เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบทเริ่มมีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติอย่างจริงจังมาตั้งแต่มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ซึ่งเกิดอุทกภัยทั่วประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ที่เกิดมหาอุทกภัยนั้น ก็เป็นบททดสอบสำคัญว่าชุมชนจะมีขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติมากน้อยแค่ไหน จากการทำงานร่วมและรับฟังการสรุปบทเรียนการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นทางความคิดและประสบการณ์ที่น่าสนใจมากมายหลายเรื่องดังนี้
๑.สภาองค์กรชุมชนแจ้งเกิดและกองทุนสวัสดิการมีบทบาทสำคัญ
สภาองค์กรชุมชนซึ่งมีการจัดตั้งกันขึ้นตามพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ๒๕๕๑ กว่า ๒,๗๐๐ สภา(สมาชิกกว่า๕๖,๐๐๐ องค์กร)และมีคำถามอยู่เสมอว่าจะมีบทบาทในงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างไรนั้น เป็นแกนหลักในการทำงานจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ทั้งในแง่การจัดการปัญหาเฉพาะหน้า หุงหาอาหารให้ผู้ประสบภัย ประสานการช่วยเหลือจากภายนอก จัดตั้งและบริหารศูนย์อพยพและจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยผู้ประสบภัยในที่อื่นๆ เวทีที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดจะเป็นเวทีสำคัญในการเสนอแนะนโยบายการบริหารจัดการน้ำจากภาคประชาชนไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติครั้งนี้คือกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นแล้วกว่า ๓,๗๐๐ กองทุน มีสมาชิกทั่วประเทศมากกว่า ๒ ล้านคน ในพื้นที่ประสบภัย (มีมากกว่า๑,๐๐๐ กองทุน) กองทุนเหล่านี้ช่วยเหลือเยียวยาสมาชิกในรูปแบต่างๆตามกติกาของกองทุนหรือที่สร้างข้อตกลงกันเพิ่มเติม นอกพื้นที่ประสบภัยเครือข่ายองค์กรสวัสดิการหลาย จังหวัดระดมทุนมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เครือข่ายองค์กรชุมชนสองเครือข่ายนี้มีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติโดยตรง สภาองค์กรชุมชนนั้นจะมีสถานะในการเชื่อมประสานฝ่ายต่างๆ ในชุมชนเพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนประเภทต่างๆ ที่กว้างขวางที่สุดและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการเสนอนโยบายสาธารณะต่อรัฐในระดับต่างๆ ได้
๒.จะสนับสนุนร้านค้าส่งขนาดยักษ์หรือวิสาหกิจชุมชน
อุทกภัยครั้งนี้มีผลกระทบกับการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคของโรงงานต่างๆอย่างกว้างขวาง คนเมืองหลวงต้องร้องขอข้าวขอน้ำจากคนชนบท รัฐบาลต้องนำเข้าอาหารและน้ำจากต่างประเทศ แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงโรงสีชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน โรงผลิตน้ำพริกของชุมชน ฯลฯ ทั้งๆที่ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้มากมายหลายหมื่นแห่ง ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคทุกประเภท เมื่อนึกถึงการจัดหาของ (supply)ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แหล่งที่คนทั่วไปในสังคมนึกถึงเสมอคือโรงงานหรือร้านค้าส่งขนาดยักษ์ชื่อภาษาอังกฤษ ทำอย่างไรที่เราจะนึกถึงและให้วิสาหกิจชุมชนเหล่านั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดหาข้าวของ ถือโอกาสนี้สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ไปพร้อมกัน
ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติของชุมชนเอง ก็ควรจะจัดทำแผนที่แหล่งสินค้าจำเป็นของชุมชนในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงไว้ เพื่อการประสานงานจัดหาสิ่งของ ไม่ใช่พึ่งแต่โรงงานดังเช่นปัจจุบัน พอโรงงานในเมืองหลวงมีปัญหาก็ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคกันทั่วประเทศ
๓.ถึงเวลาหรือยังที่จะย้ายชุมชนหรือห้ามสร้างบ้านชั้นเดียว
อุทกภัยครั้งนี้บอกเราว่าพื้นที่อยู่อาศัยหลายแห่งทั่วประเทศทั้งริมแม่น้ำและบนภูเขามีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างร้ายแรง (รวมทั้งกรุงเทพ หาดใหญ่) ชุมชนหลายชุมชนที่เจอน้ำท่วมซ้ำซากอาจจะต้องพิจารณาเรื่องย้ายชุมชนหรือไม่ก็ต้องปรับปรุงระบบภายในชุมชนทั้งหมด เช่นต้องยกบ้านสูงพ้นน้ำ บางหลังอาจต้องสร้างเป็นเรือนแพลอยน้ำ ขุดคูลองสร้างทางน้ำผ่าน ฯลฯ อบต./เทศบาล/กทม.อาจต้องห้ามสร้างบ้านเพิ่มเติมในบางพื้นที่ ห้ามสร้างบ้านชั้นเดียวในบางจุดที่พบว่าท่วมมิดหลังคาในปีนี้ โดยออกเป็นเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติตำบล
ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติที่จะมาเร็วและแรงขึ้นทุกปี
๔.กองทุนชุมชนจัดการภัยพิบัติ
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ตรงกับความต้องการมากที่สุดคือการใช้เงินจากกระเป๋าตนเอง แต่เงินมักไม่เพียงพอหรือไม่มี ชุมชนผู้ประสบภัยจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องมีกองทุนชุมชนจัดการภัยพิบัติในระดับหมู่บ้าน ตำบลและจังหวัด ที่มาของกองทุนอาจมาจากการสมทบของสมาชิกเป็นรายครัวเรือน การสมทบขององค์กรชุมชนในหมู่บ้าน การสมทบของหน่วยงานภายนอก หรือการระดมทุนอื่นๆ การใช้เงินกองทุนอาจใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซื้อข้าวปลาอาหาร จัดการศูนย์อพยพ จัดหาเรือ ไปจนถึงการเป็นกองทุนหมุนเวียนให้กู้ยืมซื้อเมล็ดพันธุ์ ซ่อมสร้างบ้าน ฯลฯ เหตุที่ต้องมีกองทุนหลายระดับเพราะจะช่วยลดความเสี่ยง กองทุนหมู่บ้านสมาชิกน้อย เงินน้อย ตำบลสมาชิกมากกว่า เงินมากกว่า จะช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยง ทำให้กองทุนมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะมีกองทุนกี่ระดับก็ตาม การบริหารจัดการ รับจ่าย-เงินให้อยู่ที่ระดับหมู่บ้านหรือตำบล
๕.ผู้ประสบภัยต้องแก้ปัญหาตนเอง
ความคิดความเชื่อโดยทั่วไปในเรื่องภัยพิบัติคือ ต้องมีคนไปช่วยผู้ประสบภัย เราจึงพยายามออกแบบระบบ (ทั้งรัฐและเอกชน) การช่วยเหลือที่ดีมีประสิทธิภาพ แต่ระบบที่พยายามออกแบบกันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เราคนภายนอกต้องช่วยผู้ประสบภัย ไม่เคยมีความคิดว่า เราแค่ช่วยผู้ประสบภัยให้เขาช่วยเหลือตนเองอย่างเร็วที่สุดเท่านั้น เช่น ขณะนี้มีความต้องการอีเอ็มบอลล์มาบำบัดน้ำเสีย อาสาสมัครทั้งประเทศก็เร่งมือผลิตอีเอ็มบอลล์นับได้หลายล้านก้อน นี่เป็นเรื่องดี แต่ถามว่าผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพที่มีคนอยู่หลายหมื่นคนทำเองได้ไหม ทำได้ง่ายมาก ทำไมเราไม่กระตุ้นให้ผู้ประสบภัยทำเล่า
เมื่อแรกเริ่มประสบภัย จะมีหน่วยงานต่างๆหุงอาหารให้ผู้ประสบภัย งานนี้ควรทำให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วพยายามให้ทุกครอบครัวหุงหาอาหารเอง ให้แต่ละศูนย์อพยพจัดการเรื่องอาหารเอง จะทำครัวร่วมหรือ แยกกันทำก็ว่ากันไป เราต้องช่วยผู้ประสบภัย แต่การช่วยเหลือทุกรูปแบบต้องสั้นที่สุดเพื่อให้เขาตั้งตัวได้และช่วยเหลือตนเอง การมีศูนย์อพยพก็ควรมีสั้นที่สุด ผู้ประสบภัยทุกภัย ทุกหนแห่งพร้อมที่จะกลับไปพึ่งตนเองของครอบครัวอยู่แล้ว
แนวคิดและแนวปฏิบัติในการพัฒนาชุมชนสมัยใหม่คือ ให้ชุมชนเป็นแกนกลางในการพัฒนา (Community Driven Development: CDD) น่าจะขยายความออกมาได้ว่า ต้องให้คนเจ้าของปัญหาลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเอง กรณีของผู้ประสบภัยก็ต้องให้ผู้ประสบภัยนั้นจัดการ รวมตัว ลงมือแก้ปัญหาตนเองโดยประสานงานกับหน่วยช่วยเหลือต่างๆ การแก้ปัญหาจึงจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของผู้ประสบภัยมากที่สุด
๖.งานภัยพิบัติบอกว่าทุกจุดต้องพึ่งตนเอง
น่าแปลกที่งานช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นงานการช่วยจากคนข้างนอกล้วนๆให้ข้อคิดเราไปในทางตรงข้ามคือ ทำอย่างไรที่แต่และคนต้องพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด
ถ้าทุกครอบครัวมีอาหารการกินเพียงพอ มีน้ำดื่มไม่ขัดสน มีเชื้อเพลิงครบถ้วน มีเรือครบครันหมู่บ้านจะไม่มีภาระในการจัดการผู้ประสบภัย ตำบลไม่มี จังหวัดไม่มีและสุดท้ายคือประเทศไม่ต้องมีภาระในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอภิมหากิจกรรมดังที่เป็นอยู่ แนวคิดพื้นฐานในการออกแบบระบบเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกชุมชน ทุกครอบครัวจะพึ่งตนเองได้อย่างไรให้มากที่สุด แล้วจึงออกแบบว่าการช่วยเหลือจากภายนอกจะเข้ามาอย่างไรถ้าจำเป็น
ธรรมชาติของทุกครอบครัวมีการพึ่งตนเองอยู่แล้ว เราต้องเริ่มต้นจากจุดนี้ มดปลวกยังเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม ทุกครอบครัวต้องเอาอย่างมดปลวก
๗.จัดการปลายทาง อย่ามุ่งแต่ต้นทาง
เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นคนจะสนใจแต่ว่าจะหาของไปช่วยคนอย่างไรให้มากที่สุด เร็วที่สุดแล้วถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน กลับบ้าน จบข่าว เน้นการทำงานที่ต้นทางกันทั้งหมด ไม่มีใครสนใจทำงานที่ปลายทาง ซึ่งก็คือการจัดระบบชุมชน จัดระบบผู้ประสบภัย ทั้งในศูนย์อพยพและในชุมชน ปัญหาการได้รับของไม่ทั่วถึง รับของมากจนสามารถเปิดร้านขายของชำได้ รับของที่ไม่ต้องการ ทะเลาะกันเพราะของบริจาค ฯลฯ ล้วนมาจาการที่ชุมชนไม่สามารถจัดระบบของตนเองได้และหน่วยงานต่างๆก็ดูจะไม่สนใจที่จะไปจัดระบบตรงนี้ มีชุมชนจำนวนมากที่พยายามจัดการบริหารตรงนี้ก็ถูกผู้ใจบุญต่อต้านหาว่าจะมาเป็นนายหน้ารับของ ทั้งๆผู้นำชุมชนพยายามบอกว่าเอาของมาลงที่ส่วนกลางเถิด ศูนย์ประสานของชุมชนจะช่วยจัดการเพราะจะได้กระจายอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน การเข้าไปแจกของตามอำเภอใจจะยิ่งทำให้ชุมชนแตกแยก
ถ้าเราสามารถจัดการปลายทางได้ ปัญหาและภาระจำนวนมากของหน่วยงาน ของคนที่ต้องการช่วยเหลือจะเหลือน้อยมาก เพราะชุมชนเขาจัดการตนเอง ตั้งแต่เตรียมตัวรับภัยพิบัติ ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็มีน้อยมาก ถ้าต้องการก็รวบรวมมาเป็นระบบ แจกจ่ายทั่วถึงและเป็นธรรม การจัดการที่ปลายทาง เราต้องเชื่อก่อนว่าชุมชนสามารถจัดการตนเองได้และจัดการดีกว่าหน่วยงานภายนอกแน่นอน
๘.ให้องค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดการ
การจัดการที่ปลายทาง เราอย่าฝากไว้ที่ผู้นำคนใดคนหนึ่ง เราต้องฝากไว้ที่คณะบุคคลที่เรียกว่าองค์กรชุมชน
เมื่อเกิดภัยร้ายแรงตั้งแต่สมัยสึนามิเป็นต้นมา คนส่วนใหญ่จะถามถึงหน่วยงานระดับชาติที่มาจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ อุทกภัยครั้งนี้คนก็ถามแบบเดียวกัน แต่ไม่มีใครนึกถึงองค์กรชุมชน ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนประมาณการว่าน่าจะมีอยู่มากกว่า ๒๕๐,๐๐๐ องค์กรทั่วประเทศ
ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนระดับตำบลต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติตำบลหรือเมือง เพื่อทำหน้าที่เตรียมแผนรับมือ เผชิญหน้าและฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ องค์ประกอบของคณะกรรมการจะมาจากองค์กรชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.และผู้เคยประสบภัยและมีหน่วยงานต่างๆเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติ บอกว่าทุกครอบครัวต้องเตรียมตัวอะไรอย่างไร ต้องปรับปรุงถนนหนทาง คูคลองหนองบึงที่ตรงไหน จุดอพยพคน สัตว์ รถยนต์คือที่ใด ต้องมีฉางข้าวรวมหรือเปล่า จะซ้อมการอพยพเมื่อไหร่ ฯลฯ ถึงยามเกิดภัยก็ต้องบริหารศูนย์อพยพหรือศูนย์ประสานงาน หลังเกิดเหตุก็ระดมคนทั้งตำบลมาวางแผนฟื้นฟูชุมชนทุกด้าน รวมถึงการเสนอนโยบายต่างๆต่อหน่วยงานของรัฐ
ถ้าทุกตำบล ทุกเมืองมีคณะกรรมการชุดนี้ หน่วยงานต่างๆจะสามารถประสานงานการช่วยเหลือได้ตรงจุดและการจัดการภัยพิบัติก็จะมีประสิทธิภาพไปโดยอัตโนมัติ เพราะการมี ๘,๐๐๐ คณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งรู้ทุกซอกทุกมุมในท้องถิ่นของตนเองทำงานไปพร้อมๆกัน ย่อมดีกว่าการมีหน่วยงานรวมศูนย์สั่งการระดับชาติที่มีอำนาจล้นฟ้าเพียงหน่วยเดียวแน่นอน
ภัยพิบัติคือโอกาสที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จัดการตนเอง
๙.สี่พื้นที่ที่ชุมชนต้องจัดการ
ถ้าเราอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่การจัดการของชุมชนจะไม่ใช่แต่พื้นที่ตำบลเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่อื่นที่สำคัญอีกสามพื้นที่คือพื้นที่นโยบาย พื้นที่เครือข่ายและพื้นที่ทางอากาศ
ถ้าเราไม่อยากเห็นการรื้อบิ๊กแบ็ค รื้อกระสอบทราย บังคับเจ้าหน้าที่เปิดประตูน้ำ เราต้องปรึกษาหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่เริ่มต้น มีข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างชุมชนหลังประตูน้ำกับชุมชนอื่นๆและมีคณะกรรมการร่วมที่จะจัดการตามข้อตกลงนั้น ในระดับลุ่มน้ำ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาวางแผนการจัดการน้ำร่วมกัน จะสร้างถนน คู คลอง หนองบึงที่ตรงไหน ต้องเจรจาหาแนวทางก่อนที่น้ำจะมา นี่คือพื้นที่นโยบายซึ่งมีทั้งระดับตำบล จังหวัด ลุ่มน้ำและประเทศหรือแม้แต่ระหว่างประเทศ (เช่นการจัดการลุ่มน้ำโขง)
พื้นที่ที่สามคือพื้นที่เครือข่าย นอกเหนือจากองค์กรชุมชนในตำบล ในท้องถิ่นแล้ว องค์กรเหล่านั้นต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาร่วมกัน เชื่อมโยงกับเทศบาล อบต.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานอาสาสมัครต่างๆ ฯลฯ เพื่อสานพลังสู้อุทกภัยด้วยกัน เพราะแต่ละหน่วยงานมีความชำนิชำนาญและทรัพยากรที่แตกต่างกัน สามารเสริมหนุนกันได้
พื้นที่ที่สี่คือ พื้นที่ทางอากาศผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ จะต้องมีพื้นที่ของชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่พื้นที่ของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการและผู้บริจาคเท่านั้น ปัจจุบันภาพของชุมชนมีแต่ภาพของคนทุกข์ ของผู้ร้องขอ ผู้ร้องเรียน เราต้องนำภาพของการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนออกไปสู่สาธารณะให้มากขึ้น จนสังคมยอมรับว่า อ้อ การจัดการภัยพิบัติหรือ ต้องชุมชนจัดการซิ
๑๐.อำนาจน้อยน้ำมาก อำนาจมากน้ำน้อย
ดูเสมือนว่าอุทกภัยครั้งนี้ จะมีความเดือดร้อนถ้วนหน้าทั้งคนจนคนรวย แต่ลึกลงไปเราเห็นข้อเท็จจริงสำคัญอีกประการหนึ่งว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ของคนมีอำนาจ ฝ่ายการเมืองเกรงกลัว เป็นย่านธุรกิจสำคัญ จะถูกปกป้องสุดฤทธิ์จนไม่มีน้ำแตะแม้แต่หยดเดียว ในขณะที่คนชานเมืองกรุงเทพแช่ขังนานนับเดือน ไม่มีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันเลย ซึ่งเป็นเหตุให้มีการรื้อคันกั้นน้ำ กระสอบทราย ปิดถนน บังคับให้เปิดประตูน้ำกันกว้างขวาง ทำไมเล่าเราจึงกำหนดว่าบางพื้นที่ของกรุงเทพเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้...และใครเป็นคนกำหนด ใครกำหนดว่าพื้นที่ไหนน้ำจะท่วม ท่วมนานเท่าไหร่ ลึกเท่าไหร่ ทำไมประชาชนผู้ทุกข์ยาก ได้รับผลกระทบจากการกำหนดนั้นไม่มีส่วนร่วม
การจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนทั้งในระยะเตรียมการ เผชิญหน้าและฟื้นฟู ต้องมุ่งที่การพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรชุมชน ซึ่งเป็นปลายทางหรือเป้าหมายของการทำงาน ให้ขบวนองค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงชุมชน โดยใช้หลักว่าให้พี่งตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบุคคลเจ้าของปัญหาลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตนเอง การจัดการที่ว่านั้นมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างเช่น การมีกองทุน มีคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติ ใช้เครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีอยู่ในตำบลเป็นตัวขับเคลื่อน แผนจัดการภัยพิบัติ การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อรับมือภัยพิบัติ เป็นต้น
พื้นที่การจัดการภัยพิบัติของขบวนองค์กรชุมชนมีสี่พื้นที่คือพื้นที่ตำบล/เมืองที่ปฏิบัติการ (Place) พื้นที่เครือข่ายและความร่วมมือ(Partner) พื้นที่นโยบาย (Policy) และพื้นที่สื่อสารสาธารณะหรือสื่อมวลชน (Press) ซึ่งต้องทำงานเกี่ยวเนื่องกันตลอดเวลา การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนจึงจะบรรลุผลในสองเป้าหมายคือคือแก้ปัญหาภัยพิบัติได้และชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตนเอง
ถ้าทุกตำบล/เมือง มีคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติที่มาจากหลายฝ่าย มีกองทุนจัดการภัยพิบัติของตนเอง ทุกครอบครัวเตรียมการรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า มีนโยบายการแก้ปัญหาภัยพิบัติที่ชุมชนมีส่วนร่วมทุกระดับ มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่พร้อมสนับสนุนปัจจัยยังชีพยามเกิดภัย เราประชาชนจะมีงานให้รัฐบาลส่วนกลางทำน้อยมาก....นี่พอจะเรียกว่าเป็นการจัดการภัยพิบัติแนวใหม่ได้หรือไม่?