- ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชาชนมีปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐานร้อยละ 28 หรือประมาณ 110,000 ครัวเรือน ทั้งที่เป็นบ้านที่ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง สภาพทรุดโทรม ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นที่ต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากที่มีปัญหาที่ดินทำกินเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกิน ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินริมฝั่งทะเล ในที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะที่เลิกใช้เป็นที่สาธารณะร่วมกันแล้ว ทำให้ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและอยู่อาศัย
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ปฏิบัติงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2544 มีกิจกรรม/โครงการที่ดำเนินการหลายโครงการคือ โครงการบ้านมั่นคงที่ได้ดำเนินการ 50 โครงการ 120 ชุมชน 7,521 ครัวเรือน กองทุนสวัสดิการชุมชน 190 ตำบล การรับรองสถานภาพองค์กรชุมชนและการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน การจัดการทรัพยากรโดยองค์กรชุมชน สื่อ/วิทยุชุมชน การพัฒนาชุมชนประมงพื้นบ้าน การแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในชนบท การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการเยียวยาครอบครัวที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมพื้นที่ที่สถาบันให้การสนับสนุนประมาณ 200 ตำบล จาก ตำบลทั้งหมด 413 ตำบล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีประสบการณ์ในการจัดการงานพัฒนาโดยชุมชน
- คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2552-2555 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นแผนเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ 5,020 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552-2555
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ครัวเรือนยากจนที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักในการดำเนินการ
- เพื่อให้ชุมชนชนบทที่มีปัญหาที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยได้ร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาที่ดิน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การมีสิทธิในที่ดินที่มั่นคง
- เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลักการทำงานที่สำคัญ
- ให้กระบวนการทำงานที่ชุมชนเป็นแกนหลักในการร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการเชื่อมโยงครือข่าย
- สร้างความเข้าใจแก่ชุมชน เพื่อให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานมากที่สุด
- การประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนที่เกี่ยวข้อง การร่วมทำงานและสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน กับการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย
พื้นที่เป้าหมายและงบประมาณ
พื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยครัวเรือนยากจน ในระยะเวลา 3 ปี รวม 100,000 ครัวเรือน (ปี 2553 24,000 ครัวเรือน) แยกเป็นการซ่อมแซม ปรับปรุงหรือต่อเติมบ้าน ร้อยละ 70 ก่อสร้างบ้านใหม่ร้อยละ 30และพื้นที่เป้าหมายการแก้ไขปัญหาที่ดิน ปีละ 20 ตำบล
ระยะเวลาดำเนินการ
ปีงบประมาณ 2553-2555
การบริหารโครงการ
กำกับดูแลโครงการโดยคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
โครงสร้างการบริหารโครงการ
การซ่อมแซมและสร้างบ้าน
1 หลักเกณฑ์ทั่วไป
สถานะครอบครัวของผู้สมควรได้รับการช่วยเหลือ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อประกอบกันคือ
1.) ครอบครัวยากจน รายได้น้อย ไม่แน่นอน
2.) มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือบุคคลที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ
3.) ครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต/ทอดทิ้ง
2 กรณีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
ให้เป็นไปตามเกณฑ์ข้อใด ข้อหนึ่งหรือหลายข้อประกอบกันคือ
1.) บ้านที่อยู่อาศัยทรุดโทรม สภาพเก่ามาก
2.) โครงสร้างวัสดุก่อสร้างบ้านไม่ถาวร ไม่ทนทาน
3.) ขนาดบ้านคับแคบ ไม่เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัย มีสมาชิกในบ้านหลายคน
4 กรณีการก่อสร้างบ้านใหม่
1) ครอบครัวที่ไม่มีบ้านอยู่อาศัยของตนเอง ต้องอาศัยอยู่กับญาติ/ ผู้อื่น
2) บ้านที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรมมาก ยากที่จะซ่อมแซม
3) อาศัยอยู่กับครอบครัวเดิม อยู่กันอย่างแออัด
4) มีที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างบ้านได้ หรือที่ดินของตนเอง/ของครอบครัว
5.) ครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติ
ทั้งนี้คณะทำงานพัฒนาที่อยู่อาศัยตำบลอาจกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความรักความสามัคคีของชุมชนให้มากยิ่งขึ้น