playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

e8820b70e64035c131775bfc7b180d615f552ba5 265x223 Q75‘อยุธยา’ หรือเมืองกรุงเก่า  เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมายที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม  พระราชวัง  กำแพงเมือง  ฯลฯ  เรียกว่าพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วมีประวัติ  มีตำนานเล่าขานทั้งนั้น  เช่นเดียวกับที่ตำบลเต่าเล่า  อำเภอบางซ้าย  ชาวบ้านเล่ากันต่อๆ มาว่า  เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้มาพักค่ายและตั้งเตาต้มเหล้ากันในบริเวณนี้  ปัจจุบันยังมีซากของเตาต้มเหล้าปรากฏให้เห็นอยู่  ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเตาเหล้า” ต่อมาในระยะหลังเรียกเพี้ยนเป็น “เต่าเล่า”  เมื่อยกฐานะขึ้นเป็นตำบลจึงเรียกว่าตำบลเต่าเหล้าจนถึงปัจจุบัน
 
ตำบลเต่าเล่า  อำเภอบางซ้าย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 16,587 ไร่   สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา  มีคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนเป็นลำคลองสายหลัก   ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีมานี้พื้นที่ในตำบลเต่าเล่าได้กลายสภาพเป็นพื้นที่รองรับน้ำ  โดยเฉพาะในปี 2554 ที่ผ่านมา  ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำนานหลายเดือน   
ปัจจุบันตำบลเต่าเล่าขึ้นอยู่กับการปกครองของเทศบาลตำบลบางซ้าย มีประชากรทั้งหมดประมาณ 2,841 คน  จาก 1,004 ครัวเรือน   จำนวน 10 หมู่บ้าน  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  รับจ้างทั่วไป  และเป็นพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม 
              
กองทุนสวัสดิการชุมชนใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีขับเคลื่อน
 
486fb2873c9f06719b51d62bf7f439b77e77eb4a 150x225 Q75วรางคณา  เนตรรักษา  เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่า  กล่าวถึงความเป็นมาของกองทุนสวัสดิการฯ ว่า  ในช่วงกลางปี 2551  ตัวแทนชุมชนตำบลเต่าเล่าได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน  จ.พระนครศรีอยุธยา  และเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัด  ทำให้พวกเรากลับมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนวันละบาทนี้เกิดขึ้นได้จริง  จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน  ซึ่งต่างก็มองเห็นความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  เพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในยามเจ็บไข้ได้ป่วยและเสียชีวิต
 
“พอดีกับในขณะนั้นตำบลเต่าเล่ากำลังจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  แกนนำในตำบลจึงได้ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนชี้แจงให้กรรมการและชาวบ้านแต่ละหมู่เข้าใจเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน  แล้วเปิดรับสมัครสมาชิกในแต่ละหมู่บ้าน”  วรางคณาพูดถึงจุดเริ่มต้นของกองทุนสวัสดิการชุมชน
 
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551  มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 108 คน  โดยสมาชิกจะต้องสะสมเงินเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท  มีเงินกองทุนเริ่มแรกจำนวน 7,200 บาท  และมีคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้งหมดจำนวน 17 คน
 
ในช่วงเริ่มต้นคณะกรรมการกองทุนฯ ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก  เนื่องจากเคยมีกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นมาก่อนแต่ทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จต้องล้มเลิกไป  ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่ไว้วางใจ  ไม่เชื่อว่ากองทุนจะเกิดขึ้นได้จริง   เมื่อเตรียมตัวจะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นมา  ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมกองทุนไม่มากนัก
 
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมองในเรื่องของผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่จะได้รับว่าน้อยกว่ากองทุนอื่นๆ  เช่น  กลุ่มฌาปนกิจของ อสม.ที่มีอยู่แล้ว  เพราะสมาชิกกองทุนของ อสม.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท  หากเสียชีวิตก็จะได้เงินตอบแทนประมาณ 1 แสนบาท  หรือการทำประกันชีวิต  หากเจ็บป่วยก็สามารถนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  เมื่อเสียชีวิตก็มีผลตอบแทนให้สูงตามสัญญากรมธรรม์
 
อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมการกองทุนฯ ก็ไม่ได้ย่อท้อยังคงเดินหน้าทำงานกันต่อไป  ทั้งทำประชาคมหมู่บ้าน  จัดประชุม  พูดคุยเชิญชวนกันเองตามหมู่บ้าน  โดยขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับเวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลเต่าเล่า  ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังกองทุนสวัสดิการชุมชนไม่นานนัก  ให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านถึงหัวใจสำคัญของกองทุนสวัสดิการฯ ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน   แต่ต้องการให้สมาชิกได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความรักความสามัคคีในชุนชน  พึ่งพาตนเองได้
 
