การที่คนยากจนลงทุกวันนี้มีผลมาจากการขาดมิตรภาพขาดความเอื้ออารีย์ มิตรไมตรี ไม่มีระบบที่ทำให้เขาได้มีเวทีพูดคุยและร่วมเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดร่วมกันจนเกิดความโดดเดี่ยว จนขาดความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่ดีงาม
คำพูดดังกล่าวได้สะท้อนข้อเท็จจริงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนว่า การเอาตัวรอดจำเป็นต้องรวมตัวกันจึงเห็นได้ว่าในอดีตนั้นมีความเป็นชุมชนที่มีรากแก้วที่หยั่งลึกทั้ง ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นชาติ เป็นสังคมที่พึ่งพาเครือญาติอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นใบเบิกทางการทำมาหากิน เป็นอยู่แต่พอเพียงและเอื้อต่อธรรมชาติรอบตัว
แต่ระบบการพัฒนาที่มุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้สวนกระแสที่ทำให้สังคมที่เป็นอยู่แบบหมู่คณะถูกแยกออกจากกัน ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมุ่งเอาผลกำไร สังคมแบบนี้ทำให้รากของความเป็นชุมชนถูกกลืนกลายเป็นชุมชนที่ไม่มีราก ความเป็นตัวใครตัวมันมีมากขึ้น ไม่รู้จักตนเอง ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถูกทำลาย เพียงเพื่อการผลิตที่มุ่งหวังผลกำไร นี่คือคุณลักษณะของสังคมที่คนถูกทำให้โดดเดี่ยวกลายเป็นสังคมที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และลงมือปฎิบัติร่วมกัน
ดังนั้นการทำให้เกิดสังคมเข้มแข็งพึ่งตนเองได้กลับมาอีกครั้ง จำเป็นต้องสร้างระบบที่ผู้คนสามารถมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
กรณีที่ตำบลวังกระโจม ก็เช่นกัน แกนนำแต่ละหมู่บ้านได้พยายามที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม เช่น ทำบุญกลางบ้านในเทศกาลวันสงกรานต์รถน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และจัดให้มีการประชุมหมู่บ้านเพื่อทำประชาคมในทุกๆ เดือน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และนี่คือจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสวัสดิการชุมชน และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำร่วมกันอีกหลากหลายทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ฌาปนกิจสงเคราะห์ เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยอินทรีย์ จักสาน ที่มากกว่า 50 กลุ่มองค์กร สุดท้ายยกระดับจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล
สวัสดิการชุมชน… คือความหวังครั้งใหม่
เสียงประชาคมเมื่อประมาณปี 2549 เห็นพ้องต้องกันให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน สุทธิกุล คำแสง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังกระโจม เอ่ยให้ฟัง
ช่วงเวลานั้นมีหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาต่างๆ พากันนำความช่วยเหลือมามอบให้และพร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แต่เราต้องการสร้างความเชื่อมั่นด้วยตัวเองก่อน จึงให้ผู้นำชุมชนทั้ง 7 หมู่บ้านของตำบลวังกระโจม จัดทำแผนชุมชนและรับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตำบลดอนยอ ดังนั้นการศึกษาดูงาน จึงเป็นระบบหนึ่งที่ทำให้ผู้คนได้พบปะพูดจาหารือกัน เป็นการสร้างระบบพูดคุยที่หลากหลายและกว้างขวางขึ้นจนพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกองทุน และจัดประชุมแกนนำชี้แจงแนวทางการจัดตั้งกองทุน พร้อมๆ ไปกับการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งสิ้น 15 คนจากทุกหมู่บ้าน ส่วนที่ปรึกษามาจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่จากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนครนายก มุ่งเน้นให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่เกิดจนตายด้านกฎระเบียบที่ประกาศออกมาทุกข้อต่างเป็นความเห็นของสมาชิกเพื่อต้องการให้สมาชิกเคารพกฎระเบียบตามเงื่อนไขของตนเองที่สร้างขึ้นมาให้เกิดเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน
สอดคล้องอย่างยิ่งตามวิถีของชุมชนที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยได้นำองค์ความรู้จากทุกที่มาขยายผลให้กับชุมชน โดยการเปิดเวทีระดับเล็กๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน พอนานๆ เข้าก็กลายเป็นการตกผลึกของความรู้จึงเกิดมาเป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นการที่รู้จริงบ้างไม่จริงบ้างแต่ก็ได้ผลักดันให้เกิดขึ้น จากกระบวนการของภาคประชาชนเอง จนกำเนิดเป็นรูปแบบของสวัสดิการตำบลวังกระโจม ตามหลักปรัชญาคือ ออมเพื่อให้ มีหลักกฎเกณฑ์ของสวัสดิการชุมชนดัดแปลงมาจากตำบลดอนยอซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ
ระหว่างนี้ ชาวบ้านที่สนใจและยังลังเลใจบางส่วนก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกเริ่มแรกมีเพียง 90 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 362 คน มีเงินออมปัจุบันทั้งสิ้น 240,000 บาท ที่เป็นเงินตั้งต้นจากการออมของสมาชิกวันละ 1 บาทต่อวันมาเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยกำหนดสมทบเข้ากองทุนทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน และเงินสมสบจากส่วนอื่นๆ เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก 60,000 บาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 55,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลวังกระโจม 50,000 บาท นับว่าเป็นกองทุนขนาดย่อมๆ ที่พอจะดูแลสมาชิกได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
นอกจากนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังกระโจมยังคิดค้นรูปแบบของการจ่ายสวัสดิการเพื่อต้องการที่จะให้ครอบคลุมในเรื่องของการกินการอยู่ในชุมชนทั้งหมด ตามประเภทต่างๆ ดังนี้
- เมื่อแรกเกิดให้ลูก 500 บาท แม่นอนโรงพยาบาลจ่ายคืนละ 100 บาท ไม่เกิน 5 คืน
- เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลคืนละ 100 บาท ปีละไม่เกิน 10 คืน
- เสียชีวิตสมทบครบ 180 วัน ได้ค่าทำศพ 2,500 บาท ครบ 365 วัน ได้ค่าทำศพ 5,000 บาท และครบ 730 วัน ได้ค่าทำศพ 10,000 บาท
- สวัสดิการเพื่อการศึกษา
- สวัสดิการเพื่อกู้ยืมประกอบอาชีพ
- สวัสดิการคนพิการ
ปัจจุบันนี้ได้จัดสวัสดิการให้สมาชิกคลอดบุตร 3 ราย เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 14 ราย และเสียชีวิตอีก 3 ราย ในขณะเดียวกันพวกเขายังมีการจัดสวัสดิการเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนอีกคนละไม่เกิน 30,000 บาท หากแต่ต้องเป็นสมาชิกที่ขัดสนเรื่องเงินจริงๆโดยจะต้องได้รับการยินยอมจากสมาชิกเสียงส่วนมาก ทว่าสำคัญเหนือไปกว่านั้น กิจกรรมเหล่านี้นี่เองที่หลอมรวมให้พวกเขามองเห็นศักยภาพของตัวเอง
พลิกฟื้นผืนนาร้าง 10 ไร่ ปลูกข้าวขายนำเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน
ในจำนวนเงินกองทุนที่ได้เติมเต็มเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนหนึ่งมาจากการพลิกฟื้นผืนนากว่า 10 ไร่ ที่เจ้าของนาปล่อยร้างแล้วมาทำงานที่กรุงเทพฯ แกนนำที่เป็นเครือญาติจึงติดต่อของเช่า แต่เจ้าของใจดีให้ทำฟรีๆ เพียงเสียภาษีเพียง 30 กว่าบาทต่อปี สุทธิกุล บอกว่า นี่คือความเป็นมิตรไมตรีของคนในชุมชนที่มันได้มากกว่าคำว่า “เงินตรา”
อันที่จริง พื้นที่จำนวน 10 ไร่ จะเป็นการหมุนเวียนกันทำระหว่างคณะกรรมการทั้ง 15 คน หากแต่สมาชิกคนไหนต้องการช่วยเหลือเราก็พร้อมยินดี ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายจากการทำนาแล้วประมาณ 45,000 บาทต่อปี โดยจะนำเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็นำไปสู่ความภาคภูมิใจ ท้าทายต่อคำกล่าวหาว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนจะต้องล้มเลิกไปในไม่ช้า
สุทธิกุล ยังบอกอีกว่า กองทุนสวัสดิการชุมชน นับเป็นการฟื้นมิตรไมตรีเอื้ออารีย์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ สามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง และการตระหนักถึงปัญหาร่วมกันของชาวบ้าน ทำให้เกิดความร่วมมือเน้นการสร้างทีมงานมากกว่าผลงานของแต่ละบุคคลหรือเฉพาะตัวผู้นำ ทำให้ทุกคนมีบทบาทเท่าเทียมกันในการทำงาน ก่อให้เกิดสำนึกร่วมในการเป็นเจ้าของกองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกัน
การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นยังหมายถึงการเคารพในกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติของกองทุนฯ ร่วมกันของชาวบ้าน ซึ่งจะมีการตั้งกฎ ข้อปฏิบัติร่วมกัน หากมีความร่วมมือที่ดีในการปฏิบัติก็จะเป็นผลให้สามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้น การมีส่วนร่วมของชุมชนที่วังกระโจมซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความสามัคคี มีสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานไปสู่เป้าหมายได้
แม้หัวใจสำคัญจะอยู่ที่การมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน หากแต่การเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนด้านงบประมาณ และพัฒนาแนวคิด การทำงานจากหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็น อบต. พมจ. พอช. รวมถึงเงินงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนอื่นๆ ล้วนเป็นส่วนสนับสนุนให้การดำเนินงานที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หน่วยงานทั้งในท้องถิ่นหรือส่วนกลางเหล่านี้ จึงเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็ม เสริมสร้างแนวคิด ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง
มิตรไมตรี เอื้ออารีย์ที่วังกระโจม จะยังคงเป็นมิตรภาพและความอบอุ่นอันเกิดจากคนเล็กคนน้อย ได้กล่าวขานถึง “น้ำใจ” ให้เกิดการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อย่างไร้พรมแดนกั้น