playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก
 

IMG 4189 resize

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีคลองน้อยใหญ่จำนวนมาก การตั้งถิ่นฐานริมคลองของผู้คนมีมาช้านานแล้ว แต่เริ่มมีมากขึ้น เมื่อมีการขุดคลองในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองใกล้เคียง คลองจึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนขนถ่ายสินค้ามาตั้งแต่ครั้งนั้น

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการบริการ ทำให้กรุงเทพมหานครเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ผู้คนจำนวนมากอพยพจากต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในเมือง ซึ่งการสร้างบ้านริมคลองเป็นเป้าหมายหนึ่งของแรงงานเหล่านั้น

นับตั้งแต่รัฐบาลมีโครงการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยของชุมชนในเมืองหรือโครงการบ้านมั่นคง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เป็นผู้รับผิดชอบ ปรากฏว่าชุมชนริมคลองมีความตื่นตัว ต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการนี้เป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2546 – 2557 ได้แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองบางบัวแล้ว จำนวน 30 ชุมชน 4,868 ครัวเรือน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 714 ครอบครัว และอยู่ในกระบวนการอีก 4,153 ครัวเรือน และมีอยู่หลายชุมชนทำงานประสบผลสำเร็จเป็นพื้นที่รูปธรรมหรือเป็นกรณีศึกษาให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ริมคลอง เช่น ชุมชนบางบัว เป็นต้น

อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2554 พบว่ามีบางพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเนื่องจากมีการปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแนวคลอง ทำให้ขนาดของคลองแคบลง จนเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ

ข้อมูลของสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานครพบว่า มีผู้คนเข้ามาสร้างบ้านริมคลองจำนวน 1,161 คลอง กว่า 23,500 ครัวเรือน ประชากร 94,000 คน ซึ่งการก่อสร้างบ้านรุกล้ำลำคลอง นอกจากส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำแล้ว สภาพการอยู่อาศัยยังแออัด สิ่งแวดลล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวคลองและทางระบายน้ำเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2558 ผ่านมา โดยต่อมาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแนวทางการจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง

นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า สถาบัน ฯ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการรุกล้ำคูคลอง โดยเป็นแผน 3 ปี (2558 – 2560) เป้าหมายใน 2 คลองหลักคือคลองบางบัวและคลองลาดพร้าว 66 ชุมชน 9,961 ครัวเรือน ประชากรประมาณหกหมื่นคน

“เราจะใช้หลักการของโครงการบ้านมั่นคงเป็นแนวในการทำงานคือ ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมั่นคงมีระบบชุมชน มีสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมที่ดีมีรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความสามารถในการใช้จ่ายของชาวชุมชน และคำนึงถึงสิทธิการครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชน” นายพลากรกล่าว

ผู้อำนวยการ พอช.เผยอีกว่า แนวทางบ้านมั่นคงจะเน้นสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ของคนในชุมชนใหม่ เป็นชุมชนที่เข้มแข็งจัดการตนเองได้ ดังนั้นเราจึงสนับสนุนให้เกิดแผนและทิศทางการพัฒนาชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ กายภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชนเพื่อทำงานร่วมกัน ให้มีการออมทรัพย์เพื่อสร้างทุนภายในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมคิดค้นระบบต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งจัดการตนเองได้ ทั้งนี้เป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีของคนริมคลอง

“ทั้งหมดนี้คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เราทำมานานแล้ว เป็นการพัฒนาที่หวังผลทั้งกายภาพ คุณภาพชีวิตและคุณภาพทางสังคม นั่นคือการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของประชาชน ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการทำงานมากกว่าการพัฒนาที่มุ่งผลทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เราจึงหวังว่าภายใน 3 ปี จะบรรลุผล ทำให้ชุมชนริมคลองมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง คลองและพื้นที่ริมคลองได้รับการพัฒนา ใช้ประโยชน์ทั้งเรื่องการระบายน้ำ เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนและคนเมือง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อันเป็นเป้าหมายในการแก้ปัญหาของรัฐบาล”

สำหรับการดำเนินงานตามแผนสามปี ประกอบด้วยชุมชนริมคลอง 66 ชุมชน จาก 2 คลอง คือ คลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ 8 เขต คือ จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน วังทองหลาง และห้วยขวาง โดยตั้งเป้าดำเนินการในปี 2558 จำนวน 24 ชุมชน 3,800 ครอบครัว ปี 2559 จำนวน 16 ชุมชน 2,811 ครอบครัว และปี 2560 จำนวน 26 ชุมชน 3,370 ครอบครัว

การพัฒนาที่อยู่อาศัย จะจัดในรูปแบบของสหกรณ์เคหะสถานหรือรูแปบบอื่นที่ใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชนที่แตกต่างกันตามบริบทและความเป็นจริงของแต่ละแห่ง เช่น 1) ปรับปรุงในที่ดินเดิม โดยการเช่าที่ดินเพื่อจัดระเบียบการอยู่อาศัย รองรับครอบครัวที่รุกล้ำคูคลอง 2) กรณีที่ไม่อาจอยู่ในที่ดินเดิมได้ ก็จะย้ายไปสร้างชุมชนในที่ใหม่ โดยการซื้อหรือเช่าที่ดินใหม่ 3) การเช่าซื้ออาคารในโครงการที่มีอยู่แล้วเช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของกระทรวงการคลัง เป็นต้น

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการก็จะใช้ตามเกณฑ์ของโครงการบ้านมั่นคง โดยสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภค งบอุดหนุนการสร้างบ้าน งบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส และการใช้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ตลอดจนงบประมาณในการบริหารจัดการของชุมชน

ในกระบวนการทำงาน ขณะนี้ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แล้วใน 7 ชุมชน เช่นชุมชนคนรักถิ่นคลองเปรมประชากร ชุมชนสะพานไม้ 2 ชุมชนแจ้งวัฒนะซอย 5  ชุมชนคลองสอง เป็นต้น โดยมีการสร้างบ้านพักชั่วคราว (โคลงเหล็ก) เพื่อรองรับชุมชนที่จะย้ายออกไป และอีกหลายชุมชนอยู่ในกระบวนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยมีชุมชนที่มีประสบการณ์เป็นอาสาสมัครทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย

“เมื่อบ้านเมืองมีความจำเป็นต้องพัฒนา ใช่ว่าพวกเราจะไม่เห็นความสำคัญ แต่ควรเป็นการพัฒนาบนความลงตัวเรื่องความจำเป็นของส่วนรวม ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมคุณภาพชีวิตและวิถีชุมชนของชาวชุมชน

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter