หลังภัย "สึนามิ" ถล่ม 6 จังหวัดชายแดนฝั่งทะเลอันดามัน นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้กับชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แล้ว ภัยในครั้งนี้ยังทำหน้าที่ เปิดฝาที่ถูกปิดสนิทมานานให้สาธารณะชนได้รับรู้ความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ดินที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน
ความนี้ปรากฎเมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ประสบภัยหนีไปอยู่ที่อื่นแต่พอจะกลับไปอยู่ในที่ดินเดิมก็กลับไปไม่ได้ พบว่ามีเอกชนมาแสดงความเป็นเจ้าของบ้าง เป็นที่รัฐบ้าง เป็นที่สาธารณะบ้าง ฯลฯ จนถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้ชุมชนยังไม่มีที่อยู่ที่ถาวร ชีวิตยังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน เกิดกรณีพิพาทอยู่ในขณะนี้ก็หลายราย
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านหลายองค์กร เพื่อหาข้อยุติ แต่ผลก็คืบหน้าไปได้อย่างช้า ๆ อีกทั้งส่วนใหญ่นอกจากไม่คืบหน้าแล้วยังเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น
หน่วยงานที่แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดในขณะนี้ก็เห็นจะได้แก่ ศูนย์ประสานงานเพื่อต่อสู้เอาชนะความยากจนภาคประชาชน ที่ได้มีการตั้ง "คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน" ขึ้น โดยมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้มีการทำงานที่ชัดเจน ตั้งอยู่บนหลักที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
คณะอนุกรรมการได้เริ่มทำงานอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา มีการลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงทุกชุมชน เอาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดิน ประชาชน หน่วยงานของรัฐ มาเจอกัน หาทางออกร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาลุล่วงไปแล้ว 5 ชุมชน เช่น ทุ่งหว้า ปากเตรียม ท่าฉัตรไชยเป็นต้น ส่วนชุมชนอื่น ๆ ก็มีผลการทำงานคืบหน้าเป็นสำคัญ
ในส่วนของจังหวัดตรังและสตูล ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านอุปกรณ์การประมงนั้น โดยแท้แล้วปัญหาเรื่องที่ดินก็มีความเข้มข้นไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ เลย
นายแสวง ขุนอาจ แกนนำชุมชนบ้านตาเสะ เล่าให้ฝังว่า "ชาวบ้านตาเสะเริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 ก่อนรัฐให้สัมประทานหลุมถ่าน ก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน และประกาศให้กรมเจ้าท่าดูแลที่ดินริมน้ำ ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลรักษาป่าชายเลนเดิม 300 ไร่ ตั้งแต่ปี 2535 และได้ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตอนนี้ชุมชนดูแลป่าชายเลนประมาณ 1,500 ไร่ เมื่อเราดูแลป่าชายเลนก็เห็นได้ว่า กุ้ง ปลา ปู ก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น พวกเราต้องการอยู่ที่นี่อย่างถูกต้อง จัดเขตการอยู่อาศัยให้เป็นเขตชุมชนและป่าชายเลนที่ชุมชนดูแลรักษาให้ชัดเจน เราไม่ต้องการสิทธิ์การอยู่เป็นราย ๆ แต่ต้องการให้รับรองสิทธิ์ชุมชน ขณะนี้ได้มีการจัดให้มีคณะทำงานดูแลเรื่องนี้ สำรวจข้อมูลแล้ว มีอยู่ในป่าชายเลน 18 ครอบครัว ที่กรมเจ้าท่า 67 ครอบครัว เมื่อทำเขตชุมชนชัดเจนแล้ว จะดูแลไม่ให้ขยายบริเวณออกไป และปลูกป่าชายเลนกั้นคลื่นเพิ่มขึ้น"
นายธเนศ นิยม เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่า "ทางที่ดินยินดีจะมาช่วยรังวัดเขตบริเวณชุมชนอยู่อาศัยแบบแปลงรวม ให้ชาวบ้านช่วยกันปิดเขตบริเวณที่อยู่อาศัยอยู่แล้วนัดหมายวันที่จะมาวัดเขตกันได้เลย"
ส่วนนายอนุสรณ์ อ่อนเกลี้ยง หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 32 เห็นว่าสามารถรับรองสิทธิ์ให้ชาวบ้านอาศัยอยู่อยู่ต่อไปได้ โดยการเสนอขออนุมัติ ครม. และส่วนที่ชาวบ้านขอให้จัดเขตป่าชายเลนที่ชุมชนดูแลรักษาให้ชัดเจนนั้น ชาวบ้านสามารถทำโครงการดูแลรักษาป่าชายเลนที่ขยายพื้นที่เพิ่ม เพื่อเสนอให้ทางการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน เห็นว่า "ถ้าชาวบ้านยืนยันว่าอยู่มาดั้งเดิมก่อนการประกาศเขตป่าสงวน กรมเจ้าท่าควรจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งถ้าพิสูจน์สิทธิ์ได้ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนก็จะสามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้"
ในกรณีของชาวบ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยดั้งเดิมปัจจุบันมี 480 ครอบครัว มีปัญหาที่ดินในการอยู่อาศัย 292 ครอบครัว ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นไทยมุสลิมอาชีพประมง สวนยาง และให้บริการนักท่องเที่ยว สภาพการอยู่อาศัยมีทั้งที่เป็นที่เช่าเอกชน 100 ครอบครัว (เจ้าของจะให้ย้ายออกภายใน 2 ปี) อาศัยในที่ดินป่าสงวนที่มีสภาพเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม ที่ดินริมหาด อาศัยที่ดินญาติ รวมทั้งกลุ่มที่มีที่ดินอยู่อาศัย แต่ที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์
จากการประชุมร่วมกันของชาวบ้านต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้มั่นคงขึ้น โดยจะขอใช้ที่ดินป่าสงวนบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างบ้านผู้ประสบภัยไปแล้วส่วนหนึ่ง(การเคหะแห่งชาติสร้างบ้านให้ 12 หลัง) เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับ 210 ครอบครัว รวมทั้งให้ทางการรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัย ผู้ที่อยู่ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม อ่าวปากั้ง อีก 92 ครอบครัว สนับสนุนการจัดผังและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะได้มีการรังวัดเพื่อพิสูจน์สิทธิ์และดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ที่ทำกินต่อไป
ในกรณีพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดตรังก็ให้คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยจังหวัดเข้าไปจัดทำข้อมูลโดยเฉพาะการรังวัดเขตพื้นที่ให้ชัดเจนก่อนนำเสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการครั้งต่อไป
ส่วนพื้นที่ใน จ.สตูล ก็มีปัญหาที่ดินหลายชุมชนเช่นที่บ้านสนใหม่ บ้านสนกลาง และบ้านกาแบ็ง อ.ละงู บ้านบ่อเจ็ดลูก เกาะบุโหลน บ้านท่าชะม่วง บ้านปากละงู บ้านหลอมปืน ซึ่งลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกันในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ และบางพื้นที่หน่วยงานไปใช้ประโยชน์บนที่ดินซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อน คณะอนุกรรมการจึงได้มีมติให้สำนักงานที่ดินดำเนินการสำรวจพิสูจน์สิทธิ์เพื่อออกโฉนด สำหรับพื้นที่ที่หน่วยงานไปใช้พื้นที่สร้างศูนย์เพาะเลี้ยงประมงน้ำกร่อย แต่ชาวบ้านต้องการพื้นที่ไว้เป็นป่าชุมชนนั้น ให้จังหวัดไปพิจารณาถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการใช้พื้นที่อีกครั้ง
นอกจากนี้มีการเสนอประเด็นปัญหาความขัดแย้งความขัดแย้ง เรื่องที่ดินในพื้นที่เอกชนใน จ.พังงา คือ บ้านในไร่ บ้านทับตะวัน และบ้านแหลมป้อม ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น คณะอนุกรรมการจึงได้ตั้งคณะทำงานที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อประสานให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมและยอมรับร่วมกัน
ด้วยการทำงานที่เป็นจริงเป็นจังมีเจ้าภาพที่ชัดเจนโดยทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำ ยึดถือความถูกต้องและเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าปัญหาที่ดินสึนามิจะถูกแก้ไขให้หมดไปได้ในที่สุด