"ม๊ะอยู่ที่นี่มา 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยมีใครเข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่ดินตรงนี้มาก่อนเลย พอสึนามิมาบ้านม๊ะก็พัดไปกับน้ำหมดไม่เหลืออะไรเลย พอจะมีคนมาสร้างบ้านให้ เถ้าแก่เขาก็ว่าเป็นที่ของเขาไม่ให้สร้าง แล้วม๊ะจะไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้แก่มากแล้วเดินไปไหนก็จะไม่ไหว ที่ดินที่อื่นก็ไม่มี ตอนนี้ชาวบ้านลำบากมาก อยากให้นายกช่วยลงมาตรวจสอบในพื้นที่ว่า เถ้าแก่เขามาทำเอกสารสิทธิ์ปีไหน พ.ศ.เท่าไร ใครเป็นคนทำ พวกเราไม่รู้จะพึ่งใครได้อีกแล้ว ขอร้องให้นายกทักษิณช่วยพวกเราด้วย" นางเจ๊ะสง ยมนา ชาวชุมชนบ้านในไร่ กล่าวด้วยน้ำตานองหน้า
บ้านในไร่ หมู่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นชุมชนชาวมุสลิมเก่าแก่นับร้อยปี อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน หาปูปลา เลี้ยงปลาในกระชังปลา บางส่วนก็เพาะพันธุ์ต่อตายางพาราส่งขาย
เมื่อถึงยุครัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ดินทั่วประเทศปรับราคาสูงขึ้น บริษัทโอภาส ภูเก็ต ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินและขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ชาวบ้านจึงมีอาชีพรับจ้างขุดแร่ด้วย ต่อมาเมื่อหมดอายุสัมปทานแล้ว บริษัทกลับไม่คืนที่ดินให้กับรัฐแต่กลับขายต่อที่ดินให้กับบริษัทธนายง จำกัด
จนกระทั่งพ.ศ. 2541 ฟองสบู่แตกเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ บริษัทธนายง เลิกกิจการ เกิดหนี้เน่า จึงนำที่ดินทั้งหมด 750 ไร่ ไปขายทอดตลาด และนายสมเกียรติ ลีธีระ เศรษฐีโรงงานสับปะรด จากจ.ประจวบฯ ชนะการประมูลได้ที่ดินทั้งหมดไว้ในครอบครองโดยไม่รู้ว่ามีชาวบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินบางส่วนมาก่อนแล้ว
พื้นที่ทั้งหมดที่นายสมเกียรติประมูลได้ไปนั้นมีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดทั้งหมด 1,685 คน 331 ครอบครัว 309 หลังคาเรือน ประกอบไปด้วย 3 ชุมชนย่อยได้แก่ ชุมชนบ้านบ่อดาล(อยู่ติดถนนเพชรเกษมช่วงท้ายเหมือง " ภูเก็ต) ชุมชนบ้านในไร่ตะวันออกอยู่ตรงจุดกางเต็นท์ปัจจุบัน) ชุมชนบ้านในไร่ตะวันตก(โดนผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิมากที่สุด) มีชาวบ้านส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเองอยู่ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย
หลังจากคลื่นมรณะสึนามิสงบลง ได้สร้างความสูญเสียและความเสียหายไว้อย่างมากมาย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 11 ราย บ้านเรือนพังพัดไปกับกระแสน้ำ 72 หลัง เสียหายบางส่วน 38 หลัง เรือเสียหาย 84 ลำ และกระชังปลาเสียหายทั้งหมด 76 ราย
นางวันทนา พึงสงวน คณะกรรมการชุมชนฯ เล่าว่า "ปัจจุบันชาวชุมชนบ้านในไร่ตะวันตก อาศัยอยู่ในเต้นท์ทั้งหมด 52 หลัง มีการเลือกคณะกรรมการหมู่บ้าน จำนวน 10 คน มาทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลในส่วนต่างๆ เช่น ทีมก่อสร้างที่พักอาศัย ทีมดูแลสิ่งของบริจาค ทีมประกอบอาหาร ประสานงานทั่วไป โดยแบ่งเป็น 10 กลุ่มๆละ 5 หลัง จัดการบริหารดูแลกันในกลุ่ม
ในส่วนของบ้านชั่วคราวนั้นมูลนิธิศุภนิมิตและกทม.ร่วมกันสร้างบ้านชั่วคราว จำนวน 80 หลัง ให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยอาศัย แต่ไม่พอเพียงกับจำนวนชาวบ้านประกอบกับชาวบ้านต้องการสร้างบ้านถาวรในที่ดินเดิมให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากกลัวนายทุนจะเข้ามาไล่ที่จึงยังไม่มีชาวบ้านย้ายเข้าสู่บ้านชั่วคราว ยังคงอาศัยอยู่ในเต็นท์ตามเดิม
ในด้านของทีมที่ดินมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ใหม่ทั้งหมดที่นายทุนอ้างว่าชาวบ้านบุกรุก อย่างตอนนี้เจ้าของที่ดินยื่นขอเสนอกับชาวบ้านให้เลือกอยู่บริเวณแห่งใดแห่งหนึ่งระหว่างที่ดินที่อาศัยอยู่ กับที่ดินบริเวณขุมเหมืองเก่า ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดตัดสินใจแล้วว่าจะขออยู่ทั้ง 2 บริเวณ เพราะบริเวณขุมเหมืองเป็นแหล่งทำมาหากินของพวกเราเป็นที่เลี้ยงปลาในกระชัง ถ้ายกให้เขาก็เท่ากับว่าได้ยกหม้อข้าวของเราให้ไป แล้วทีนี้จะทำมาหากินอะไรกัน"
ด้านนายวิฑูรย์ พรหมทัส ชาวชุมชนบ้านในไร่ เปิดเผยว่า "หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นายสมเกียรติ ลีธีระ ได้เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยให้ชาวบ้านที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ออกจากที่ดิน เฒ่าต้าเหีย ยมนา กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
ชาวบ้านเขาอยู่อาศัยที่นี่มาเป็นร้อยปีแล้ว อย่างคนเฒ่าคนแก่บางคนก็อยู่อาศัยในที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นหนังสือขอรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินมาตลอด เคยไปยื่นเรื่องกับที่ดินตำบลนาเตย รอมา 1 ปี เรื่องก็เงียบหาย เลยไปยื่นเรื่องใหม่อีกที่ที่ดิน อ. ท้ายเหมือง เขารับปากว่าจะเดินเรื่องให้แต่ก็เงียบไปอีกเหมือนเดิม ชาวบ้านจึงรวมกันไปยื่นหนังสือกับกรมที่ดิน จ.พังงา แต่เรื่องก็เงียบไปอีกเหมือนเคย ตั้งแต่วันแรกที่พวกเราต่อสู้มาจนถึงวันนี้ 4 ปีกว่าแล้ว ไม่มีวี่แววความคืบหน้าจนกระทั่งเกิดสึนามิก็มีนายทุนเข้ามาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครเข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่ดินนี้เลย ตอนนั้นมีองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยเหลือสร้างบ้านให้ แต่ทั้งหมดก็ต้องถอนตัวออกไปเนื่องจากชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
พวกเราต้องการแค่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม กับบริเวณขุมเหมืองเก่าที่เป็นแหล่งหากินของพวกเรา มีวิถีชีวิตเดิมๆ เหมือนก่อน นอกจากที่ดินตรงนี้พวกเราก็ไม่ต้องการที่ดินตรงไหนอีกแล้ว"
"เราขอเอาที่อยู่เป็นเดิมพันถ้าหากผลสรุปออกมาว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินจริงหรือเข้ามาอาศัยอยู่หลังนายทุน พวกเราทุกคนก็พร้อมใจที่จะรื้อย้ายบ้านทุกหลังออกจากพื้นที่"
นางวันทนา เล่าต่ออีกว่า "เมื่อไม่สามารถเจรจากันได้พวกเราจึงเข้ายึดพื้นที่เดิม เพื่อก่อสร้างบ้านตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมาโดยมีชาวบ้านจากที่ต่างๆมาช่วยในการก่อสร้างด้วย ซึ่งขณะนี้ทีมก่อสร้างได้ก่อสร้างบ้านถาวรแล้ว จำนวน 29 หลัง แบ่งเป็นบริเวณขุมเหมืองเก่า 21 หลัง และในที่ดินเดิมหน้าทะเล 8 หลัง โดยใช้แบบบ้านแบบเดียวกันกับบ้านถาวรที่ทับตะวัน คือ ชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง มุงกระเบื้อง กว้าง 5 เมตร x ยาว 12 เมตร วงเงินไม่เกินหลังละ 100,000 บาท และถ้าหากว่าบ้านหลังสุดท้ายยังไม่เสร็จพวกเราก็ยังไม่ย้ายเข้าบ้าน ต่อ เมื่อบ้านหลังสุดท้ายสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พวกเราจะย้ายขึ้นบ้านพร้อมกันทุกหลัง"สำหรับชาวบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีสโมสรโรตารี่พังงาและบริษัทบลูแคนยอนภูเก็ตเข้ามาช่วยเหลือในการก่อสร้างและสนับสนุนงบประมาณแล้ว
นอกจากนั้นสายการบินอาหรับเอมิเรตส์ สนับสนุนงบประมาณในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการต่อเรือให้ชาวบ้าน ซึ่งต่อเสร็จแล้ว 10 ลำ และชาวบ้านยังช่วยกันซ่อมแซมเรือที่เสียหายบางส่วนไปแล้ว 20 ลำ"
นี่!คงเป็นชุมชนหนึ่งในอีกหลายๆชุมชนที่ต้องเผชิญปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ระหว่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่มาก่อนแล้วกับนายทุนเจ้าของที่ดิน รัฐบาลควรยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน อย่าซึ่งมรทางออกได้หลายแนวทางที่สำคัญการแก้ปัญหาแบบสันติ โดยการเชิญทุกส่วนทั้งเจ้าของที่ดิน , ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมานั่งจับเข่าคุยกัน เชื่อว่าคนไทยด้วยกัน คงพูดกันรู้เรื่อง
การแบ่งปันที่ดินที่ทุกฝ่ายพอใจอาจเกิดขึ้นก็เป็นได้