“เราพยายามบอกกับชาวบ้านว่ากองทุนของเราคือกองบุญ  ทุกคนจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ให้ก็ให้อย่างมีคุณค่า เพราะเราได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้จริง วันข้างหน้าเราจะได้เป็นผู้รับอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน”  วรางคณากล่าว
 
สำหรับสภาองค์กรชุมชนตำบลนั้น  จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27  กรกฎาคม 2551     มีกลุ่ม  องค์กรชาวบ้านเข้าร่วมจดแจ้งจัดตั้งจำนวน 12 กลุ่ม  มีผู้แทนชุมชนจำนวน 40 คน  ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน  มีกำนันสยาม  สัญญเดช  เป็นประธานสภาองค์กรชุมชน
 
เสียงบอกเล่าจากปากของสมาชิก
         
827c646d8c94d3af9d2ccdc3cac980559ca84dbd 173x260 Q75ป้าละออ  ทวีสุข อายุ 66 ปี   สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน  เล่าว่า “ป้าเป็นสมาชิกได้สองปีแล้ว  ตอนที่ป่วยนอนโรงพยาบาล 3  คืน กองทุนจ่ายเงินช่วยเหลือ 500 บาท  ไม่ได้คิดว่าเงินมากหรือน้อย  เพราะถ้าเราส่งน้อยแค่วันละบาท  เราก็ได้รับน้อย  ส่งมากก็ได้มาก  พอได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนก็ดีใจ   เพราะทุกวันนี้ป้าไม่มีอาชีพอะไร  เลี้ยงหลานอยู่บ้าน  เพื่อนบ้านพอรู้ว่าป้าได้รับเงินจริงเขาก็เริ่มเชื่อ แล้วมาสมัครเป็นสมาชิกกัน”
         
น้านฤมล  หรั่งศิริ  อายุ 50 ปี  สมาชิกกองทุนฯ จากหมู่ 4 เล่าเรื่องที่ตนเองได้รับสวัสดิการจากกองทุนฯ ว่า  “พ่อเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ  ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท  ตอนที่นอนป่วยอยู่ก็ได้รับ 500 บาท  แม้จะเป็นเงินไม่มาก  แต่ก็นำมาใช้จัดงานศพเบื้องต้นได้   ดีใจที่ได้เข้าเป็นสมาชิก  ชาวบ้านเขาเห็นว่าพี่ได้รับเงินจริงก็เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกันมากขึ้น”
         
นับจากวันที่ป้าละออ  ทวีสุข  ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ แม้จะเป็นเงินเพียง 500 บาท  พอสมาชิกทราบข่าวก็เล่ากันปากต่อไป  ทำให้การทำงานของคณะกรรมง่ายขึ้น  และกรณีการเสียชีวิตของคุณพ่อของน้านฤมล  หรั่งศิริ  ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 3,000 บาท  ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้านเห็นเป็นรูปธรรมว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าสามารถช่วยเหลือสมาชิกกองทุนได้จริง  ชาวบ้านจึงเริ่มมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนกันมากขึ้น  ประกอบกับความพยายามของคณะกรรมการในแต่ละหมู่ที่ลงทำงานเชิงรุกกับชาวบ้าน   จนกระทั่งสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิม 108 คนเป็น 286 คนเมื่อกองทุนมีอายุครบ 1 ปีพอดี
 
สำหรับสวัสดิการที่ช่วยเหลือสมาชิก  ประกอบด้วย   1.เด็กแรกเกิด รายละ 500 บาท  2.เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 คืนขึ้นไปกองทุนฯ จ่ายให้ 500 บาท  ปีละ 2 ครั้ง  3.สมาชิกเสียชีวิต  ช่วยเหลือ 3,000 บาท  4.สวัสดิการผู้ด้อยโอกาส-คนพิการ 5.เพื่อพัฒนาอาชีพ  6.การศึกษา  7.ช่วยเหลือผู้ยากไร้   และ8.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  ซึ่งสวัสดิการตั้งแต่ข้อ 4-8 คณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะช่วยเหลือกี่ราย  รายละเท่าใด
 
2045da486d85af095ffadb1bbb038a36fe7e9aec 224x250 Q75ที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าได้ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว  ดังนี้ เด็กแรกเกิด/คลอดบุตร  จำนวน 3 ราย  รวมเงิน 1,500 บาท,  เจ็บป่วยรักษาพยาบาล 18 ราย  รวมเป็นเงิน 9,000 บาท,  เสียชีวิต 15 ราย  รวมเป็นเงิน 45,000 บาท, ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส 5 คน  รวมเป็นเงิน  1,500 บาท,  ผู้ยากไร้ 2 คน  รวมเป็นเงิน 2,000 บาท,  ทุนการศึกษา  12คน  รวมเป็นเงิน 6,000  บาท,  พัฒนาอาชีพ 10,000 บาท  และช่วยเหลือน้ำท่วม  10,000 บาท
 
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา  คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยังได้ประสานงานไปยังหน่วยงานภายนอก  เช่น  กาชาดจังหวัด  เพื่อให้ช่วยเหลือซ่อมแซมและสร้างบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจำนวน  4 หลัง  โดยชาวบ้านและสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ช่วยกันออกแรง
 
สร้างกองทุนฯ ให้เติบโต
 
63baf99b82a7111a7030eb28d2174cfe43d97e0b 170x255 Q75ภิรมย์  รัตนกนก  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2  ปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่า  กล่าวว่า  ตอนแรกการทำงานในชุมชนยากมาก  ล้มลุกคลุกคลาน  เพราะชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อว่ากองทุนจะเกิดได้จริง  ไม่ไว้ใจเลย  เนื่องจากเคยมีกลุ่มลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อน  ทำแล้วล้มไป  ทำงานแบบไม่ซื่อตรง  ชาวบ้านไม่เคยเห็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จ  ไม่มีตัวอย่างให้ดู  และก็กลัวว่าตั้งมาใหม่เดี๋ยวก็ล้มอีก
 
“ผมก็พยายามพูดคุยให้เข้าใจ  ตอนแรกชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยยอมรับการจัดตั้งกองทุน  หมู่บ้านผมมีประชากร 290 คน  แต่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนแค่ 30 คนเท่านั้น   แต่ช่วงหลังสมาชิกในหมู่ของเราได้รับการช่วยเหลือจริง 3 คน  จึงเร่ิมขยายฐานสมาชิกออกไปได้อีก  ส่วนการเงินของกองทุนฯ เราจะเก็บกันปีละ 1 ครั้ง ส่วนคนที่จะได้รับประโยชน์ก็ต้องเป็นสมาชิกครบอย่างน้อย 1 ปีก่อน”  ผู้ใหญ่ภิรมย์กล่าว  และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนให้ได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
         
 ศิริธร  สว่างเดือน  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6  และเป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ  เล่าถึงการทำงานกองทุนฯ ว่า  ในหมู่ 6 มีชาวบ้านทั้งหมด 148 คน   สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ 44 คน  แต่การจัดเก็บเงินในหมู่ที่ 6 จะต่างไปจากหมู่อื่นๆ เพราะจะจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ เป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท  โดยจะนัดส่งเงินเข้ากองทุนฯ ทุกวันที่ 10 ของเดือน  เนื่องจากในวันนี้เป็นวันมอบเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
 
7c649af5fe8a07c2cb11952b218674bb4337f855 170x255 Q75“เมื่อนำเงินจากเทศบาลตำบลเต่าเล่ามามอบให้ผู้สูงอายุแล้วก็จะเก็บเงินจากสมาชิกกองทุนฯ ในวันเดียวกัน  เพราะสมาชิกกองทุนฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ  จากนั้นจึงจัดทำบัญชีการเงิน  ถ้าสมาชิกเดือดร้อนเราจะนำเงินไปช่วยเหลือสมาชิกได้ทันที  แต่ต้องแจ้งไปยังเลขาฯ ก่อนทุกครั้ง  และทำบัญชีไว้ให้เรียบร้อยเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ตลอดเวลา”  ศิริธรกล่าว
 
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่ามีคณะกรรมการ 17 คน  โดยมาจากตัวแทนสมาชิก  ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และจากผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน  มีการจัดประชุมย่อยทุกๆ 3 เดือน  และประชุมใหญ่ปีละ 1 ครั้ง การทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ จะแยกกันรับผิดชอบแต่ละหมู่บ้าน  การเก็บเงินสมทบมีทั้งรายเดือน ราย 3 เดือน  รายปี  แล้วแต่ข้อตกลงของแต่ละหมู่บ้าน  งานส่วนรวมที่คณะกรรมการต้องร่วมกันขับเคลื่อนมีตั้งแต่  การช่วยกันประชาสัมพันธ์  สร้างความเข้าใจให้แก่สมาชิก  ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับสมาชิก  ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนพึ่งตนเองให้ได้  และวางแผนงานร่วมกันในการขยายฐานสมาชิก
 
นอกจากจะมีคณะกรรมการที่ร่วมกันฝ่าฟันความยากลำบากในการจัดตั้งกองทุน และในช่วงการทำงานขยายฐานสมาชิกแล้ว  ตำบลเต่าเล่ายังมีวรางคณา เนตรรักษา เลขาฯ กองทุนฯ  ซึ่งถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ  ทำงานประสานทั้งภายในและองค์กรภายนอกต่างๆ  จนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าดำเนินการมาได้ 4 ปีเต็ม  และกำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 5  สามารถลบคำครหาว่ากองทุนฯ คงจะไปได้ไม่กี่น้ำ  เดี๋ยวก็ต้องล้มแน่ๆ
 
วรางคณา  กล่าวว่า  กองทุนสวัสดิการตำบลเต่าเล่ายังเป็นเพียงกองทุนเล็กๆ แต่ก็เป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจาก 3 ฝ่ายด้วยกัน  คือจากสมาชิก  จากสภาองค์กรชุมชนตำบลและเทศบาลตำบลบางซ้าย  และเงินสมทบจากรัฐบาล  ปัจจุบันกองทุนมีเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบลบางซ้าย  จำนวน 70,000 บาท รัฐบาลสมทบมาให้จำนวน 104,390 บาท  นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 30,000 บาท
 
อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจะเป็นเพียงกองทุนเล็กๆ  แต่การทำงานของกองทุนสวัสดิ การชุมชนตำบลเต่าเล่า  ก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ  สามารถตรวจสอบได้  เช่น  มีการจัดทำรายงานการประชุม   มีการบันทึกบัญชีการเงินในสมุด  และบันทึกด้วยระบบคอมพิวเตอร์   สามารถออกรายงานการเงินที่เป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง  มีการประชุมและติดตามประเมินผลโดยคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกๆ 3 เดือน   และจัดทำรายงานผลต่อสมาชิก-คณะกรรมการ  รายงานผลต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและเป็นระบบ
 
“ปัจจุบันเราใช้สภาองค์กรฯ เป็นเวทีขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการ  เพราะสมาชิกสภาองค์กรชุมชนส่วนใหญ่ก็เป็นกรรมการกองทุนสวัสดิการอยู่แล้ว  เราจึงขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน  ทุกวันนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ของตำบลเต่าเล่าทำงานกันอย่างไม่มีค่าตอบแทน   มีจิตอาสาอย่างเดียว  ทำงานจนได้รับการประเมินจากมหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ว่าตำบลเต่าเล่ามีจุดเด่น  คือความเข้มแข็งในการทำงานของคณะกรรมการดีมาก” วรางคณากล่าวอย่างภาคภูมิใจ
 
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยังทำงานเชื่อมโยงกับงานพัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ  เช่น  งานด้านแผนพัฒนาชุมชน  งานที่อยู่อาศัย  ส่งเสริมอาชีพ  การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด  การอนุรักษ์วัฒนธรรม  ประเพณีศาสนา  และงานด้านเยาวชน  ผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส
 
ก้าวย่างต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่า  
 
อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าจะใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นตัวขับเคลื่อนงาน  แต่ในทางปฏิบัติแล้วการขยายฐานสมาชิกยังทำได้ไม่มากนัก  หากดูจากจำนวนผู้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 350 คนกับจำนวนประชากรทั้งตำบลที่มีอยู่ประมาณ 2,800 คน   จากการประเมินผลของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ พบว่า  ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญคือ 1.ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องกองทุนสวัสดิการ  2.ชาวบ้านนำเอาสวัสดิการชุมชนฯ ไปเปรียบเทียบกับการประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
 
ปัจจุบัน (กันยายน 2555)  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่ามีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 350 คน  แยกเป็นสมาชิกทั่วไป  จำนวน 155 คน  สมาชิกเด็ก  เยาวชน  และ ผู้สูงอายุ  จำนวน 190  คน  และผู้พิการ  ด้อยโอกาส  จำนวน 5 คน  มีเงินกองทุนในขณะนี้ประมาณ 170,000 บาท
 
วรางคณา กล่าวว่า  จากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว  ทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์  การสื่อสารกันเองในชุมชน และระหว่างชุมชน  ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ  นอกจากนี้ก็จะมีการประสานงานกับเทศบาลตำบลเต่าเล่า  เพื่อขอให้สนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มากขึ้น
                  
“เราตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่าจะต้องมีสมาชิกครอบคลุมทุกครัวเรือนในตำบล (1,004 ครัวเรือน)  คือมีจำนวนสมาชิก 1,004 คน  ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้น  เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น  มีเงินกองทุนมากขึ้น  กองทุนสวัสดิการฯ ก็จะช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น  โดยเฉพาะผู้ที่เสียชีวิต  ผู้ด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  และผู้พิการ”  เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเต่าเล่ากล่าวในตอนท้าย

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter