playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

สมัชชาสวัสดิการชุมชน วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และพื้นที่สวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ๕ ภูมิภาคร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือพอช. และกระทรวงการพัฒนา สังคมฯ จัดงาน สมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับชาติ โดยมีนายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นประธานเปิดงาน นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน มีผู้แทนชุมชน หน่วยงาน และนักวิชาการร่วมงานกว่า ๙,๐๐๐ คน

งานสมัชชาสวัสดิการชุมชนในครั้งนี้ มีผู้ร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้งผู้แทนของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั้ง ๕ ภูมิภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชนในจังหวัดสงขลา ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้แทนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ รมช.กระทรวงมหาดไทย นายถาวร เสนเนียม นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการ พอช นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการพอช ฯลฯ

กิจกรรมสำคัญเริ่มจากการกล่าวรายงานของนางมุกดา อินต๊ะสาร ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน การเปิดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนแห่งชาติ และมอบใบรับรองแก่องค์กรชุมชนด้านสวัสดิการ แก่องค์กรที่ทำสาธารณประโยชน์ในจังหวัดสงขลา โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ การเสวนา การจัดสวัสดิการชุมชนสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน การรายงานผลการดำเนินงานของสวัสดิการชุมชน ตามด้วย การมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการสนับสนุนและพัฒนาสวัสดิการชุมชน และเยี่ยมชมพื้นที่สวัสดิการชุมชนที่ตำบลเขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ของนายกรัฐมนตรีและคณะ

 

นายอิสสระ สมชัย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงฯ ได้สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนโดยการสมทบไปที่กองทุนของชุมชนโดยตรง และในปี ๒๕๕๐ กระทรวงพัฒนาสังคมฯได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนรวม ๔๐๐ ล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการสังคม ปี ๒๕๕๐ ที่กำหนดเรื่องสวัสดิการชุมชนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งให้มีผู้แทนองค์กรชุมชนเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ๘ คน การจัดสวัสดิการชุมชน จึงมีผลต่อการฟื้นฟูระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ที่ครอบคลุมคนทุกเพศ ทุกวัย ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ในชุมชนทั้งหมด นายอิสสระกล่าว


นายชบ ยอดแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติและผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ๕ ภูมิภาค กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสวัสดิการ ที่ดำเนินการและบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันมีการสมทบกองทุนจากสามฝ่ายคือ สมาชิกในชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และรัฐบาลที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในปี ๒๕๕๒ มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการสะสมจำนวน ๓,๑๕๖ กองทุน (ตำบล/เทศบาล) สมาชิกกองทุน ๒๕,๐๐๐ หมู่บ้าน จำนวน ๑.๐๒ ล้านคน รวมเงินกองทุน ๖๐๑ ล้านบาทเงินกองทุนดังกล่าวร้อยละ ๗๓ มาจากการสมทบของสมาชิก นอกนั้นเป็นสมทบโดยหน่วยภาครัฐ ได้จัดสวัสดิการให้กับชุมชนแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๐ ประเภท ครอบคลุมการเกิด แก่เจ็บ ตายได้แก่ รับขวัญเด็กเกิดใหม่ ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา ทุนกีฬา พัฒนาอาชีพ บำนาญ ฌาปนกิจ ฯลฯ

โดยนายชบ ยอดแก้ว ในนามผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ๕ ภูมิภาค มีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ประกาศสวัสดิการชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากในปัจจุบันมีประชาชนอีกประมาณ ๕๐ ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการเช่นข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชนที่มีระบบสวัสดิการดูแล โดยให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องสวัสดิการชุมชนทั้งการพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งแล้ว ส่งเสริมจัดตั้งสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ และสนับสนุนกลไกเชื่อมโยงทั้งในส่วนของชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลในการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชุมชนท้องถิ่น

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน ชื่นชมประชาชน ที่เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “กลุ่มคนในสังคมที่มีระบบรองรับที่ดีที่สุดคือข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รองลงมาคือระบบประกันสังคม ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ ๑๒-๑๓ ล้านคน ในขณะที่ประชาชนกว่า ๔๐ ล้านคน ยังไม่มีระบบสวัสดิการ หรือหลักประกันที่ชัดเจน นี่คือจุดที่รัฐบาลชุดนี้มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ว่าจะต้องมีระบบสวัสดิการสำหรับประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนและงบประมาณสมทบกองทุนที่จัดตั้งแล้ว เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันในชีวิต เป็นการส่งเสริมการออม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน และหากประชาชนสามารถสมทบได้ ๑ บาท รัฐบาลจะสมทบ ๑ บาท และจะโน้มน้าวให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสมทบอีก ๑ บาท ในเบื้องต้นจะจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบในปี ๒๕๕๒ ประมาณ ๗๒๗ ล้านบาทเพื่อกองทุนที่จัดตั้งแล้ว ๓,๑๗๖ ตำบล และจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ภายในปี ๒๕๕๕ พร้อมกับการผลักดันเรื่องสวัสดิการชุมชนให้เป็นวาระแห่งชาติตามที่เครือข่ายชุมชนนำเสนอ

 

ภายหลังการมอบนโยบายผู้แทนชุมชนได้อวยพรวันเกิดแก่นายกรัฐมนตรี ให้บริหารประเทศโดยปราศจากอุปสรรค หลังจากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งมีประชาชนรอต้อนรับกว่า ๓,๐๐๐ คน

 

นายไข่นวล แก้ว ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ เปิดเผยว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาพระ จัดตั้งกองทุนฯเมื่อปี ๒๕๔๘ สมาชิกแรกเริ่ม ๗๗๙ คนปัจจุบัน ๔,๔๓๘ คน จากประชากรทั้งหมด ๑๒,๘๖๐ คน จัดสวัสดิการให้กับสมาชิกมาเป็นเวลา ๔ ปี ๗ เดือน ครอบคลุมสวัสดิการประเภทต่างๆหลายรายการ เช่น เกิด เจ็บ ตาย ปลดหนี้ เงืนยืมเพื่อการศึกษา เงินยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ดูแลผู้ด้อยโอกาส คนพิการ สนับสนุนการจัดงานประเพณี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมกองทุนที่มีการออมเพื่อสวัสดิการทั้งหมด ๖,๒๓๒,๑๑๒ บาท และรวมเม็ดเงินที่มีการจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกในรอบ ๔ ปี ทั้งหมด ๕,๕๔๐,๕๗๔ บาทผู้ได้รับประโยชน์รวม ๒,๐๕๒ คน โดยในปี ๒๕๕๕ จะรณรงค์ให้มีสมาชิกอย่างน้อย
๕๐ % ของคนทั้งตำบล

 

อนึ่งพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการจัดสวัสดิการชุมชนมายาวนาน ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้วในพื้นที่ทั้งระดับตำบลและเทศบาล ๑๓๘กองทุน รวมสมาชิกกว่า ๑๒๓,๔๘๐ คน มีเงินกองทุนคงเหลือจากการจัดสวัสดิการให้สมาชิกไปแล้ว จำนวน ๕๖.๔ ล้านบาท โดยใน จ.สงขลา มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๐๗ ตำบล ๓๓ เทศบาล

 

 

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter