"ไม่หนี ไม่สู้ ทำมาหากินในที่ดินตรงนี้กันต่อไป มั่นใจในความสงบสยบความเคลื่อนไหว” คือปณิธานในใจของชาวบ้านที่จดจำไว้อยู่เสมอ และเป็นอีกความพยายามหนึ่งในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่คุกคามมานาน
เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชาวบ้านที่อยู่ในที่ดินผืนนี้มาช้านาน นานจนชาวบ้านต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาบุกบุกรุกที่ดินของตนเองที่บรรพบุรุษเคยทำกินกันมา จนกระทั่งความเดือดร้อนดังว่าทำให้พวกเราชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชนจังหวัดลำพูน” ขึ้น กำนันธนา ยะโสภา ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านศรีเตี้ย ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ชี้แจงให้ฟังถึงที่มาที่ไป และชี้ให้ดูที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งในปัจจุบันนี้มีประมาณ 2,000 ไร่ รวมกับส่วนที่ชาวบ้านได้กันไว้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนด้วย ส่วนพื้นที่ทำกินนั้นทุกวันนี้ ชาวบ้านได้ทำเป็นสวนปลูกไม้ยืนต้นแล้ว
กำนันธนา ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อปี 2508 รัฐบาลมีมติให้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับพี่น้องชาวบ้านตำบลศรีเตี้ย ตำบลหนองปลาสวาย และคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติก็ได้ลงความเห็นให้จัดที่ดินสาธารณะ เพื่อเป็นที่ทำกินให้กับพี่น้องจำนวน 15,000 ไร่ สำหรับ 1,000 ครอบครัว แต่เนื้อที่ 15,000 ไร่ จัดได้จริงๆ แค่ 10,000 ไร่ เพราะส่วนใหญ่เป็นที่ลาดชัน ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2508–2513 ทั้งตัดถนน วางแปลงจึงจะแล้วเสร็จ แล้วกรมที่ดินก็ได้แจกใบจองให้กับชาวบ้าน โดยวิธีการจับฉลาก ใครได้หมายเลขไหนก็ไปทำกินตามที่จัดไว้ตามนั้น
“แต่พอจัดสรรที่ดินจับฉลากแล้วเสร็จ กลับปรากฏว่า ชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินที่จัดไว้ไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินทำกินที่มีเจ้าของเดิมอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้กันที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านที่ทำกินอยู่แล้วออกไปเสียก่อน และถึงแม้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อแก้ไขกันใหม่อยู่หลายครั้ง แต่เรื่องก็ไม่มีความคืบหน้า และกลับมีการเรียกใบจองคืนจากชาวบ้าน โดยอ้างเหตุผล เพื่อจะจัดบล็อกใหม่อีกครั้ง แต่พอมาถึง ปี 2533 ปรากฏว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวกลับได้รับการออกโฉนดที่ดินโดยมีกลุ่มนายทุนเป็นผู้ถือครอง กว่าชาวบ้านเราจะรู้ตัวก็คือ พอพวกเราชาวบ้านจะเข้าไปทำกินก็ถูกนายทุนกลุ่มนั้นมาขับไล่ บางคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี” กำนันธนา ย้อนอดีตให้ฟัง และว่า
เมื่อเหตุการณ์เป็นไปในแนวที่ว่า เกิดความไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น พวกเราจึงลงความเห็นร่วมกันว่า หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่องยังจะไม่จบเสียที ขณะที่พี่น้องชาวบ้านก็จะไม่มีที่ดินทำกินแน่นอน จึงได้ตั้งคณะกรรมการในรูปแบบการมีส่วนร่วม ขึ้นมา คือตั้งร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรของชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกัน เพราะเชื่อว่าหากให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะคณะกรรมการ การแก้ปัญหาน่าจะมีทางออกที่ดีกว่า
“เอาเข้าจริง การแก้ปัญหาไม่ง่ายอย่างที่คิด เรียกร้องมา 5 ปีกว่า เรื่องไม่คืบหน้า เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินทอง เสียกำลังใจ พวกเราผู้ที่เดือดร้อนก็เลยมาประชุมหารือกันว่า ในระหว่างที่เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหากันนี้ ที่ดินผืนที่เป็นปัญหาก็ไม่ควรทิ้งไว้ว่างเปล่าควรให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน จึงได้ตกลงกันเอามาแบ่งสรรปันส่วนกันทำกิน จึงได้เข้าไปตัดถนน จับฉลากกันอีกทีด้วยกระบวนการของพวกเราชาวบ้านด้วยกันเอง จัดสรรได้ 546 ครอบครัว ครอบครัวละ 2 ไร่ 2 งาน ในจำนวน 2,000 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จัดเป็นป่าชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จากนั้นก็เริ่มปลูกลำไย มะม่วง ปัจจุบันนี้บางคนปลูกมาได้ 9 ปีแล้วก็มี จนผลผลิตออกผล เมื่อขายผลผลิตได้แล้ว ก็นำเงินที่ได้มาลงขันกันครอบครัวละ 20 บาท เก็บได้ครั้งหนึ่งก็ 14,000 บาท เอามาไว้เป็นกองกลางเพื่อใช้ในการประชุมและจัดกิจกรรมในชุมชน ในปีเดียวกันนี้ก็ได้ตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้น ตอนแรกมีสมาชิกให้ความสนใจจำนวน 85 คน นับปัจจุบันนี้มีมีสมาชิกอยู่ 885 คน จากเงินทุนเริ่มแรก มี 2,600 บาท นับปัจจุบันนี้ก็มีเงินทุนหมุนเวียน 1,700,000 บาท สำหรับเรื่องของสาธารณูปโภคนั้น มีการขุดบ่อน้ำใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวนกว่า 20 บ่อ ขณะที่ไฟฟ้า ก็ต่อสายมาจากหมู่บ้าน แต่ก็ยังมีน้ำและไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ”
จากนั้น เมื่อมีโครงการการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยคนยากจนในชนบท ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ชาวชุมชนศรีเตี้ยจึงได้ทำโครงการเพื่อขอเสนอใช้สินเชื่อสาธารณูปโภคและพัฒนาอาชีพของชาวชุมชน จำนวน 1,960,300 บาท มาทำระบบไฟฟ้า ประปา เพื่อต้องการให้เกิดการจัดการที่ดินโดยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิตลง
เมื่อได้รับการอนุมัติโครงการฯ ชาวศรีเตี้ยก็ร่วมกันทำงานตามแนวทางที่วางไว้ และได้มีการวางกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน เช่น ให้ชุมชนมีโฉนดรวม มีการทำเป็นธนาคารที่ดินโดยมีคณะกรรมการที่ชาวบ้านเลือกกันเองเป็นตัวแทนดำเนินงาน หากใครขายที่ต้องได้รับเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนทุกครั้ง และจะขายได้ต่อเมื่อสมาชิกคนนั้นไม่สามารถทำงานได้แล้วและไม่มีผู้สืบทอดต่อไปจึงจะขายได้ แต่ทุกกระบวนการต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้อนุมัติเสียก่อนจึงจะซื้อขายได้ และการซื้อขายต้องเสียค่าบำรุงครั้งละ 500 บาท
“ผมเน้นกับชาวบ้านเสมอ เราไม่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกินมาก อย่าดิ้นรนมาก ทำแค่พอกิน ที่สำคัญให้ทำอยู่ในที่ดินเดิม เพราะไม่อยากมีปัญหา เมื่อก่อนยอมรับว่าไม่รู้จริงๆว่า พื้นที่ดินทำกินมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ได้กลายไปเป็นของนายทุนแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนหวงแหนที่ดินที่มีอยู่มากและจะรักษาเอาไว้ให้ได้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป” กำนันธนา บอก
จนถึงขณะนี้ ชาวชุมชนตำบลศรีเตี้ยมองปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ดีว่า ปัญหาของที่นี่ยังไม่เลวร้ายเกินไปนัก เนื่องจากชาวบ้านได้ถูกยกฟ้องในคดีบุกรุกที่ดินแล้ว และชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐก็มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น โดยมีพลังของชาวบ้านเองเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้มองเห็น และทำให้ชาวชุมชนตำบลศรีเตี้ยที่เคยประสบปัญหาที่ดินทำกิน เชื่อมั่นว่า ในอนาคตชาวชุมชนตำบลศรีเตี้ย ต้องมีความมั่นคงในที่ดิน มีชีวิตที่ไม่ต้องไปหวาดกลัวว่า จะมีใครเข้ามาขับไล่อีกต่อไป