playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

การสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชนและสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือ โดยคนในชุมชนต้องเป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ด้วยการผนึกกำลังสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “สวัสดิการชุมชน” จึงเป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์ความมั่นคงและความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชนได้

แต่หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า เป้าหมายสำคัญของสวัสดิการชุมชน คือ การสร้างเม็ดเงินให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน หรือเป็นการดูแลสวัสดิการคลอบคลุมปัจจัยพื้นฐานทั้งสี่ด้าน ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่แท้ที่จริงแล้วหัวใจสำคัญของสวัสดิการชุมชนคือ การทำให้คนในชุมชนเกิดการจัดการตนเอง การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เกิดการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ โยงใยไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ในชุมชนครอบคลุมทุกมิติ

ดังเช่น ตำบลพรหมพิราม หนึ่งในตำบลเล็กๆ ที่อยู่ในอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีรูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนที่น่าสนใจและแตกต่างจากกองทุนสวัสดิการทั่วไป ที่มิได้มองว่าสวัสดิการเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการเงินในชุมชนเท่านั้น แต่ยังมองกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกลุ่มคนทุกกลุ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง เกิดการสร้างคลังอาหาร หรือ “ครัวท้ายบ้านของชุมชน” ตลอดจนแนวคิดของผู้นำชุมชนที่นำปัญหามาเป็นแรงผลักดัน เพื่อให้เกิดโอกาสและการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ชาวบ้านเกิดการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

เราจะมาร่วมเรียนรู้และถอดรหัสความสำเร็จของกองทุนสวัสดิการตำบลพรหมพิราม และรู้จักบุคคลสำคัญที่ปลุกศรัทธาชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาพัฒนาทักษะอาชีพ และยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

กองทุนสวัสดิการฯ พรหมพิราม… ต่อยอดความรู้ สู่การพัฒนาทักษะอาชีพ

ท่ามกลางบรรยากาศภายนอกที่เงียบสงัดของวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกมากนัก เมื่อเดินทางเข้ามาภายในวัด ก็จะพบความแตกต่างจากวัดอื่นทั่วๆ ไป โดยปกติเวลาที่เราเดินเข้ามาในวัดก็จะเห็นกุฏิ ศาลาการเปรียญ ตั้งตระหง่านอยู่กลางวัด และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีราคาสูงลิ่ว แต่วัดแห่งนี้กลับมีเพียงห้องสี่เหลี่ยมที่ติดป้ายว่า “กองทุนสะสมทรัพย์” และมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแทนโบสถ์วิหารราคานับล้าน มีโรงครัวขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านมาร่วมกันประกอบอาหาร มีโรงเพาะเห็ดสำหรับเพาะเห็ดจำหน่ายและนำมาแปรรูป มีสามเณรมานั่งล้อมวงผลิตไม้กวาดดอกหญ้า และมีสินค้าอีกสารพัดชนิดที่วางเรียงรายไว้เพื่อรอจำหน่ายให้กับญาติโยมที่เข้ามาในวัด

070655 2-1จากการสอบถามจากหลวงพี่ช้าง เจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือ ก็ได้รับคำตอบว่า วัดแห่งนี้มีลักษณะแตกต่างจากวัดอื่นทั่วไป ตรงที่มีการจัดตั้งกลุ่มกองทุนสะสมทรัพย์หรือธนาคารเล็กๆ ไว้สำหรับบริการด้านการเงินให้กับสมาชิก และกองทุนสวัสดิการชุมชนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลในยามฉุกเฉิน รวมทั้งการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชน แต่ละวันจะมีคนสูงอายุจำนวนไม่น้อยมาลงแรง ร่วมกันทำอาหาร ประดิษฐ์ข้าวของจำหน่าย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แตกหน่อมาจากกองทุนสวัสดิการชุมชนนั่นเอง
ย้อนรอย….กว่าจะมาเป็น “กองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลพรหมพิราม”    

กองทุนสวัสดิการตำบลพรหมพิราม เป็นกองทุนที่เกิดจากการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เมื่อปี 2544 ในช่วงแรกของการจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของชาวบ้าน หากชาวบ้านคนใดไม่มีเงินในการรักษาอาการเจ็บไข้ หรือคนชราที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือสนับสนุนเรื่อยมา จนกระทั่งทางกลุ่มเริ่มจัดตั้ง “กองทุนวันละบาท” ขึ้นเมื่อปี 2551 โดยแต่งตั้งคณะทำงานชุดแรก มีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และเปิดบัญชีร่วมกันถึง 3 คน ด้วยวงเงินครั้งแรกจำนวน 55,000 บาท และได้วางรูปแบบการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เป็นระบบมากขึ้น

เมื่อดำเนินไปสักระยะหนึ่ง ทางกลุ่มได้มองเห็นโอกาสในการขยับขยายหรือต่อยอดกองทุนฯ ด้วยการส่งเสริมด้านทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสร้างรายได้เสริมแล้ว ยังส่งผลให้เม็ดเงินในกองทุนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อทำไปได้สักพักก็ประสบปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น โดยคณะทำงานชุดเก่าได้ฉ้อโกงเงินกองทุนไปจำนวนหนึ่ง แม้ภายหลังจะได้เงินกลับคืนมา แต่ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา โดยคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งมีที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมระดมความคิดเห็น วางกฎระเบียบต่างๆ ร่วมกัน เช่น ให้สวัสดิการกับสมาชิกที่เสียชีวิต ศพละ 10,000 บาท หรือสมาชิกสามารถนอนโรงพยาบาลได้คืนละ 100 บาท โดยไม่จำกัดโรค แต่ก็ประสบปัญหาตามมาอีกครั้งเนื่องจากยอดรวมกองทุนขณะนั้นมีเพียง 55,000 บาท (และจำนวนเงินอีก 4,700 บาทในการจัดตั้ง) ถ้าหากต้องจ่ายสวัสดิการให้กับสมาชิกต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ยอดเงินในกองทุนมีไม่เพียงพอหรือติดลบได้ ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีความเห็นร่วมกันในขณะนั้นว่า ให้นำเงินกองทุนสวัสดิการทั้งหมดที่ได้มา เก็บไว้ที่ธนาคารเพื่อรักษาสถานะกองทุนให้คงที่ไว้

ต่อยอดกองทุนฯ สนับสนุนด้านทักษะอาชีพ

ในปีต่อมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรหมพิราม จึงได้เริ่มขยับขยายต่อยอดไปสู่การส่งเสริมทักษะอาชีพอย่างจริงจัง มีการผลิตไม้กวาดดอกหญ้า ทำหมวกสานจากวัสดุธรรมชาติ  สร้างโรงเพาะเห็ดเพื่อจำหน่ายและนำมาแปรรูป และโรงเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมี “หลวงพี่ช้าง” หรือ เจ้าอธิการเจริญ กิตติคุโณ เจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือ เป็นแกนหลักในการเผยแพร่ความรู้และสร้างทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชน

เมื่อกองทุนดำเนินไปสักระยะหนึ่งก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากทางคณะกรรมการกองทุนฯ มองว่า พระภิกษุไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาของกองทุนได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก ถ้าหากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพต่อไปก็ควรไปจัดที่โรงเรียนใกล้วัดแทน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงคัดค้านกับเสียงคณะกรรมการฯ และยืนยันว่าจะขอทำกิจกรรมอยู่ที่วัดต่อไป

070655 2-2ด้วยความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงพี่ช้าง จึงทำให้เกิดกองทุนที่จัดตั้งโดยหลวงพี่ช้างซึ่งก็ได้รับกำลังใจสำคัญจากชาวบ้านและผู้สูงอายุหลายคน หลวงพี่ช้างได้กล่าวว่า “เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำให้ชีวิตของเขาเป็นสุขได้ ด้วยการส่งเสริมความรู้และทักษะอาชีพ ทำให้ชาวบ้านสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน” คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านไม่มีงานทำ ก็มาใช้วัดเป็นสถานที่ในการพูดคุยสนทนา และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น นำเห็ดจากโรงเพาะเห็ดมาทำต้มยำเห็ดฟาง ห่อหมกเห็ดฟางจำหน่าย  รวมทั้งขนมต่างๆ สารพัดชนิด เช่น ขนมตาล ข้าวต้มมัด ข้าว แต๋น เป็นต้น

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรหมพิราม มีสมาชิกที่เข้าร่วมกว่า 700 คน โดยมีรูปแบบสวัสดิการพื้นฐาน เช่น

  • การเกิด เด็กเกิดใหม่ได้รับเงินขวัญถุง 500 บาท (สำหรับแม่ที่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลก็จะได้เงินพิเศษต่างหาก)
  • การป่วย กรณีนอนโรงพยาบาลคืนละ 50 บาท
  • การตาย กรณีตายได้ค่าทำศพ 40,000 บาทต่อคน
  • กรณีพิเศษ เช่น หากสมาชิกมีความประสงค์จะบริจาคโลหิต ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเงินออมวันละบาท เป็นต้น

หลวงพี่ช้าง ได้กล่าวถึงกองทุนสวัสดิการฯ ของตำบลว่า รูปแบบการจัดสวัสดิการจะพิจารณาเพื่อให้
เกิดความเหมาะสมของสมาชิกแต่ละคน เช่น กรณีคนที่บกพร่องทางร่างกายหรือพิการช่วงล่าง แต่ยังคงสามารถ ทำงานได้ตามปกติ ก็จะมีการส่งเสริมอาชีพและให้ค่าตอบแทนหรือเงินสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ เช่น เงินค่าแรงทำหมวก หากเป็นผู้พิการให้ใบละ 30 บาท ผู้สูงอายุให้ ใบละ 20 บาท โดยรายได้ที่นำมาเป็นเงินกองทุนสวัสดิการส่วนหนึ่งก็เกิดจากการจำหน่ายสินค้าที่สมาชิกร่วมกันผลิตขึ้นมา

เกิดคำถามขึ้นมาว่า “สินค้าที่ผลิตขึ้นเหล่านี้จะไปขายใคร..?” หลวงพี่ช้างให้คำตอบว่า สินค้าที่ผลิตจำนวนมากจะถูกกระจายส่งขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ประมาณกว่า 40 อำเภอ รวมทั้งการจำหน่ายที่หน้าบ้านของผู้ผลิตเอง ซึ่งทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนมาใช้สมทบเข้ากองทุนรวมของตำบล

ปลุกศรัทธาชาวบ้าน ด้วยหัวใจ มิใช่แค่คาถาปัดเป่า

070655 2-3“เราจะทำอย่างไร จึงจะมิให้มันหายไป” คำกล่าวที่ชัดเจนของหลวงพี่ช้าง ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ความพยายาม และความอดทน ที่จะทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนยังคงเติบโตและมุ่งหน้าต่อไป แม้ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมายเพียงใด แต่กำลังใจและความมุ่งมั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้

ในวันนี้หลวงพี่ช้างมิได้มีแค่บทบาทของการเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดเท่านั้น แต่ยังเป็นพระนักพัฒนา นักสังคมสงเคราะห์ และยังสวมหมวกเป็น    ผู้นำชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาความเดือนร้อนของชาวบ้าน ยกตัวอย่าง การจัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ตั้งใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านในกรณีที่ได้รับความเดือนร้อน ก็ไม่ต้องนำข้าวมาคืน แต่จะใช้วิธีให้สมาชิกคนนั้นตั้งสัจจะอธิฐาน “ลด ละ เลิก อบายมุข” ซึ่งถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการขัดเกลาพฤติกรรม โดยมิต้องใช้คาถาใดๆ ปัดเป่า แต่ใช้เพียงความซื่อสัตย์ และความศรัทธาในสิ่งที่ทำก็เพียงพอแล้ว
หลวงพี่ช้างได้กล่าวถึงความรู้สึกในการทำงานไว้ว่า “ยอมรับว่าเป็นการทำงานที่เหนื่อยมาก เพราะการทำงานสวัสดิการนั้นจะต้องมีความเสียสละอย่างแท้จริง แม้จะเป็นงานที่ต้องมีการดุด่าว่ากล่าวทีมงาน มีท้อกันไปก็หลายครั้ง แต่หลายครั้งสำหรับคนทำงานก็ต้องทำงานด้วยใจที่เสียสละ แล้วมันจึงจะผ่านไปได้”

ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคมานับครั้งไม่ถ้วน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลพรหมพิรามได้รับบทเรียนและประสบการณ์ต่างๆ มากมาย โดยในอนาคตทางกองทุนตำบลพรหมพิรามคาดหวังไว้ว่า จะต้องทำให้สิ่งที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ให้เติบโตแตกหน่อต่อยอดและเกิดความยั่งยืน จนกลายเป็นหลักประกันความก้าวหน้าและความมั่นคงให้กับคนในชุมชนต่อไป

บทเรียนความสำเร็จ กองทุนสวัสดิการตำบลพรหมพิราม

  • การนำบุคคลสำคัญมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการ เพื่อสร้างความศรัทธาและจริยธรรมให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน โดยมีการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับชาวบ้านได้นำไปใช้ในการพึ่งพาตนเอง
  • การใช้กองทุนสวัสดิการในการเชื่อมโยงไปสู่การสร้างอาชีพ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การปลูกป่า และอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจชุมชน
  • การนำกุศโลบายมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองให้คนในชุมชน เกิดการประพฤติปฏิบัติตัวที่ดี นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและเป็นสุข เช่น การตั้งสัจจะลดละเลิกอบายมุข การปลูกป่าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เป็นต้น
  • การสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทำให้เกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนหล่อเลี้ยงชุมชนและสังคม

รูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนตำบลพรหมพิราม นอกจากจะคำนึงถึงการจ่ายสวัสดิการชุมชนที่เป็นธรรม และเท่าเทียมกันแล้ว ยังสามารถใช้เงินกองทุนเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดด้านทักษะอาชีพ และแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของชุมชน โดยเงินสมทบที่ได้จากการดำเนินงาน จะแบ่งออกเป็น 1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสวัสดิการดูแลสมาชิก 2) เงินกองทุนส่งเสริมอาชีพ และ 3)เงินกองทุนช่วยเหลือสังคม เช่น การสร้างโรงพยาบาลพรหมพิรามขึ้น ขนาด 60 เตียง ซึ่งเป็นแนวคิดของกองทุนในการช่วยเหลือด้านสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter