playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

พลันที่ ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณวัดเกตุการาม ก็ได้ยินเสียงกลองดังมาทางด้านในของวัด เมื่อเดินไปถึงต้นเสียงก็พบกับเด็กกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน อยู่ในชุดพื้นเมืองทางเหนือ กำลังร่ายรำเพลงกลองกันอย่างออกรสชาติ สอบถามได้ความว่าเป็น กลองปู่จา หรือ กลองบูชา อันเป็นกลองชุดมีทั้งกลองใหญ่และกลองเล็กอีก 3 ใบ มีฆ้องประกอบให้เสียงดังยิ่งขึ้น

อาคารที่ดูเก่าแก่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดที่เด็กตีกลองอยู่นั้น มีป้ายบอกให้รู้ว่า พิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ซึ่งเก็บรักษาของโบราณไว้เป็นจำนวนมาก ถัดจากบริเวณวัดออกไปประมาณ 100 เมตร บ้านบอกว่า เดิมเป็นที่ตั้งของบริษัท บอร์เนียว จำกัด บริษัทที่สัมปทานตัดไม้ในเมืองไทยมา 100 ปี เต็ม ซึ่งที่ทำการของบริษัท เป็นเรือนไม้ทรงไทยที่มีเสามากกว่า 100 ต้นต่อหลัง

จากสิ่งที่ได้เห็นและคำบอกเล่าเบื้องต้น ทำให้รู้ได้ทันทีว่าผ่านวัดเกตุการาม เป็นผ่านเมืองเก่าที่เจริญมานานแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

วัดเกตุการาม เป็นวัดที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี 2518 ตั้งอยู่บนถนนซอยริมแม่ปิง ซึ่งสามารถออกสู่ถนนเจริญกรุง ในเขตกาวิลละ

ลุงจรินทร์ เบน หรือที่ชาวบ้านระแวกนี้เรียกว่า ?ลุงแจ็ก? ชายชราวัย 85 ปี ซึ่งทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน หรือ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม เล่าให้ฟังว่า ชุมชนวัดเกตุในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นเมืองค้าขายทางน้ำ ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณ โดยมีชาวต่างชาติ เช่น อังกฤษ จีน แขกซิก เข้ามาค้าขายและตั้งรกรากบริเวณนี้ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยสินค้าที่ ค้าขายในสมัยนั้นเป็นสินค้าจำเป็น เช่น เกลือ สมุนไพร เสื้อผ้า น้ำตาล เป็นต้น

ลุงแจ็ก เล่าอีกว่าชุมชนวัดเกตุยังเป็นที่ตั้งของบริษัท บอร์เนียว จำกัด มาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยบริษัท บอร์เนียว ได้รับสัมปทานตัดไม้สักจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เป็นเวลา 100 ปี คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2398 สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2498

ลุงแจ็ก ซึ่งเป็นลูกชายแท้ ๆ ของผู้จัดการบริษัท บอร์เนียว จำกัด เล่าให้ฟังอีกว่า ในสมัยนั้นนอกจาก บริษัท บอร์เนียว แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัทที่ได้รับสัมปทานตัดไม้สักคือ บริษัท บอมเบย์เบอร์มา จำกัด เป็นของชาวอังกฤษ ได้รับสัมปทานตัดไม้ทางทิศตะวันออกของเชียงใหม่ น่าน แพร่ ฯลฯ บริษัท อิสเอเซียติด จำกัด เป็นของชาวโปตุเกส ได้รับสัมปทานตัดไม้ในเขตจังหวัดลำปาง ส่วนบอร์เนียว ตัดไม้ทางทิศตะวันตกของเชียงใหม่ เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ซึ่งฝรั่งจ่ายค่าสัมปทานหรือที่เรียกว่า ?ค่าตอ? ให้กับเมืองเชียงใหม่ตอละไม่กี่สตางค์

ลุงแจ็ก เล่าว่า การตัดไม้สมัยนั้น เราจะไม่ตัดไม้ที่ขึ้นริมน้ำและต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนที่สูง เพราะต้นไม้เหล่านี้มีประโยชน์ในการขยายพันธุ์ ส่วนการชักลากไม้ สมัยนั้นใช้ช้างมากกว่า 200 ตัว เพื่อชักลากลงแม่น้ำปิง และแม่น้ำสาขา จากนั้นก็จะล่องไปรวมกันที่ปากน้ำโพ ลุงต้องคุมการล่องไม้จากเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพ จากปากน้ำโพก็จะไปแปรรูปเป็นไม้แผ่นที่อยุธยาก่อนที่จะส่งไปยังต่างประเทศ และหลังจากที่หมดอายุสัมปทานแล้ว บอร์เนียวก็แปรสภาพไปสู่การเป็นนายหน้าในการส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่าง ๆ หรือเป็น ซัพพลายเออร์(supplier) ในปัจจุบัน ซึ่งลุงก็ทำหน้าที่เป็นคนเก็บเงินจากร้านค้าไปส่งที่บริษัท

ลุงแจ็ก พาเราไปดูที่ทำการบริษัทบอร์เนียว ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินจำนวน 110 ไร่ ซึ่งในสมัยนั้นบริษัทบอร์เนียวซื้อมาด้วยเงินเพียง 20,000 บาท

ภายในบริเวณที่ดินอันกว้างขวางนี้ ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น จนแทบลืมไปว่ากำลังยืนอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่

ที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก ก็คือ บ้านจำนวน 3 หลัง ซึ่งในอดีตใช้เป็นที่ทำการของบริษัท แต่ละหลังล้วนสร้างด้วยไม้สักเต็มใบด้วยศิลปกรรมงดงาม และมีเสามากกว่า 100 ต้น หลังใหญ่สุดมีเสาถึง 137 ต้น ปัจจุบันเป็นสมบัติของน้องสาวลุงแจ็ก ซึ่งให้ฝรั่งเช่าบ้าง ทำเป็นห้องพักบ้าง

เรากลับมาในวัดเกตุอีกครั้ง เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน ซึ่งพี่อนันต์ ฤทธิ์เดช เล่าให้ฟังว่า เกิดจากความต้องการที่จะรวมตัวชาวบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน ต้องการฟื้นความเอื้ออาทรกลับคืนมา โดยใช้วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนเป็นสื่อในการทำงาน โดยการสนับสนุนของโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ อันเป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างสภาพัฒน์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และจากองค์กรชุมชน 4 ภาค โดยเริ่มจากนำของมีค่าในวัด ซึ่งอยู่อย่างกระจัดกระจายตามกุฏิพระมารวมกัน แล้วจัดให้เป็นหมวดหมู่ จากนั้นเมื่อมีชาวบ้านมาดู ก็ต่างพูดคล้าย ๆ กันว่า ที่บ้านของตนก็มีมาก ก็เลยบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ จนทำให้มีของมีค่าที่สะท้อนถึงความเป็นชุมชนวัดเกตุในอดีตอยู่มากมาย

พี่อนันต์ ฤทธิ์เดช เล่าอีกว่า ในแต่ละวันจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวบ้านแท้ ๆ แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่

หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ ดำเนินการไปได้ด้วยตัวของมันเองมาได้ 6 เดือน พวกเราชาวบ้านทั้งหมดก็มาหารือร่วมกันอีกครั้งที่จะร่วมกันทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ก็เลยคิดว่าน่าจะชวนเด็ก ๆ เยาวชนเข้ามาร่วม ?โครงการเมืองน่าอยู่? ด้วย ก็เลยตั้งคณะกลองปู่จา หรือ กลองบูชา ขึ้นมา ฝึกเด็ก ๆ ให้ตีกลองเป็น โดยมี ?ลุงหวัง? เป็นคนสอน ตอนนี้เราจึงมีคณะกลองปู่จาที่สามารถช่วยงานสังคมได้ อีกทั้งเป็นการน้อมนำเด็กและเยาวชน ให้รู้จักศิลปวัฒนธรรมอันเป็นรากของตนเองอีกด้วย

กลองปู่จานี้ ประกอบด้วย กลองใหญ่หนึ่งใบ เรียก กลองสบัดชัย และกลองเล็ก 3 ใบ เรียกว่า กลองตุ้ม ซึ่งการตีกลองสมัยนั้นมี 6 จังหวะ แต่ละจังหวะแสดงออกถึงการบูชาทิ้งสิ้น เช่น บูชาไม้บูชาหนังวัว ที่นำมาทำกลอง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกรวมชุดว่า ?กลองบูชา?

ด.ช. ณัฐวุฒิ ชมภูรัตน์ หรือ น้องแป้ง บอกว่า คุ้นเคยกับคลองบูชามานนานแล้ว ยังไม่เคยมีโอกาสได้ตีจริง ๆ จัง ๆ จึงรู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมคณะและภูมิใจที่ได้มีส่วนสืบทอดวัฒนธรรมคนเมือง

ด้าน ด.ญ. สายสวรรค์ ชัยบุตร หรือ น้องขวัญ ซึ่งทำหน้าที่ตีฆ้อง และเพิ่งเข้ามาร่วมคณะได้ไม่นาน กล่าวว่า แม้จะไม่มีโอกาสได้ตีกลองเหมือนผู้ชาย ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยชุมชน

หลังจากนั้น ลุงแจ็กและคณะของชุมชนวัดเกตุ ก็พาพวกเราไปรู้จักกับอีกหนึ่งโครงการของเมืองน่าอยู่ นั้นก็คือ การร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับคนจน 8 ครอบครัว ที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการจะช่วยดำเนินการให้ทั้ง 8 ครอบครัว ได้ร่วมกันปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างร่วมกันจัดกระบวนการ

ก่อนจากกันวันนั้น ชาวชุมชนวัดเกตุ ได้นำขนมตาลมาต้อนรับผู้มาเยือนทุกคน ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนจากหลายจังหวัดในเขตภาคเหนือ ลุงแจ็ก บอกว่า ขนมตาลซึ่งเป็นขนมไทย ๆ ถึง แม้จะมีอยู่ทั่วไปทุกภาคทุกจังหวัด แต่ขนมตาลของชาวชุมชนวัดเกตุจะมีความหอมหวานของน้ำตาลโตนด ซึ่งจะไม่เหมือนใคร ซึ่งทำกินสืบทอดกันมาร่วม 50 ปีแล้ว โดยตั้งใจกันไว้ว่า จะทำการส่งเสริมทำเป็นอาชีพให้กับแม่บ้าน เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านเอาไว้

หลากหลายกิจกรรมที่ชาวชุมชนวัดเกตุ ได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามขึ้นมาในครั้งนี้ นับเป็นมิติของการพัฒนาที่สำคัญ การพัฒนาที่เกิดขึ้นจากชาวชุมชนเองโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง กิจกรรมที่ดึงความรักความสามัคคีและความเอื้ออาทรต่อกันกลับคืนมา เฉกเช่นสังคมในอดีต

และจะเป็นก้าวสำคัญที่จะเดินไปสู่ความร่วมมือกับกลุ่มคนที่หลากหลายในชุมชน ซึ่งได้ชื่อว่าชุมชน 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ให้ได้หันมาร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเองไปสู่ชุมชนน่าอยู่ต่อไป

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter