playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

๑.  ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชน

ความเป็นมา

สังคมไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันมายาวนาน  มีสวัสดิการแบบธรรมชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร เคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปบทบาทของชุมชนในการดูแลกันและกันก็ลดลง  แต่หลังจากสังคมไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐  ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ส่วนหนึ่งได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบคุณค่าเดิม ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการจากฐานทุนด้านต่าง ๆที่มีอยู่ของชุมชน เช่น สวัสดิการจากฐานกลุ่มออมทรัพย์  องค์กรการเงิน  วิสาหกิจชุมชน ความเชื่อทางศาสนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

          ในปี ๒๕๔๘ ขบวนองค์กรชุมชนที่ทำงานเกี่ยวกับองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนได้ยกระดับกองทุนสวัสดิการโดยการริเริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการระดับตำบล โดยให้มีการสมทบงบประมาณจากสามฝ่าย(๑ : ๑ : ๑) คือ ทุนจากการออมสมทบของสมาชิกในชุมชน ทั้งในรูปแบบออมทรัพย์เดิม  หรือสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท การสมทบจากรัฐบาลกลางและการสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓  ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เมืองทั่วประเทศ ๕,๕๐๐ กองทุน สมาชิกรวม ๓.๔๑ ล้านคน

          “สวัสดิการชุมชน” คือ การสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในรูปของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในท้องถิ่น ที่มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต  ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก่อให้เกิดรายได้ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน

แนวความคิดสำคัญ

  • เงินเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายการพัฒนาจัดสวัสดิการและสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนโดยใช้ฐานทุนที่มีอยู่ภายในมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  • ช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียมไม่สร้างความแยกแยก
  • พัฒนาอย่างองค์รวมเชื่อมโยงกับกิจกรรมและกลุ่มองค์กรอื่นๆในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
  • ทำจากสิ่งที่เป็นจริงตามสภาพเศรษฐกิจ สังคมในชุมชน ไม่ลอกเลียนคนอื่นเขามาทั้งชุด
  • พึ่งตนเองและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยยึดหลัก“ ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี "
  • กระบวนการดำเนินงานสอดคล้องกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นการจัดสวัสดิการของชุมชน โดยชุมชน  เพื่อชุมชน

ลักษณะการดำเนินการของกองทุนสวัสดิการชุมชน

  • เป็นกองทุนที่มี สมาชิก ทำงานให้บริการสมาชิกและ/หรือคนอื่นๆในชุมชนตามที่สมาชิกตกลงร่วมกัน
  • เงินกองทุน มาจากการสมทบของสมาชิก การบริจาคสมทบของหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการระดมทุนเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่างๆ ปัจจุบันกองทุนส่วนใหญ่สมาชิกสมทบวันละ๑ บาทหรือปีละ ๓๖๕ บาท แต่ก็มีกองทุนบางส่วนที่ใช้การระดมทุนด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น จากผลกำไรกลุ่มออมทรัพย์  ฯลฯเงินสมทบดังกล่าวจะไม่คืนเงินเมื่อสมาชิกลาออก
  • การบริหารจัดการ สมาชิกจะเลือกคณะกรรมการ มาบริหารกองทุน โดยมีระเบียบกองทุนเกี่ยวกับสมาชิก การสมทบเงิน และการจ่ายเงินสวัสดิการ เป็นเครื่องมือในการทำงาน
  • การช่วยเหลือสมาชิก ประเภทสวัสดิการที่จัด จำนวนเงินช่วยเหลือ เป็นไปตามกติการ่วมและฐานะการเงินของแต่ละกองทุน

 

ชุมชนจัดสวัสดิการชุมชนได้กี่ประเภท

          ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนสามารถจัดสวัสดิการได้กว่า ๑๐  ประเภท ตั้งแต่การคลอดบุตร เจ็บป่วย ช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ทุนการศึกษา ช่วยงานสาธารณะประโยชน์ในชุมชน  ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เงินยืมไม่มีดอกเบี้ยสำหรับสมาชิก ทุนอาหารกลางวันนักเรียน เงินบำนาญ ฯลฯ ทั้งนี้ตามความพร้อมของเงินกองทุน

 

ทำอย่างไรให้กองทุนสวัสดิการประสบความสำเร็จ

          ความสำเร็จของกองทุนสวัสดิการชุมชนคือ สามารถให้การช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างกว้างขวาง ต่อเนื่อง ครบถ้วน สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินการและสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือสร้างหลักประกันทางสังคมที่สำคัญของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนจะประสบความสำเร็จเพราะ

  • ความเข้าใจความเชื่อมั่นในแนวคิดอุดมการณ์สวัสดิการชุมชน   ทีเน้นเรื่องการพึ่งตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามแนวคิด ”ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทุนภายใน  จัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และปัญหาความต้องการของชุมชน  ทั้งสวัสดิการที่ใช้เงินกองทุนและสวัสดิการที่เป็นการดูแลช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องใช้เงิน
  • จำนวนสมาชิก สมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนครอบคลุมประชากรทั้งตำบล  กระจายทุกช่วงวัย  เพราะยิ่งมีสมาชิกมาก เงินสมทบจะมีมาก ความเสี่ยงในการที่จ่ายเงินสวัสดิการจะยิ่งน้อยลงเพราะมีการกระจายความเสี่ยงออกไปมากขึ้นกองทุนที่มีสมาชิกน้อยจะมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนที่มีสมาชิกมาก
  • มีความมั่นคงทางการเงิน เพราะสมาชิกจ่ายเงินสมทบครบถ้วน สม่ำเสมอ  มีการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ มีรายรับจากแหล่งอื่นๆของกองทุนอย่างต่อเนื่อง  สัดส่วนการจ่ายสวัสดิการให้สมาชิกและค่าใช้บริหารจัดการสัมพันธ์กับรายรับ  เน้นการพึ่งพาทุนภายในชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ
  • การบริหารจัดการเปิดเผยโปร่งใส ระบบบัญชีการเงินถูกต้องทันเวลาและสมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินการ  เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงานสู่สมาชิก  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

การสนับสนุนจากรัฐบาล

            รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ในช่วงแรกเป็นการให้การสนับสนุนเพื่อการจัดตั้ง พัฒนาและสมทบเงินบางส่วน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เป็นต้นมา รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยสมทบเงินเข้ากองทุนตามจำนวนสมาชิกที่มีอายุครบ ๑ ขึ้นไปในอัตราวันละ ๑ บาทต่อคนหรือปีละ ๓๖๕ บาท  และได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พิจารณาสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ตามฐานะการคลังของแต่ละ อปท. 

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter

ข่าวสวัสดิการชุมชน