playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

ประเด็นเรื่องชุมชนแออัดกับปัญหาที่ดินได้ถูกยกมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิ เมื่อปลายปี 2547 เนื่องจากหลายชุมชนตั้งอยู่ในที่ดินของเอกชน และของรัฐ เจ้าของที่ดินขับไล่ไม่ให้ชาวบ้านอยู่อาศัย จนนำไปสู่การร้องเรียนเพื่อขอความยุติธรรม และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ปัญหาที่ดินของชุมชนบางส่วนคลี่คลายลง  ในขณะที่ชาวบ้านทั้ง 18 ชุมชนก็ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต” ขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของตนเอง

 นายบุญชัย  จรัสรัศมี แกนนำเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต บอกว่า จังหวัดภูเก็ตมีชุมชนที่ยังมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยทั้งหมด 18 ชุมชน จำนวน 2,916 ครอบครัว ขณะนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้แล้ว 5 ชุมชน คือ ชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา จะเช่าพื้นที่ของ อบจ.ภูเก็ต อีก 3 ชุมชนที่อยู่ในที่ราชพัสดุ คือ ชุมชนบ้านแฝด ชุมชนหลังป้อม ชุมชนหน้าวัด บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จะแก้ปัญหาโดยการเช่าที่ราชพัสดุเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และชุมชนขจรเกียรติ ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชน ปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง และอยู่ในช่วงการดำเนินการซื้อที่ดินแห่งใหม่เพื่อสร้างบ้านตามโครงการ ส่วนอีก 13 ชุมชน ซึ่งยังไม่มีข้อยุติอยู่ในที่ดินสาธารณะของรัฐ 5 ชุมชน ที่ดินราชพัสดุ 1 ชุมชน ที่ดินเอกชน 3 ชุมชน และที่ดินป่าชายเลนและอุทยานแห่งชาติ 4 ชุมชน ซึ่งชุมชนต้องการเช่าที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัยหรือสิทธิ์ชุมชน อาจจะเป็นโฉนดชุมชน แต่เบื้องต้นต้องมีการกันแนวเขตของชุมชนให้ชัดเจนก่อนที่จะเสนอให้เป็นสิทธิของชุมชน

นางปรีดา  คงแป้น อนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินสึนามิ ปัญหาที่ดินของจังหวัดภูเก็ตที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ มีทั้งหมด 18 ชุมชน ขณะนี้สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว 5 ชุมชน ยังคงเหลืออีก 13 ชุมชนที่ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ แต่จากการประชุมหารือกันหลายรอบทำให้ได้ข้อยุติแล้วว่า ที่ดินของรัฐที่ประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่นั้น จะให้เช่าตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องมีการวางผังการอยู่อาศัยใหม่ เพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม โดยให้ชุมชนเป็นตัวหลักในการดำเนินการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นผู้ประสานงาน

สำหรับชุมชนที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั้น เช่น ชุมชนประชาสามัคคี ที่ ต.เกาะแก้ว ต้องการสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยอย่างถาวร ชุมชนบ้านสะปำ ชุมชนเกาะผี ชุมชนคลองปากบาง ชุมชนโคกโตนด-เฉลิมพระเกียรติ ชุมชนหาดแสนสุข ต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค ชุมชนปลากระตัก ชุมชนบ้านแหลมหลา ชุมชนลายัน ชุมชนบ้านหินรากไม้และชุมชนหินลูกเดี่ยว ต้องการให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เพราะชาวบ้านเห็นว่าได้เข้าไปอยู่ที่ในที่ดินก่อนที่จะมีการประกาศเป็นที่ของรัฐ

ส่วนชุมชนบ้านหมากปรก อ.ถลาง ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน จะมีการย้ายชุมชนไปอยู่ในที่ดินใหม่ ชุมชนหินลูกเดียว ซึ่งเป็นชุมชนมอร์แกน พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ชุมชนเกาะผีชาวบ้านต้องการกันแนวที่ดินให้ชัดเจนและต้องการบ้านมั่นคงด้วย และชุมชนคลองปากบาง หาดป่าตอง ที่ยังไม่ชัดเจนว่าอีก 3 ปีกว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะบ้านถาวรที่ ITV สร้างให้จะอยู่ได้เพียง 5 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่มาแล้ว 1 ปีกว่า

ล่าสุด ชุมชนราไวย์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้หาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังประสบปัญหา  เนื่องจาก อบจ.ภูเก็ตได้ทำการขยายถนนใหม่ให้เป็นขนาดสี่เลน โดยถนนเส้นดังกล่าวได้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของชุมชน และทางเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่ขยายถนน จำนวน 6 หลัง ทำการรื้อย้ายบ้านออกไปภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และพากันร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา

 ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่หลังฉากอันงดงามของเกาะภูเก็ตอันเลื่องชื่อ ที่กำลังรอคอยให้ทุกฝ่ายเข้าช่วยแก้ไข เพื่อจะได้ทำให้ภูเก็ตมีความสวยงามมากกว่าที่เป็นอยู่

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter