playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

“พวกเราที่เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินและส่วนหนึ่งไม่มีทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน พวกเราจำนวน 16 ครอบครัว ประชุมร่วมกันแล้ว และเห็นร่วมกันว่า ขอให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินสักผืนหนึ่ง โดยที่ดินที่ว่านี้ อาจจะเป็นที่ดินทำกินเดิมรอบขอบอ่างเก็บน้ำห้วยป่าผาก หรือที่ดินทำกินเดิมที่ปัจจุบันอยู่ในเขตสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี หรือที่ดินทำกินเดิม ซึ่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจของเอกชน โดยขอให้มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ เพื่อให้พวกเราได้ทำมาหากิน ดำรงชีพ และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมชนเผ่าที่สืบทอดกันมายาวนานให้คงอยู่ต่อไป”

“กรณีพื้นที่บ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้ ศตจ.จังหวัดสุพรรณบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อน ประสานงานกับอำเภอ เพื่อจัดประชุมหาข้อยุติในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับชุมชน จำนวน 16 ครัวเรือน ที่มีที่ทำกินอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย โดยเชิญกรมปศุสัตว์ผู้รับผิดชอบสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี ผู้แทนกรมป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติพุเตย เข้าร่วมประชุม โดยมีแนวทางการแก้ไขคือ แนวทางแรก ให้กรมป่าไม้และสถานีอาหารสัตว์ กันที่ของสถานีอาหารสัตว์ให้ผู้เดือดร้อนจำนวน 16 ครัวเรือน เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ หรือ แนวทางที่สองให้สถานีอาหารสัตว์พัฒนาโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ในพื้นที่ของสถานีอาหารสัตว์ ร่วมกับผู้เดือดร้อน 16 ครัวเรือน เป็นพื้นที่นำร่องภายใต้การสนับสนุนของโครงการบ้านมั่นคงชนบท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสุดท้ายคือให้ ศตจ.อำเภอด่านช้าง ผู้ปกครองท้องที่คือกำนันและผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลวังยาว สนับสนุนการพัฒนา หลังจากที่มีการจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนแล้ว...” นี่คือมติของคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ที่มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของพี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงแห่งบ้านป่าผาก หมู่ 2 ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

ปัญหาที่ดินของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากแห่งนี้ ถือเป็นอีกกรณีปัญหาคลาสสิค ที่ยืดเยื้อยาวนาน เพราะชาวบ้าน ระบุว่า อยู่อาศัย ทำมาหากิน ในพื้นที่แถบนี้มานานนับหลายชั่วอายุคน แต่วันดีคืนดีกลับถูกละเมิดสิทธิทำกิน เมื่อพื้นที่สวนป่าที่ให้เอกชนเช่าในปัจจุบันมาทับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงเดิม 37 ครอบครัว ซึ่งเมื่อพวกเขาย้ายไปทำกินอีกที่ ทางราชการก็สร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรีมาทับที่อีก 30 ครอบครัว และเมื่อย้ายไปอีกก็มีการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าผากทับที่ดินทำกินอีก ทำให้ที่ดินทำกินโดนน้ำท่วมอีก 38 ครอบครัว และต่อมามีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ทำให้เขตอุทยานฯ ทับที่ชาวกะเหรี่ยงอีก 46 ครอบครัว โดยมีชาวกะเหรี่ยง 10 ครอบครัว โดนย้ายไปมาดังกล่าวถึง 4 ครั้ง คือโดนทุกกรณีที่กล่าวมา และปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุด พบว่ามี 16 ครอบครัวที่มีปัญหาไม่มีที่ดินทำกินเลย

นางยุพิน งามยิ่ง ชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ พวกเราชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากเดือดร้อนเรื่องที่ทำกินเป็นอย่างมาก พวกเราต่อสู้เรื่องนี้มานาน หลายคนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมีคดีติดตัว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข ข้อเรียกร้องเรื่องขอที่ดินทำกินนั้น อาจจะมองว่าขอมากเกินไป แต่สำหรับพวกเราชาวกะเหรี่ยง เรามีวิถีชีวิตของเรา เราอยู่กับป่า เราจะไม่ทำลายป่าให้เสียหาย

“พวกเราที่เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินและส่วนหนึ่งไม่มีทั้งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน พวกเราจำนวน 16 ครอบครัว ประชุมร่วมกันแล้ว และเห็นร่วมกันว่า ขอให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินสักผืนหนึ่ง โดยที่ดินที่ว่านี้ อาจจะเป็นที่ดินทำกินเดิมรอบขอบอ่างเก็บน้ำห้วยป่าผาก หรือที่ดินทำกินเดิมที่ปัจจุบันอยู่ในเขตสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี หรือที่ดินทำกินเดิม ซึ่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจของเอกชน โดยขอให้มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ เพื่อให้พวกเราได้ทำมาหากิน ดำรงชีพ และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมชนเผ่าที่สืบทอดกันมายาวนานให้คงอยู่ต่อไป”

สำหรับที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากต้องการจำนวนประมาณ 200 ไร่ สำหรับ 16 ครอบครัวนั้น อาจถูกมองว่ามากเกินไป แต่นางยุพิน ขยายความว่า ที่ต้องการเช่นนี้ เป็นเพราะชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากมีวิถีชีวิตที่อยู่กับการปลูกข้าวไร่ พริก และพืชผักต่างๆไว้กินเอง ปีๆหนึ่งต้องการใช้ที่ดินราว 3-5 ไร่ เพื่อการเพราะปลูก และเมื่อทำได้ไม่เกิน 4- 5 ปี ก็จะหมุนเวียนไปทำยังที่อีกแปลงหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ใช้พื้นที่มาก แต่ในความเป็นจริงคือภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องทิ้งร้างที่ดินไว้เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือการไถกลบ เพราะพื้นที่ที่พวกเราอยู่มักเป็นเขาสูง มีความลาดชัน และเป็นการอยู่ร่วมกับป่าที่บรรพบุรุษทำกันมาตั้งแต่อดีต

"หากพวกเราได้ที่ดินผืนใหม่เพื่ออยู่อาศัยและทำกินแล้ว พวกเราตกลงร่วมกันภายใต้ กฎกติกาการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ร่วมกันว่า ที่ดินผืนที่ได้มาต้องเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมหรือโฉนดชุมชน และทุกบ้านต้องทำไร่ไม่เกิน 5 ไร่ต่อครอบครัวต่อปี ทุกบ้านต้องปลูกสร้างบ้านไม่เกินครอบครัวละ 1 ไร่ และต้องปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ส่วนการทำข้าวไร่ พริก มะเขือพวง หรืออื่นๆ ก็ ต้องใช้วิถีการผลิตแบบดั้งเดิม ยึดหลักการเอื้ออารี แบ่งปัน และตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการที่ดิน”

“ส่วนในเรื่องป่าใช้สอยนั้น ก็ให้มีการกันพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการทำไร่เป็นป่าใช้สอยของชุมชน ต้องมีการดูแลฟื้นฟูป่า ทำแนวป้องกันไฟป่า และปลูกป่าทดแทน ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ประโยชน์จากป่าใช้สอยต้องผ่านข้อตกลงร่วมกันของชุมชน” นางยุพิน บอกให้ฟัง

ขณะเดียวกันในเรื่องของความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านป่าผากนั้น หลายองค์กรได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และหาทางออกของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) โครงการบ้านมั่นคงชนบท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ศตจ.ปชช.จังหวัดสุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการล่าสุดนั้น ยังอยู่ระหว่างการเปิดเวทีเพื่อให้มีการเจรจาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระดับพื้นที่และพี่น้องชุมชนบ้านป่าผากที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ข้อยุติ ก่อนจะส่งต่อสู่ระดับนโยบายเพื่อสั่งการให้เกิดการปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน และผลที่ออกมาจะเป็นเช่นใด

“พวกเราก็อยากให้เกิดการแก้ปัญหาโดยเร็ว แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และที่ดินที่พวกเราต้องการนั้นจะได้ตรงจุดใด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ พวกเราชาวป่าผากจะต่อสู้ต่อไป ไม่ใช่สู้เพราะอยากได้ที่ดินทำกินอย่างเดียว แต่สู้เพื่อลูกหลานในอนาคต และสู้เพื่อให้ชุมชนกะเหรี่ยงป่าผากได้ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชุมชน ชีวิต ความเป็นอยู่ ในแบบที่ปู่ย่าตายายของพวกเราอยู่กินกันมาตั้งแต่อดีตกาล” นางยุพิน กล่าวในที่สุด

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter