playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

เหตุที่ชาวบ้านหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไป เพราะปัจจุบันนี้มีการส่งเสริมของหน่วยงานต่างๆ จากปลูกข้าวไร่ เลี้ยงวัวในอดีต ก็มาปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าไม่ต้องใช้สารเคมีมากและไม่ทำลายดิน สามารถปลูกในที่เดิมได้หลายๆ ครั้ง

เรื่องความในใจของชาวบ้านที่ได้จดจำไว้ในใจอยู่เสมอว่า “ไม่หนีไม่สู้ ทำมาหากินในที่ดินตรงนี้กันต่อไป มั่นใจในความสงบสยบความเคลื่อนไหว” เพราะเป็นอีกความพยายามหนึ่ง ในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่คุกคามมานาน โดยผู้ที่มีส่วนในความขัดแย้งกับกลายเป็นนายทุนกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดินผืนนี้มาช้านาน ซึ่งได้ตกเป็นจำเลย ในข้อหาบุกบุกรุกที่ดินทำกิน จนชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชนจังหวัดลำพูนขึ้น กำนันธนา ยะโสภา ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านศรีเตี้ย ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ชี้แจงให้ฟัง และชี้ให้ดูที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งในปัจจุบันนี้มีประมาณ 2,000 ไร่ รวมส่วนที่ชาวบ้านได้กันไว้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนด้วย  ส่วนพื้นที่ทำกินนั้นทุกวันนี้ ชาวบ้านได้ทำเป็นสวนปลูกต้นไม้ยืนต้นแล้ว

 เหตุที่ชาวบ้านหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไป เพราะปัจจุบันนี้มีการส่งเสริมของหน่วยงานต่างๆ จากปลูกข้าวไร่ เลี้ยงวัวในอดีต ก็มาปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าไม่ต้องใช้สารเคมีมากและไม่ทำลายดิน สามารถปลูกในที่เดิมได้หลายๆ ครั้ง

 กำนันธนา ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อปี 2508 รัฐบาลมีมติให้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องชาวบ้านตำบลศรีเตี้ย ตำบลหนองปลาสวาย และคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติก็ได้ลงความเห็นให้จัดที่ดินสาธารณะเพื่อทำกินให้กับพี่น้องจำนวน 15,000 ไร่ จำนวน 1,000 ครอบครัว แต่เนื้อที่ 15,000 ไร่ จัดได้จริงๆแค่ 10,000 ไร่ เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชัน ใช้เวลาตั้งแต่ปี 2508–2513 ทั้งตัดถนน วางแปลงถึงเสร็จ แล้วกรมที่ดินก็ได้มีการแจกใบจองให้กับชาวบ้าน โดยวิธีการจับฉลาก ใครได้หมายเลขไหนก็ไปทำกินตามที่จัดไว้ตามนั้น

 แต่พอจัดสรรที่ดินจับฉลากเสร็จแล้วปรากฏว่า ชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินที่จัดไว้ไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินทำกินของคนที่เขามีเจ้าของอยู่แล้ว จนเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ได้กันที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านที่ทำกินอยู่แล้วออกไปก่อน พื้นที่ไหนมีเจ้าของก็เว้นไว้แล้วกันออกไปตามนั้นจะได้ที่ดินตามความจริง เพราะหากทำแบบนั้นก็เท่ากับว่าเป็นที่ดินทับซ้อนกับที่ดินทำกินเดิมชองชาวบ้าน แม้จะมีการดำเนินการเรียกประชุมเพื่อแก้ไขกันใหม่อยู่หลายครั้ง แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า และกลับมีการเรียกใบจองคืนจากชาวบ้านด้วยเหตุเพื่อจะจัดบล็อกใหม่อีกครั้ง

 พอมาถึง ปี2533 ปรากฏว่าที่ตรงนั้นมีการออกโฉนดที่ดินจากกลุ่มทุน โดยออกโฉนดทับที่ตรงนั้นเสียหมด ชาวบ้านมารู้ทีหลังว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ดินเพื่อจัดให้ไว้ให้ชาวบ้านเข้ามาทำกิน กลุ่มทุนได้มาออกโฉนดทับซ้อนแล้ว บางส่วนได้ซื้อโดยใช้ช่องทางของผู้มีอิทธิพลของคนในพื้นที่ ออกโฉนดเต็มพื้นที่ไปหมด บางกลุ่มก็มารวบรัดเอาเสียมากกว่า หรือจะซื้อก็ซื้อจากคนที่ตายไปแล้ว จากที่เราตรวจพบ หรือซื้ออีกประเภทหนึ่งคือ ซื้อตั้งแต่เจ้าของที่ดินยังไม่เกิดก็มี ลักษณะนี้เป็นการซื้อที่ไม่ถูกต้อง เพราะซื้อแอบอ้างเอา ทำให้มันครบตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น พอชาวบ้านจะเข้าไปทำกินก็ถูกนายทุนกลุ่มนั้นมาขับไล่ บางคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

 เห็นว่าหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่องยังจะไม่จบเสียที พี่น้องก็จะไม่มีที่ดินทำกินแน่นอน จึงได้ตั้งคณะกรรมการในรูปแบบมีส่วนร่วม คือตั้งรวมกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรของชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน เพราะหากให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกับคณะกรรมการจะรู้ปัญหาในพื้นที่ดี

 กำนัลธนา บอกต่อ เรียกร้องมา 5 ปีกว่าเรื่องไม่คืบหน้า เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินทอง เสียกำลังใจ ผู้ที่เดือดร้อนก็เลยมาประชุมหารือกันว่า ในขณะที่เรียกร้องไปด้วยนี้ ผืนดินที่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินนั้น ได้เอามาแบ่งสรรปันส่วนกันทำกิน จึงได้เข้าไปตัดถนน จับฉลากกันอีกที จัดสรรได้ 546 ครอบครัว ครอบครัวละ 2 ไร่ 2 งาน ในจำนวน 2,000 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จัดเป็นที่ดินหน้าหมู่กันไว้เป็นป่าชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นก็เริ่มปลูกลำไย มะม่วง ปัจจุบันนี้บางคนปลูกมาได้ 9 ปีแล้วก็มี จนผลผลิตออกผล เมื่อขายผลผลิตได้แล้วก็นำเงินบางส่วนที่ได้มาลงขันกันครอบครัวละ 20 บาท เก็บได้ครั้งหนึ่งก็ 14,000 บาท เอามาไว้เป็นกองกลางเพื่อในการประชุมและจัดกิจกรรมในชุมชน

 ในปีเดียวกันนี้ก็ได้ตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้น ตอนแรกมีสมาชิกให้ความสนในอยู่ 85 คน นับปัจจุบันนี้มีมีสมาชิกอยู่ 885 คน ก็ใช้ดอกผลทางการเกษตรบางส่วนนั้นมาใช้กับกลุ่มปฏิรูปที่ดิน พอมีเงินทุนมากขึ้นก็เริ่มช่วยเหลือสมาชิก ทั้งค่ารักษาพยาบาล เดือนละ 90 บาทต่อราย จากเงินทุนเริ่มแรก มี 2,600 บาท นับปัจจุบันนี้ก็มีเงินทุนหมุนเวียน 1,700,000 บาท ต่อมาก็ช่วยด้านการกุศลต่างๆ ในชุมชน มีการจักงานวันผู้สูงอายุ วันเด็ก หรือเทศกาลต่างๆก็สบทบครั้งละ 1,000 บาท

 ด้านสาธารณูปโภค มีการขุดบ่อน้ำใช้ประโยชน์ร่วมกันบ่อละ 60,000 บาท รวม 20 กว่าบ่อ ส่วนไฟฟ้า ก็ต่อสายมาจากหมู่บ้าน แต่ก็ยังมีน้ำ ไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ จากนั้นจึงได้ทำเรื่องขอเสนอสินเชื่อสาธารณูปโภคและพัฒนาอาชีพของชาวชุมชน จำนวน 1,960,300 บาท ของโครงการการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยคนยากจนในชนบท จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มาทำระบบไฟฟ้า ประปา เพื่อต้องการให้เกิดการจัดการที่ดินโดยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก

 ด้านกฎระเบียบนั้น ชุมชนมีการการทำเป็นธนาคารที่ดิน หากใครขายที่ต้องได้รับเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนทุกครั้ง และจะขายได้ต่อเมื่อสมาชิกคนนั้นไม่สามารถทำงานได้แล้วและไม่มีผู้สืบทอดต่อไปจึงจะขายได้ แต่ทุกขบวนการต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุมัติเสียก่อนจึงจะซื้อขายได้ และการซื้อขายต้องเสียค่าบำรุงครั้งละ 500 บาท

“ผมเน้นกับชาวบ้านเสมอ เราไม่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกินมาก อย่าดิ้นรนมากทำแค่พอกิน ที่สำคัญให้ทำอยู่ในที่ดินเดิม เพราะไม่อยากมีปัญหา เมื่อก่อนยอมรับว่าไม่รู้จริงๆว่าพื้นที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ได้กลายไปเป็นของนายทุนแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนหวงแหนที่ดินที่มีอยู่มากและจะรักษาเอาไว้ให้ได้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป”

 แม้มาในระยะหลังนี้ชาวชุมชนตำบลศรีเตี้ยจะมองในแง่ดีว่า ปัญหาของที่นี่ยังไม่เลวร้ายเกินไปนัก เนื่องจากชาวบ้านได้ถูกยกฟ้องในคดีบุกรุกที่ดินแล้ว และชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐก็มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการคลี่คลายปัญหาให้กับชาวบ้าน ในอนาคตชาวชุมชนตำบลศรีเตี้ยต้องมีที่ดิน มีชีวิตที่ไม่ต้องไปหวาดกลัวว่าจะมีใครเข้ามาขับไล่อีกต่อไป

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter