playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

banner landresolve

ชุมชนบ้านป่ากล้วย หมู่ 14 ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นชนเผ่าม้ง และเป็นชุมชนหนึ่งใน 24 ชุมชนของเครือข่ายลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ-แม่แตะ เครือข่ายนี้มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนบนพื้นที่สูง ชุมชนพื้นราบ หน่วยอุทยานแห่งชาติออบหลวง และดอยอินทนนท์ องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เพื่อการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าอย่างยั่งยืน และสมดุล

ชุมชนม้งบ้านป่ากล้วย ได้ทำกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน คือ การปักเขตแนวแบ่งแยกระหว่างที่ดินทำกินของชาวชุมชน ออกจากเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนแห่งชาติ การกันแนวเขตแดน ได้รับการผลักดันจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง(ศจพ.)

การแบ่งแยกเขตแดนระหว่างที่ดินทำกินของชาวบ้านป่ากล้วยกับเขตป่าอนุรักษ์ ไม่ใช่เพียงการนำเสาปูนไปปักเองตามอำเภอใจ แต่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิแล้ว เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ร่วมกับชุมชนและคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ-แม่แตะ เดินสำรวจแนวเขตที่ดินทำกินในเขตป่า หลังจากนั้นชาวบ้านดำเนินการวาดแผนที่ขนาดมาตราส่วน 1:4,000 เสร็จแล้วจึงนำมาให้ทุกฝ่ายตรวจสอบร่วมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับรองความถูกต้อง หลังจากนั้นจึงดำเนินการปักแนวเขตที่ดินได้

การกันแนวเขตที่ดินเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดอาณาเขตของชาวบ้านเพื่อไม่ให้มีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ และยังส่งเสริมให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า การทำแนวกันไฟ

ชุมชนบ้านม้งป่ากล้วยเริ่มดำเนินการปักแนวเขตตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา และทำพิธีปักแนวเขตครั้งสุดท้ายในวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ. เป็นประธาน พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนทั้ง 24 ชุมชนของเครือข่ายลุ่มน้ำทั้งชาวปกาเกอญอ ชาวม้ง คนพื้นราบ เจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่ นายอำเภอ ทหาร นักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม กว่า 500 ชีวิตเข้าร่วม

ในโอกาสเดียวกันนี้ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัด “พิธีโป้งเย่ง เฌอเจ่” เป็นพิธีกรรมด้านการเลี้ยง “ผี” ตามคติของชาวม้ง พิธีกรรมนี้เป็นการขอบคุณ “ผี” อำนวยให้การดำเนินกิจการต่างๆเป็นไปด้วยความสำเร็จเรียบร้อย ผู้กระทำพิธีคือ หมอผี ประจำชุมชน และในพิธีครั้งนี้มีการเซ่นไหว้ผีด้วยวัว หลังเสร็จพิธีก็จะนำเนื้อวัวมาทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีมุมหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ เด็กนักเรียนราว 30 คน เข้าร่วมทั้งกิจกรรมพิธีกรรม และฟังผู้ใหญ่พูดคุยเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าเพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชน

คุณครูอัมพวัน แพ้วสุวรรณ ครูโรงเรียนป่ากล้วยพัฒนา ไขความให้ฟังว่า เด็กๆที่มาร่วมกิจกรรมกำลังเรียนอยู่ชั้นป.5 กับชั้นป.6 การเข้าร่วมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งวิชาหลักสูตรชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ เมื่อชุมชนมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ เช่น การปลูกป่า การทำแนวกันไฟ ก็จะให้นักเรียนเข้าร่วมตลอด เด็กนักเรียนรุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ 13 แล้วที่โรงเรียนส่งเสริมให้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า และน้ำ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ครูอัมพวัน ขยายความต่อว่า ครูพยายามเน้นให้นักเรียนได้รู้ว่า การที่เรารู้จักการอนุรักษ์ป่าและน้ำ ไม่ใช่เพียงชุมชนเราเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ยังมีชุมชนอื่น เช่นชุมชนที่อยู่พื้นราบ และเมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำสำหรับการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อมดี ประเทศชาติก็ดีไปด้วย ครูเคยพานักเรียนไปถึงทะเลเพื่อให้รู้ว่าน้ำจากป่าที่บ้านเราไหลไปถึงไหน ระหว่างนี้เราก็จะสอดแทรกเรื่องคุณธรรมไปด้วย ทั้งหมดเราเน้นที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่นักเรียน เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้นเขาก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ การที่เขาอนุรักษ์ป่าจะทำให้เขาได้ใช้ประโยชน์ในอนาคตอย่างยั่งยืน

ด้านพ่อหลวงเฒ่า ธาราวโรดม ผู้ใหญ่บ้านป่ากล้วย กล่าวถึงเด็กๆนักเรียนว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองชอบใจที่คุณครูสอนแบบนี้ ทำให้เด็กได้รับการปลูกฝังว่าป่าผืนนี้ไม่ใช่เป็นของรัฐเท่านั้น ถ้าเราเอาใจใส่ดูแลรักษาเราก็จะได้ประโยชน์ และไม่ใช่เพียงแค่หมู่บ้านเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหมู่บ้านอื่นที่อยู่ปลายน้ำด้วย และสิ่งดีๆ ที่นักเรียนได้เรียนรู้ก็จะเอาไปบอกต่อกับพ่อแม่

พ่อหลวงเฒ่า กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กนักเรียนจะได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านทั้งการทำแนวกันไฟ การปลูกป่า การเดินสำรวจป่า ได้ดูแผนที่ และเห็นพวกผู้ใหญ่ทำแผนที่ ปักเขตที่ดิน ทำให้เด็กๆ ได้รู้เกี่ยวกับชุมชนของเรา

“สังเกตว่าเมื่อตอนหมู่บ้านเราไปร่วมกับหมู่บ้านข้างล่างปลูกป่า จะมีเด็กๆ ของบ้านเราไปร่วมมากกว่าเด็กจากหมู่บ้านอื่น ตรงนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่าการเรียนของเด็กประสบผลสำเร็จ” พ่อหลวงเฒ่า แห่งบ้านม้งป่ากล้วยกล่าว

จากแง่มุมที่ครูโรงเรียนบ้านป่ากล้วยพัฒนาส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน เด็กๆ วันนี้จะเป็นกำลังสำคัญของชุมชนในสืบทอดวิถีคนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับคำกล่าวของ นพ.ประเวศ วะสี ว่า “การศึกษากับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้จากชีวิตจริง”

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter