“สิ่งที่ชาวบ้านอยากให้ช่วยมากที่สุดตอนนี้ ก็คือ อยากให้แก้ไขปัญหาที่ดิน เพราะชาวบ้านอยากมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จะได้พัฒนาตนเองได้ อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยให้ และอยากให้ช่วยพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ทั้งเรื่องน้ำ ไฟฟ้า และห้องน้ำห้องส้วม รวมทั้งการดูแลสุขภาพต่างๆ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้เลย”
“เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทุกคนเกิดและโตที่นี่ ที่ผ่านมาเราอยู่กันอย่างสงบสุข แต่แล้วจู่ๆ ก็มีคนมาอ้างว่าที่ดินตรงนี้เป็นของเขา เลยรู้สึกงง ทำอะไรก็ไม่ได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ ทางการก็มาบอกให้เรารื้อย้ายบ้านออกไปภายใน 24 ชั่วโมง เพราะเขาจะสร้างถนนตรงนี้ ถ้าไม่ออกก็จะนำรถแมคโครมารื้อบ้านออก ตอนนี้พวกเราทั้งหมดเลยรู้สึกอึดอัดและมีความทุกข์มากๆ เขาทำเหมือนกับว่าพวกเราไม่ใช่คนเลยน่ะ” ลุงสน บางจาก ผู้อาวุโสวัย 67 ปี แห่งชุมชนราไวย์ ระบายความในใจให้ฟัง
ชุมชนราไวย์ ตั้งอยู่บริเวณใกล้หาดราไวย์ หมู่ที่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนของชาวมอแกนและอูรักลาโว้ย อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี มีพื้นที่ทั้งหมด 19 ไร่ ปัจจุบันมีชาวชุมชนอาศัยอยู่แออัดยัดเยียด จำนวน 210 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,042 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และมีฐานะยากจนมาก
ลุงสนและชาวบ้าน เล่าว่า ชาวบ้านทั้งชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีหลักฐานที่ยืนยันได้ก็คือสุสานที่อยู่ใกล้ชุมชน ต้นมะพร้าวที่สูงเสียดฟ้า และผู้สูงอายุหลายคนที่เกิดและอาศัยอยู่ที่นี่ โดยสมัยก่อนชาวบ้านพากันจับจองเพื่ออยู่อาศัย แต่ประมาณช่วงปี 2526 อดีตผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเอง โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่รู้หนังสือ และพากันอยู่อาศัยเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถอยู่อาศัยได้ แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นมาได้ เนื่องจากผู้ที่อ้างตัวเป็นเจ้าของที่ดินได้ข่มขู่และห้ามไม่ให้ปลูกสร้างหรือพัฒนาสิ่งใดๆ ขึ้นในบริเวณที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านไม่กล้าเรียกร้องสิทธิใดๆ ทำให้ประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย บ้านเรือนทรุดโทรม อยู่กันอย่างแออัด สิ่งแวดล้อมไม่ดี ต้องจ่ายค่าไฟและค่าน้ำประปาแพงกว่าปกติหลายเท่า ชาวบ้านหลายสิบคนยังไม่มีบัตรประชาชน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม ยังใช้วิธีขับถ่ายบริเวณริมทะเลทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หญิงและชาย
“พวกเรามีชีวิตอยู่อย่างหมดอาลัยตายอยาก อยากจะพัฒนาอะไร ก็ทำไม่ได้ เพราะเจ้าของที่ดินไม่ยอมให้ทำ ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่อยากพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น เราอยากทำมากๆ แต่เราก็ทำไม่ได้ แม้แต่ห้องน้ำห้องส้วมก็ยังทำไม่ได้เลย ชาวบ้านก็เลยต้องพึ่งพาชายหาด และท้องทะเลเป็นห้องน้ำ บางครั้งต้องนั่งเรือไปนั่งถ่ายทุกข์กลางทะเลกลางวันแสกๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สุดแสนจะรันทด หลายคนฟังแล้วอาจจะไม่เชื่อ แต่ผมขอบอกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง เป็นความจริงที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้เลย เขาทำเหมือนกับว่าพวกเราไม่ใช่คน หากแต่เป็นตัวอะไรสักอย่างที่ทุกคนต่างก็พากันรังเกียจและอยากขับไล่ไปให้พ้นๆ” เสกสรรค์ บางจาก ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเล่าเสริมให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการได้ทำการขยายถนนใหม่ให้เป็นขนาดสี่เลนขึ้น โดยถนนเส้นดังกล่าวได้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของชุมชน และทางเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งให้ชาวบ้านทำการรื้อย้ายบ้านออกไปภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และพากันร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้ลงมาช่วยทำการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ ที่มี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน โดยทางพลเอกสุรินทร์และคณะได้เดินทางมาดูพื้นที่ด้วยตนเอง และไม่ให้ชาวบ้านรื้อย้ายไปไหน รวมทั้งรับจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2549 นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้เดินทางลงมาดูสภาพชุมชนและรับทราบปัญหา และรับปากที่จะช่วยเหลือให้อย่างเต็มที่เช่นกัน
“สิ่งที่ชาวบ้านอยากให้ช่วยมากที่สุดตอนนี้ ก็คือ อยากให้แก้ไขปัญหาที่ดิน เพราะชาวบ้านอยากมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จะได้พัฒนาตนเองได้ อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยให้ และอยากให้ช่วยพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ทั้งเรื่องน้ำ ไฟฟ้า และห้องน้ำห้องส้วม รวมทั้งการดูแลสุขภาพต่างๆ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้เลย” เสกสรรค์ กล่าวด้วยน้ำเสียงอันสั่นเครือ
นี่คือ ความรันทดหดหู่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความงดงามของเกาะภูเก็ต ที่ทุกคนอาจจะคาดไม่ถึง และกำลังรอคอยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้อย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ให้สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่พวกเขาพึงจะได้รับเฉกเช่นเดียวกันกับพวกเราทุกๆ คน