“คนจรจัด”, “คนเร่ร่อน, “คนข้างถนน”, “คนไม่มีบ้าน” ฯลฯ ไม่ว่าสังคมจะเรียกขานคนเหล่านี้ว่าอย่างไร แต่พวกเขาก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ลำบากยากไร้ที่สุดในสังคมเมือง และยินดีที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น “คนจนจัด”มากกว่า เพราะแม้แต่คนที่อยู่ในสลัม คนที่อาศัยอยู่ใต้สะพาน หรือตามริมคลอง ก็ยังมีบ้าน หรือมีเพิงพักเอาไว้เป็นที่หลับนอนกันแดดคุ้มฝน ไม่ต้องร่อนเร่พเนจรไปไหน.....
วิถี “คนจนจัด”
กรุงเทพฯ เป็นแม่เหล็กยักษ์ที่ดึงดูดความหวังของผู้คนจากทั่วสารทิศให้มารวมกันอยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับ “ออด มูลทา” ที่หนีความยากจนจากสะบุรีเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุได้เพียง 14 ปี พร้อมกับวุฒิการศึกษาชั้น ป.2 แน่ละว่าย่อมไม่มีบริษัทห้างร้านแห่งใดจะมองเห็นคุณสมบัติของเขา ออดจึงต้องตระเวนรับจ้างทำงานไปทั่ว ไม่เกี่ยงประเภท ขอให้มีข้าวกิน มีที่พัก และมีเงินติดกระเป๋าบ้าง จนถึงวัยหนุ่มออดจึงได้เข้าไปทำงานประจำที่โรงงานผลิตน้ำปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร อยู่มานานปี เงินเดือนก็ไม่ขึ้น ได้แต่ค่าแรงรายวัน วันละ 150 บาท จนถึงปี 2547 ออดจึงเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ที่ท้องสนามหลวง
“ทำงานหนัก ตีนก็เปื่อย เพราะต้องย่ำอยู่กับเกลือกับปลาตลอดวัน ค่าแรงก็โดนกด เพราะมีแรงงานจากพม่าเข้ามามาก นายจ้างก็ไม่ง้อ ผมจึงออกมาจากโรงงาน เข้ามากรุงเทพฯ ไม่มีเงินเช่าบ้านอยู่ก็ต้องมาตั้งหลักอยู่ที่สนามหลวง ไม่รู้จะทำอะไร เห็นคนอื่นเขาเก็บของเก่าขาย พวกขวดน้ำพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระดาษ เอาไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ผมก็เอากับเขาบ้าง” ออดเล่าย้อนอดีต
ออดก็เหมือนกับคนจรคนอื่นๆ ที่มักจะยึดท้องสนามหลวงเป็นที่พำนัก ด้วยฮวงจุ้ยอันเหมาะสม คือในยามกลางวันก็ยังมีร่มมะขามให้พอได้อาศัย มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ใช้ห้องน้ำห้องท่าหรือเข้าไปดื่มน้ำเปล่าได้ มีแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ใช้อาบน้ำและซักเสื้อผ้า กลางคืนก็กลับไปที่ท้องสนามหลวง ปูผ้าพลาสติกหรือเสื่อลงไปก็กลายเป็นเตียงหญ้าขนาดใหญ่ แต่หากคืนใดฝนตก เหล่าคนไร้บ้านก็ต้องหอบสัมภาระคู่ชีพไปอาศัยชายคาตึกย่านใกล้เคียงเป็นที่พักพิงชั่วคราว
ราวตีสี่-ตีห้า ออดจะตื่นขึ้นมาเก็บสัมภาระ แล้วเดินมุ่งหน้าไปที่สภาสังคมสงเคราะห์ที่ตั้งอยู่ที่ถนนราชวิถี ที่นี่จะมีอาหารและขนมหวานให้ทุกคนได้กินฟรีวันละ 1 มื้อในช่วงเวลาประมาณ 11 โมงเช้า ตั้งแต่วันจันทน์-ศุกร์ ก่อนจะถึงเวลานั้น ออดก็จะเดินตระเวนเก็บ “ขยะรีไซเคิล” ตามถังขยะข้างทางไปด้วย แล้วใส่ถุงรวบรวมนำไปขาย มีรายได้ประมาณวันละ 70-80 บาท บางวันที่โชคไม่ดีก็อาจไม่มีเงินเข้ากระเป๋าเลย แต่บางวันที่ฟลุ๊คก็ว่ากันเป็นร้อยบาท แต่รายได้จำนวนนี้ไม่เพียงพอสำหรับบ้านเช่าหลังเล็กๆ ในกรุงเทพฯ สนามหลวงจึงเป็นเมืองหลวงของคนจนจัดมายาวนาน
“ศูนย์คนไร้บ้าน” ศูนย์ตั้งหลักชีวิต
คนจนกับหน่วยงานราชการดูเหมือนว่าฟ้าจะสาปลงมาให้ผิดกันเหมือนหมากับแมว แต่คนจนนี่แหละมักจะเป็นแมวที่โดนหมาไล่งับอยู่เรื่อย ดังเช่นคนจร คนไร้บ้าน มักจะถูกเจ้าหน้าที่กรมประชาสังเคราะห์กวาดจับไปฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ เพราะมองว่าพวกเขาเป็นคนเร่ร่อน ไม่มีอาชีพ เช่นเดียวกับ กทม.ที่มักจะมองว่าพวกเขาเป็น “ขยะ” ที่จะต้องกวาดออกไปจากเมือง
ในปี 2544 กรุงเทพมหานครมีนโยบายปิดท้องสนามหลวงในช่วงเวลากลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้คนจนคนจรมาใช้เป็นที่หลับนอน สร้างผลกระทบต่อเหล่าคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) จึงเข้ามาให้ความรู้เรื่องสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ มีการรวมกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจนกลายเป็นกลุ่ม “คนไร้บ้าน” ขึ้นมา นำไปสู่การเจรจาต่อรองกับ กทม.
สุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือ “ลุงดำ” หัวขบวนการต่อสู้ของคนไร้บ้านเล่าว่า พอเจรจาแล้ว กทม.จึงผ่อนผันให้มีการตั้งเต๊นท์เพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวบริเวณริมคลองหลอด แต่ก็ไม่สะดวกนัก เพราะบางคืนพวกที่ดมกาวหรือกะเทยที่โดนเจ้าหน้าที่ไล่จับก็จะหนีเข้ามาที่เต็นท์ ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านถูกเหมารวมไปด้วย ต่อมากลุ่มคนไร้บ้านจึงขยับขยายไปสร้างศูนย์พักขึ้นที่ชุมชนริมทางรถไฟตลิ่งชัน รองรับคนไร้บ้านได้ราว 30-40 คน
“พอปี 2546 มีการจัดประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ รัฐบาลมีนโยบายกวาดจับคนร่อนเร่ คนไร้บ้านอีก พวกเราก็รวมตัวกันคัดค้าน มีการเจรจากับทางราชการ เพื่อให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่มาจับกวาดต้อนไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ก็ได้ผล ทางรัฐฟังเรามากขึ้น ต่อมาเราจึงได้คุยกับ กทม.เพื่อให้ กทม.ขอเช่าที่ดินจากการรถไฟมาให้เราเช่าเพื่อก่อสร้างเป็นศูนย์คนไร้บ้าน” ลุงดำบอกเล่าจังหวะก้าวของกลุ่ม
“ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย” (ปัจจุบันเป็น “ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู”) ถือเป็นความสำเร็จขั้นต่อมาของกลุ่มคนไร้บ้านที่ผลักดันให้ กทม.เช่าที่ดินจากการ รฟท.บริเวณใกล้กับที่หยุดรถไฟจรัลสนิทวงศ์ เขตบางกอกน้อย เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตขนาด 2 ชั้น รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 70 คน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 2.5 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551
ศูนย์คนไร้บ้านแห่งนี้ถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันเรียกร้อง เจรจาต่อรองและผลักดันกับหน่วยงานรัฐ ทำให้กลุ่มคนไร้ราก คนจน คนจร ที่ไร้ที่ยืน ไร้ตัวตนในสังคม ได้ตระหนักถึงพลังของตัวเอง พวกเขาได้สร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน เช่น ห้ามดื่มสุรา ยาเสพติด ห้ามทะเลาะวิวาท ลักขโมย ฯลฯ ช่วยกันออกค่าน้ำ ค่าไฟเดือนละ 50 บาท (ยกเว้นคนที่ไม่มีรายได้) อยู่กันแบบพี่แบบน้อง พอเช้ามืดก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน ส่วนใหญ่จะเก็บหาของเก่าตามถังขยะ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน คนที่แข็งแรงหรือมีฝีมือทางช่างก็จะไปรับจ้าง เป็นกรรมกรก่อสร้าง
นอกจากนี้พวกเขายังได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลขึ้นมา จัดตั้งร้านค้า กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการวันละบาท แปลงปลูกผักอินทรีย์ โดยการระดมหุ้นมาเป็นกองทุน เช่น ร้านค้าจำหน่ายหุ้นๆ ละ 50 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น ปัจจุบันมีเงินทุนประมาณ 30,000 บาทเศษ จำหน่ายสินค้า เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำปลา เครื่องดื่ม (ไม่มีเหล้า-บุหรี่) ผงซักฟอก สบู่ ฯลฯ สิ้นปีก็มีเงินปันผลเฉลี่ยกันไปตามผลกำไร ส่วนคนที่ขัดสนก็ซื้อเงินเชื่อได้ก่อน ถือเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าจะเน้นผลกำไร
“ผมถือว่าที่นี่เป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต แม้ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ที่นี่ทำให้เรามีที่ตั้งหลัก มีที่พัก คนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยก็ออกไปหางานทำ หรือเก็บของเก่าขาย มีรายได้ก็มาออมเอาไว้เป็นทุนค้าขาย หรือสร้างบ้านเป็นของตัวเอง สร้างอนาคตใหม่ ไม่ต้องร่อนเร่อีกต่อไป” ลุงดำในฐานะผู้อาวุโสของกลุ่มคนไร้บ้านกล่าว
บ้านหลังแรกของคนไร้บ้าน
ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นศูนย์ตั้งหลักเท่านั้น แต่จากประสบการณ์ของ “คนจนรุ่นพี่” เช่น กลุ่มคนใต้สะพาน กลุ่มชุมชนริมทางรถไฟ ฯลฯ ที่ร่วมกันต่อสู้ เรียกร้อง จนรุ่นพี่เหล่านี้ได้รับสิทธิจากรัฐในการเช่าที่ดินหรือได้งบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านร่วมกันปรึกษาหารือและตั้งความหวังเอาไว้ว่าพวกเขาจะต้องมีบ้านหลังแรกในชีวิตให้ได้ มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาในปี 2553 สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องออมเงินอย่างน้อยคนละ 100 บาทต่อเดือน มีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 20 ราย
ในปี 2557 ความฝันของคนไร้บ้านก็เป็นจริงขึ้นมา พวกเขาขอเช่าที่ดินริมทางรถไฟจาก รฟท.บริเวณพุทธมณฑลสาย 2 เนื้อที่ 250 ตารางวา ระยะเวลาเช่า 30 ปี เพื่อก่อสร้างบ้านเฟสแรก เป็นบ้านรวม 2 ชั้น มี 16 ห้อง บ้านเดี่ยวขนาด 3X6 ตารางเมตร มี 4 หลัง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเหล็กและคอนกรีต ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย จำนวน 6 แสนบาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 1.2ล้านบาท และเงินออมสมทบจากสมาชิกคนไร้บ้านรวม 3 หมื่นบาทเศษ
สมาชิกที่มีสิทธิ์เข้าอยู่อาศัยจะต้องออมเงินเพื่อสร้างบ้านสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือน บ้านรวมสำหรับอยู่อาศัยคนเดียวออมเดือนละ 400 บาท บ้านเดี่ยวสำหรับคนมีครอบครัวออมเดือนละ 700 บาท หลังจากนั้นจะต้องผ่อนชำระต่อเท่ากับอัตราเงินออมทุกเดือนเป็นระยะเวลา 30 ปี (รวมค่าเช่าที่ดินรายละ 160 บาทต่อเดือน) ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 50 % และมีบ้านเดี่ยวบางหลังสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่แล้ว
ออด มูลทา ศิษย์เก่าสนามหลวง วัย 51 ปี เป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวที่เขาเรียกว่า “บ้านทางเลือก” เล่าด้วยความภูมิใจว่า เมื่อก่อนต้องอาศัยสนามหลวงเป็นบ้านนานนับ 10 ปี แต่เมื่อได้รวมกันเป็นกลุ่มคนไร้บ้านจึงได้มีที่พักชั่วคราว ไม่ต้องเร่ร่อน มีรายได้จากการขี่ซาเล้งตระเวนเก็บของเก่า ถ้ามีงานก่อสร้างก็ไปทำ สะสมเป็นเงินออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้านเดือนละ 700 บาท เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น อยู่กับแฟน (เจอกันที่สนามหลวง) อาชีพเก็บของเก่าเหมือนกัน
“ถึงผมจะมีบ้านแล้ว แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งพี่น้องที่เคยเร่ร่อนมาด้วยกัน พวกเรายังรวมกลุ่มกันไปช่วยเหลือเอาข้าวไปแจกที่ลานคนเมือง ให้คำแนะนำแก่คนที่ยังไร้บ้านให้มาพักที่ศูนย์ ไม่ต้องไปนอนตากแดดตากฝน เวลามีเงินก็ให้เก็บออมเอาไว้ สักวันเราก็จะมีบ้านได้ มีอนาคตใหม่ ไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป” ออดกล่าวทิ้งท้าย
วันนี้แม้ออดและสมาชิกคนไร้บ้านอีกหลายสิบคนจะไม่ต้องร่อนเร่ไปที่ไหนอีกแล้ว แต่ก็ยังมีคนจนจัดที่ยังเร่ร่อน ไร้ที่พักพิงอีกมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ บ้านหลังแรกของออดคงจะเป็นตำนานและเป็นบันทึกหน้าใหม่ของคนไร้บ้าน เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และร่วมกันหาทางออกต่อไป...