
จ.นครปฐม/ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ที่บ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำหนัก) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีการบันทึกเทปรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” โดยมี ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ นายจิรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และนางสาวสุชาดา จิตประสพเนตร ประธานกลุ่มออมทรัพย์ราชผาทับทิมร่วมใจ ร่วมบันทึกเทปครั้งนี้ โดยมีนางสาวปัฐมาภรณ์ หาญชาญชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา คาดว่าจะนำออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในช่วงเวลาหลัง 18.00 น.
นายจิรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา จำนวน 12 ชุมชน รวม 309 ครัวเรือน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 4 แนวทาง คือ 1.ย้ายเข้าไปอยู่แฟลต ขส.ทบ.ใกล้รัฐสภาแห่งใหม่ ดำเนินการไปแล้ว รวม 64 ครัวเรือน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมและเงินช่วยเหลือบางส่วน โดยผู้ที่เข้าอยู่อาศัยต้องจ่ายค่าเช่าผ่านสหกรณ์เคหสถานให้แก่กรมธนารักษ์ห้องละ 1,001 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเช่า 30 ปี
2.จัดหาที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่ โดยชาวชุมชนได้ไปดูที่ดินหลายแปลง และได้ข้อตกลงว่าจะจัดซื้อที่ดินบริเวณ อบต.บางใหญ่ ตำบลบางใหญ่ จ.นนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน ราคา 12 ล้านบาทเศษ สามารถรองรับชาวบ้านได้ 67 ครัวเรือน ขณะนี้มีชาวบ้านแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าอยู่ 58 ครัวเรือน โดย พอช.พร้อมจะให้สินเชื่อในการสร้างบ้านและซื้อที่ดิน แต่ยังรองบประมาณช่วยเหลือ (ชดเชยค่ารื้อย้าย) จากกรุงเทพมหานครที่ส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะสามารถซื้อที่ดินได้
3.ขอเช่าที่ดินบริเวณที่ติดกับแฟลต ขส.ทบ.จากกรมธนารักษ์เพื่อให้การเคหะสร้างแฟลตให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเข้าอยู่อาศัย รูปแบบเป็นอาคารสูง 5 ชั้น จำนวน 40 ห้อง ขนาดห้องละ 33 ตารางเมตร ระยะเวลาเช่า 30 ปี ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
4.เข้าอยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งชาวชุมชนได้เดินทางมาดูห้องแล้ว และทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา จำนวน 23 ห้อง ขนาดห้องละ 33 ตารางเมตร ราคาประมาณ 400,000 บาท โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อครัวเรือนละ 360,000 บาท (ระยะเวลาผ่อนส่ง 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี หรือผ่อนส่งเดือนละ 2,376 บาท รวม 240 งวด) ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบจากชาวบ้านและเงินชดเชยค่ารื้อถอนบ้านจาก กทม.
“ชาวบ้านมาดูห้องพักที่นี่แล้วรู้สึกพอใจ เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งเรื่องอากาศที่ปลอดโปร่ง มีสถานที่พักผ่อน มีสวนหย่อม และอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 30 นาที และหากชาวชุมชนได้รับเงินค่าชดเชยจากทางกรุงเทพมหานครแล้ว ก็จะสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนั้น พอช.ก็จะสนับสนุนชาวบ้านเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพและรายได้ต่อไป” นายจิรศักดิ์กล่าว

ดร.ธัชพล กาญจนกูลผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะมีแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2 รูปแบบ คือ 1.จัดหาที่ดินของการเคหะฯ ที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างเป็นอาคารสูง เช่น ที่ดินบริเวณซอย 20 มิถุนายน ย่านถนนสุทธิสาร และที่ดินติดกับแฟลต ขส.ทบ.ใกล้รัฐสภาใหม่ 2.จัดหาโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านเอื้ออาทรท่าตำหนัก ซึ่งชาวบ้านจากชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาได้มาดูแล้ว และกำลังจะทำสัญญาเพื่อเข้าอยู่อาศัยรวม 23 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีห้องว่างอีก 495 ห้อง สามารถรองรับชาวชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาและชุมชนริมคลองได้อีก
“โครงการบ้านเอื้อทรที่ท่าตำหนักมีความเหมาะสม เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ สามารถเดินทางได้สะดวก และบริเวณโดยรอบก็มีโรงเรียนสำหรับบุตรหลาน มีโรงพยาบาล มีวัด และในชุมชนก็มีกิจกรรมต่างๆ รองรับชาวบ้านได้ เช่น มีสหกรณ์ มีกลุ่มเยาวชน ผู้สูงอายุ” ผู้ว่าการเคหะฯ กล่าว
นางสาวสุชาดา จิตประสพเนตร ประธานกลุ่มออมทรัพย์ราชผาทับทิมร่วมใจ กล่าวว่า ชาวบ้านเริ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 มีสมาชิก 23 ครัวเรือน โดยออมอย่างต่ำครัวเรือนละ 300 บาท ตอนนี้มีเงินออมรวมกันประมาณ 40,000 บาทเศษ หากได้รับเงินค่าชดเชยรื้อถอนจาก กทม.ได้เร็ว ชาวบ้านก็จะเริ่มย้ายเข้าอยู่อาศัยได้ภายในเดือนมีนาคมนี้

“ครอบครัวของหนูและเพื่อนบ้านอีกหลายคน เดิมเคยอาศัยอยู่ในเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ต่อมาพอเรือเริ่มผุ จึงปลูกสร้างบ้านอยู่ริมแม่น้ำ อยู่กันมานานไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี เมื่อก่อนก็เคยมีข่าวว่าทางราชการจะมาไล่ไม่ให้อยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะทำอะไร แต่พอครั้งนี้รัฐบาลมีโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำจริง ชาวบ้านจึงเตรียมตัว มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเอาไว้เป็นทุน และได้รับการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยจาก พอช.และหน่วยงานอื่นๆ ชาวบ้านจึงไม่ได้ต่อต้าน เพราะอยากจะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคง ที่ผ่านมาเวลาหน้าน้ำบ้านเรือนก็จะถูกน้ำท่วมเสียหาย บ้านก็ทรุดโทรม พอมาดูที่ท่าตำหนักแล้วก็พอใจ ได้บ้านใหม่ มี 2 ห้องนอน มีห้องนั่งเล่นด้วย แม้ว่าต่อไปจะมีภาระค่าผ่อนส่งบ้านแต่ก็พร้อม ไม่ต้องกลัวเรื่องน้ำท่วมหรือถูกไล่ที่อีก” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ กล่าว
สำหรับชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่ง
แม่นำเจ้าพระยามีจำนวน 10 ชุมชน รวม 285 ครัวเรือน คือ (1.) ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ (2.) ชุมชนวัด
สร้อยทอง เขตบางพลัด (3.) ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี (4.) ชุมชนเขียวไข่กา (5.) ชุมชนซอยศรีคาม (6.) ชุมชนราชผาทับทิม (7.) ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม (8.) ชุมชนมิตรคาม 1 (9.) ชุมชนมิตรคาม 2 (10.) ชุมชนวัดเทวราชกุญชร รวม 285 ครัวเรือนนอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 2 ชุมชน ซึ่งอยู่ในแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช. ด้วย คือ (1.) ชุมชนองค์การทอผ้า และ (2.) ชุมชนริมไทร รวม 24 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 309 ครัวเรือน
รายงานโดย งานสื่อสารองค์กร พอช.