้ำที่ใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงใหม่ ได้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยไปหมดแล้ว (บริเวณถนนอัษฎาธร และถนนรัตนโกสินทร์ ในปัจจุบัน) ยังคงเหลือเพียง แม่น้ำระมิงค์ (แม่น้ำปิง) และคลองแม่ข่า เท่านั้น ที่ยังคงอยู่เป็นไชยมงคลของเมืองแต่อยู่ในสภาพที่ป่วยหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลองแม่ข่า

ในอดีตที่ผ่านมาความสำคัญของคลองแม่ข่าไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในไชยมงคลของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะเป็นคูเมืองชั้นนอกทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันออก เพราะคลองแม่ข่า ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่สามารถเสริมความมั่นคงระหว่างคูเมืองกับแม่น้ำปิง

คลองแม่ข่าเป็นลำน้ำธรรมชาติมีต้นกำเนิดมาจากห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้วของดอยสุเทพไหลมารวมเป็นหนองใหญ่บริเวณทุ่งป่าแพ่งในเขตเทศบาล แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ตำบลป่าแดดลำคลองมีความกว้างประมาณ 3-4 เมตร ลึก 1.5 เมตร มีตำนานเล่าว่าหลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่ ได้ 155 ปี คือ ในปี 2094 ได้มีการขุดลอกคลองครั้งแรก ต่อมาในปี 2101 เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก็ได้มีการขุดคลองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ไม่ได้มีการขุดลอกคลองแม่ข่าอีกเลย  

ก่อเกิดคณะกรรมการคลองแม่ข่า

     เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมามีชาวบ้านเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ตามแนวคลองเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อมารับจ้างทำนา จากนั้นก็มีคนเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งคนเมืองและชาวเขาจนหนาแน่น การดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลองที่มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย พึ่งพาธรรมชาติ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบ และก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพ แวดล้อมมากนักแต่กลับมีความผูกพันกับวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นลูกหลานของตระกูลแรก ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่าบริเวณ ชุมชนกำแพงงามเล่าว่า เมื่อก่อนบริเวณที่ชุมชนตั้งอยู่จะเป็นทุ่งนา โดยมีคลองแม่ข่าเป็นคลองส่งน้ำมีการทำนากันตลอดปี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่พอเมืองเจริญขึ้นที่ดินเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเจ้าของไป

     นายบุญเรือง ปาระรังษี

     ปัจจุบันสองริมฝั่งคลองแม่ข่าหนาแน่นไปด้วยชุมชนที่เป็นชุมชนแออัด 7 ชุมชน คือ ชุมชนหัวฝาย ชุมชนกำแพงงาม ชุมชนระแกง ชุมชนฟ้าใหม่ ชุมชน 5 ธันวา ชุมชนคลองเงิน และชุมชนทุ่งพัฒนา รวม 978 ครอบครัว มีประชากรอยู่รวมกันประมาณ 4,000 คน ถัดขึ้นไปเป็นที่ตั้งของชุมชนห้องแถว โรงงานฆ่าสัตว์ โรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ชุมชนเหล่านี้ร่วมกันทำลาย ?แม่ข่า? มาเป็นเวลานานด้วยการปล่อยของเน่าเสียลงคลองแม่ข่าเรื่อยมา จนแม่ข่าเน่าเสีย แต่ในสายตาของคนสังคมเมืองมีความเข้าใจ หรือ ถูกทำให้เข้าใจว่า ชาวชุมชนแออัดที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ปลายน้ำแม่ข่า คือผู้ทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียด้วยเหตุนี้ ชาวชุมชนแออัดเหล่านี้จึงมีความคิดที่จะพัฒนาคลองแม่ข่าให้ดีขึ้นโดยเริ่มจากไปศึกษารูปแบบการพัฒนาคลองสำโรง ที่ จ. สงขลา หลังจากกลับมาก็รวมตัวกันขุดลอกคลองเรื่อยมา มีการรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านทิ้งขยะลงคลอง จากนั้นจึงได้รวมตัวกันเป็น?คณะกรรมการคลองแม่ข่า? ขึ้น เพื่อทำการพัฒนาคลองให้มีความน่าอยู่เหมือน ในอดีต ประธานเครือข่ายชุมชนแออัดแขวงเม็งราย กล่าวว่าพวกเราชาวชุมชนแออัด ริมคลองแม่ข่าทั้ง 4 พันคน มีความตระหนักเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของแม่ข่า เพราะเราอาศัยแม่ข่ามา 40 กว่าปีแล้ว การเน่าเสียของแม่ข่าในวันนี้ไม่ว่าจะเกิดจากใคร แต่คือภาระหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยกันกู้กลับคืนมา ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงร่วมกันขุดลอกคลองแม่ข่ามาตั้งแต่ปี 2540 และทำติดต่อกันมาทุกปี

     อ้ายประทีป บุญมั่น

     ครั้งแรกที่พวกเราขุดลอกคลองแม่ข่า พบว่ามีขยะหนาถึง 3 ชั้น คือ ชั้นแรกเป็นผักตบชวา พอเอาผักตบชวาออกจนหมด ก็จะเป็นขยะลอยจำพวกโฟม ขวดพลาสติกมากมาย จากนั้นก็เป็นขยะจมที่ทับถมกันมาเป็นเวลานานตอนนี้แม่ข่าไม่มีขยะ น้ำของแม่ข่าไหลได้ตลอดสายดีขึ้นกว่าเดิม  กรรมการรักษาคลองแม่ข่า เล่าว่านอกจากเราจะมีกลุ่มผู้ใหญ่จากชุมชน ต่างๆ ร่วมกันเป็นกรรมการคลองแม่ข่าแล้วเรายังมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมพิทักษ์รักษาคลองแม่ข่าด้วย ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะจัด ทัวร์ต้นน้ำแม่ข่า ขึ้นทุกเดือน เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับลูกหลานในการรักษาปกป้อง ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยเด็ก ๆ เยาวชนได้ร่วมกันทำการสำรวจสภาพคลองแม่ข่า ตลอดสายน้ำโดยเริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2543 เป็นต้นมา จากการทำงานของกลุ่มเยาวชนพบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อู่รถ โรงงานย้อมผ้า โรงงานฆ่าสัตว์ สถานพยาบาล ตลอดจนร้านค้าต่าง ๆ ปล่อยน้ำลงคลองแม่ข่าโดยไม่มีการบำบัดและยังพบ ข้อเท็จจริงอีกจำนวนมากที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของคลองแม่ข่า เช่น

ทัวร์ต้นน้ำแม่ข่า

     นายบุญเรือง ปาระรังษี

    • โรงงานอุตสาหกรรม เช่น อู่รถ โรงย้อมผ้า โรงฆ่าสัตว์ สถานพยาบาล ตลาด ร้านค้า สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ปล่อยน้ำเสียลงคลองโดยยังไม่มีการบำบัด
    • ท่อบำบัดน้ำเสียบางแห่งทำสูงกว่าระดับน้ำที่จะสามารถไหลผ่านได้
    • ไม่มีการเปลี่ยนหรือปล่อยน้ำดีไล่น้ำเสียในคลองแม่ข่า
    • ขาดการดูแลแอ่งรองรับน้ำจากหนองมะเขือ
    • เขื่อนกั้นน้ำบางจุดมีท่อระบายน้ำขนาดเล็กทำให้น้ำไหลผ่านลำบาก
    • ขยะมูลฝอยที่ทิ้งลงคลองทำให้ท่อส่งน้ำอุดตัน
    • มีการรุกล้ำแนวคลองทำให้คลองแคบน้ำไหลผ่านไม่สะดวก
    • ห้วยแม่หยวก ซึ่งเป็นต้นคลองแม่ข่าได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของสนามกล์อฟด้านข้าง
    • มีหมู่บ้านจัดสรรรุกล้ำพื้นที่ของหนองน้ำที่รองรับมาจากห้วยแม่หยวก
    • ห้วยแม่หยวกได้รับการดูแลไม่ทั่งถึงจากหน่วยงานรัฐ
    • การสร้างถนนสายหลัก ทับทางเดินของน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมือง

     ชาวบ้านแห่งชุมชนทุ่งพัฒนาซึ่งตั้งอยู่ช่วงต้นน้ำ ชี้ให้ดูสะพานเลื่อนได้ พร้อมกล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนระดับน้ำในคลองแม่ข่าจะสูงมาก ถึงระดับเมตรกว่า ลูกหลานจะไปโรงเรียนก็จะต้องขี่คอผู้ใหญ่ออกไป เราจึงทำสะพานเลื่อนระดับได้ เพื่อจะได้เลื่อนขึ้นลงตามระดับน้ำ แต่พอถึงหน้าแล้งน้ำแทบไม่มี ยิ่งตอนประมาณ 4 โมงเย็น โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ติดกับชุมชนจะปล่อยน้ำจากโรงพยาบาลออกมาจะสังเกตุเห็นได้ชัดเจน เพราะน้ำมีสีขุ่นแดง เราไม่กล้าให้ลูก ๆ ไปเล่นน้ำ กลัวจะได้รับอันตราย

     กรณีเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับคลองแม่ข่าด้านตรงข้ามชุมชนกำแพงงาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานฆ่าสัตว์ของเทศบาล จะมีท่อปล่อยน้ำเสียจากโรงงานฆ่าสัตว์ลงสู่แม่ข่าอยู่ตลอดเวลา

     จากปัญหาที่เยาวชนได้พบเห็นดังกล่าวข้างต้น จึงได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาซึ่งได้ข้อเสนอว่า

    1. ควรทำให้หนองมะเขือเป็นแอ่งรองรับน้ำได้กว้างขึ้น
    2. โรงงานอุตสาหกรรม สถานพยาบาล โรงแรม ตลาดร้านค้า ควรมีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงคลอง
    3. ควรให้หน่วยงานรัฐเอาใจใส่ดูแลมากยิ่งขึ้น
    4. ควรให้มีการแก้ปัญหาตรงต้นน้ำไม่ใช่ที่การขุดลอกคลองปลายน้ำ และควรแก้ให้ถูกจุดสำคัญที่ทำให้น้ำเสีย
    5. ควรมีการสำรวจให้แน่ชัดว่าห้วยแม่หยวกมีบริเวณจริงขนาดไหน
    6. ควรมีการศึกษาผังเมืองในการสร้างถนน อาคารบ้านเรือนให้แน่ชัด

จากคลองแม่ข่าสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย

     นายบุญเรือน ปาระรังสี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2544 พวกเราชาวชุมชนแออัดได้ร่วมกันขุดลอกคลองอีกครั้ง มีการรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะลงคลองให้ช่วยกันรักษาคลอง ตลอดจนได้ร่วมกันสำรวจปัญหาที่แท้จริงของชุมชน พบว่าชาวชุมชนมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม จึงมีการปรับผังชุมชนที่ปลูกบ้านรุกลำแนวคลองและรื้อย้ายออกแล้วปลูกต้นไม้ตลอดแนวคลองเราต้องการคลองที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่คลองที่ทำเขื่อนสองฝั่งด้วยคอนกรีต

     ที่ชุมชนกำแพงงาม มีปัญหาเส้นทางจราจรภายในชุมชน ทางเดินคับแคบ ส่วนทางเข้าบ้านไม่สะดวกและซับซ้อน กำแพงดินถูกปกคลุมด้วยต้นไม้และวัชพืชนานาชนิด บางส่วนพังทลายและชาวบ้านบุกรุกล้ำแนวกำแพง

     จากปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการจัดระบบผังชุมชนใหม่ เพื่อให้เป็นระเบียบมีพื้นที่ว่างบริเวณแนวคลองสำหรับปลูกต้นไม้ ป้องกันการพังของตลิ่ง ทางเดินจะได้กว้างขึ้น อีกทั้งขยับบ้านออกจากแนวกำแพงดิน เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานเอาไว้ รณรงค์ให้มีการบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนก่อนปล่อยลงคลองปลูกผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับไว้หน้าบ้านเพื่อความสวยงาม รวมทั้งมีการสร้างศาลาชุมชน เพื่อเป็นจุดพักผ่อนและศูนย์รวมของชาวบ้าน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรมาช่วยออกแบบให้ชาวบ้านได้ร่วมคัดเลือกตัดสินใจ

     ส่วนที่ชุมชนหัวฝาย บริเวณหลังบ้านซึ่งอยู่ติดกับคลอง แต่ละหลังขาดการดูแล อีกทั้งน้ำในคลองแม่ข่ายังขาดการบำบัดโดยชุมชน ชาวบ้านจึงมีแนวคิดในการจัดการให้มีพื้นที่เหลือบริเวณหลังบ้าน เพื่อสามารถปลูกต้นไม้และผักสวนครัวได้ ส่วนพื้นที่ริมคลองก็หาพืชคลุมดินมาปลูกป้องกันการพังทลายของดิน

     สำหรับชุมชนระแกง มีปัญหาไม่แตกต่างไปจาก 2 ชุมชนดังกล่าว คือทางเดินเท้าในชุมชนเก่าทรุดโทรม ปัญหาขยะและยังมีปัญหาด้านอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น ปัญหาหนี้สิน กลิ่นเหม็นจากการเผาศพ การศึกษา ของเด็ก ฯลฯ ชาวบ้านจึงมีข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกันหลายอย่าง เช่น การวางท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง การปรับปรุงทางเดินเท้าในชุมชน รณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน สำรวจบ้านที่ทรุดโทรม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง การหาอาชีพเสริมให้กับชาวชุมชนเพื่อป้องกันหนี้นอกระบบ มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กด้วยการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เด็ก มีการณรงค์เรื่องการต่อต้านยาเสพติด เป็นต้น

     ไม่เพียงร่วมกันพัฒนาเชิงกายภาพ ดังกล่าวเท่านั้นพวกเขายังได้ร่วมกับขบวนการชุมชนทั่วประเทศในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยริมคลองที่คนไม่เพียงมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษาคลองเท่านั้น แต่ควรจะได้สิทธิที่อยู่อาศัยด้วย เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าที่อยู่มิได้หมายความเพียงมีบ้านเท่านั้น แต่ความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น  

ธนาคารคนแป๋งเมือง

     อีกหนึ่งกิจกรรมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนริมคลองแม่ข่า จากการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ เริ่มมาจากการที่เด็กเห็นผู้ใหญ่ในชุมชนทำกิจกรรมพัฒนาริมคลองร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย จึงเกิดกลุ่มเด็กร่วมกันคิดว่าจะทำอะไรดี อย่างน้อยเด็ก ๆ เหล่านี้ก็อยากทำให้บ้านและชุมชนของตนน่าอยู่ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในวันเสาร์อาทิตย์ ในที่สุดกลุ่มเด็กจึงคิดเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ คือ การทำความสะอาดในชุมชน เก็บขยะตามทางเดินริมคลอง ตักขยะที่ลอยมากับน้ำ และขยะบางอย่างที่เก็บมาได้ก็นำมาคัดแยก ขายให้กับกลุ่มโกดังของเครือข่ายฯ แต่มีรูปแบบการจัดการรายได้ร่วมกัน โดยเงินที่แต่ละคนได้มานั้นจะนำไปฝากรวมกันที่ ธนาคารฅนแป๋งเมือง มีตัวแทนจากกลุ่มทำบัญชีเงินฝากเอง มีสมุดของสมาชิกแต่ละคน มีกิจกรรมทำร่วมกัน เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเด็ก ผู้ปกครองเองก็ได้เล็งเห็นและสนับสนุนกิจกรรมนี้โดยการแยกขยะในบ้านที่สามารถขายได้ บ้างก็เก็บมาจากที่ทำงานเพื่อช่วยให้ยอดเงินฝากของลูกหลานตนเองเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างกำลังใจและสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่

     นอกจากเด็ก ๆ จะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของตนเอง ประหยัดค่าขนมของพ่อแม่ แถมมีเงินฝากที่ธนาคารในชุมชน เด็กเล่านี้ยังได้มีการสร้างจิตสำนึกร่วมกันกับผู้ใหญ่ในการดูแลรักษาความสะอาด สิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า

     สำหรับโกดังขยะของชุมชน หรือที่เรียกว่า เชียงใหม่พ่วงสะอาด นั้น นอกจากมีการรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากชาวบ้านและซาเล้งทั่วไปแล้วยังเปิดให้มีการสมัครเป็นสมาชิกฅนคุ้ยขยะอีกด้วย ปัจจุบันมีสมาชิก 20 ราย ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษในเรื่องของเงินปันผลปลายปี และเงินกำไรส่วนหนึ่งจะจัดเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกของกลุ่ม

     ปัจจุบันกลุ่มเชียงใหม่พ่วงสะอาด ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ในการรับซื้อและบริจาควัสดุเหลือใช้ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานราชการอื่น ๆ องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น โดยกลุ่มจะจัดรถไปซื้อวัสดุเหลือใช้ในสถานที่นั้นๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้กลุ่มมีวัสดุเหลือใช้เพิ่มมากขึ้นแล้วยังเป็นการขยายผลการทำงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ประธานเครือข่ายชุมชนแขวงเม็งราย กล่าวว่า พวกเราชาวชุมชนแออัดทุกชุมชน ที่ตั้งอยู่ริมคลองแม่ข่า เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ต้องการเห็นเมืองเชียงใหม่เจริญไปในทิศทางที่ถูกที่ต้องไม่น้อยไปกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราจึงร่วมกันทำกิจกรรมหลายอย่างหลายประการเพื่อการพัฒนาเมือง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาอีกหลายอย่าง เช่น ตั้ง โรงเรียนคนแป๋งเมือง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบบชาวบ้าน โรงเรียนคนแป๋งเมืองนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ใช้สถานที่ด้านหลังบ้านพักของการเคหะแห่งชาติใกล้วัดหัวฝายเป็นที่ตั้งโรงเรียน การเรียนการสอนไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก ทำได้หลากหลายวิธี เช่น เวลามีเพื่อนองค์กรชุมชนจากต่างถิ่นมาดูงาน นอกจากจะพาไปดูสถานที่จริงแล้ว โรงเรียนคนแป๋งเมือง จะเป็นที่ซึ่งพวกเราจะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาร่วมกัน หรือในคราวที่มีสถานการณ์เกี่ยวกับงานพัฒนาหรือเรื่องอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น เรื่องกองทุนหมู่บ้าน พรบ.ป่าชุมชน สิทธิชุมชน เป็นต้น โรงเรียนคนแป๋งเมือง แห่งนี้จะเป็นที่ที่พวกเราศึกษาร่วมกันในบางครั้งอาจจะมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้กับพวกเราด้วย โรงเรียนคนแป๋งเมืองจึงเป็นโรงเรียนของคนสร้างเมืองอย่างแท้จริง

โรงเรียนคนแป๋งเมือง

     อ้ายประทีป บุญมั่น

     และใกล้ ๆ กับโรงเรียนคนแป๋งเมือง ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำดื่มที่ทุกชุมชนในแขวงเม็งรายลงหุ้นเพื่อทำธุรกิจร่วมกันเป็นการรวมเงิน รวมคน เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่กำลังเป็นปัญหาของชาวชุมชนอยู่ใน ขณะนี้

     มีคำพูดว่า เมืองเชียงใหม่ ไม่เคยหลับ เพราะเชียงใหม่คือเมืองเอกทางภาคเหนือ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าเมืองเชียงใหม่ปีละเป็นจำนวนมาก คนจนในชุมชนแออัดเหล่านี้นอกจากจะช่วยกันสร้างบ้านแปงเมืองของตนเองให้งดงามน่าอยู่แล้ว ยังเป็นแรงงานสำคัญของเมืองในทุกช่วงเวลา เช่น งานบริการ แรงงานแบกหาม ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนั้นเมืองเชียงใหม่จึงขาดคนเหล่านี้ไม่ได้ แม้ว่าคนทั่ว ๆ ไป จะมองไม่เห็นคุณค่าแรงงานเหล่านี้ก็ตาม

     วันนี้คนจนเมืองเชียงใหม่ ได้ลุกขึ้นมาทำงานหลากหลายรูปแบบ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า พวกเขามีความรับผิดชอบต่อเมือง ต่อที่อยู่อาศัย ด้วยการลุกขึ้นมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ปรับปรุงที่อยู่อาศัย ปกป้องโบราณสถาน และฟื้นฟูคลองแม่ข่า

     8 มิถุนายน 2546 กับการประกอบพิธีสืบชะตาคลองแม่ข่า ที่ชาวชุมชนแออัดแขวงเม็งราย จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณของลำน้ำที่เป็นไชยมงคลสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ลำน้ำที่ปัจจุบัน ไม่เพียงใสสะอาดเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยตำนานแห่งการพัฒนาของชาวชุมชน กิจกรรมที่เป็นไปเพื่อความสมบูรณ์ ความเจริญของลำน้ำ และชีวิต

     กำแพงดิน กำแพงโบราณที่เต็มไปด้วยบ้านเรือน แต่วันนี้พวกเขาได้ร่วมกันพัฒนา จนอยู่ในสภาพเดิม แล้วคืนให้เป็นมรดกของสังคม

     วันนี้ชาวบ้านมีบ้านเรือนที่มั่นคงเป็นระเบียบ ตั้งอยู่ริมคลองแม่ข่าที่ใสสะอาด เบื้องหลังคือกำแพงโบราณที่พวกเขาอาสาที่จะรักษา

     สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่การกระทำเพียงเพื่อประกอบพิธีกรรม แต่เป็นการประกอบพิธีกรรมที่มีการพัฒนากันอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เป็นรหัสหมายที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันถอดออกมาแสดงให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในเมืองได้อย่างมีศักดิ์ศรี และรู้รับผิดชอบต่อสังคม

 

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter