เชียงใหม่ดินแดนแห่งศิลปะวัฒนธรรมล้านนา ผู้คนจำนวนมากที่มีโอกาสได้ไปเยือนล้วนหลงใหลกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมล้านนา ปราถนากลับมาเยือน ผู้มาเยือนหลายต่อหลายคนต้องการที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
ด้านนักธุรกิจเห็นเป็นโอกาสทางธุรกิจค้าที่ดิน ส่วนต่างของราคาแต่ละทอดการซื้อขายกลายเป็นสิ่งยั่วยวนใจนักลงทุน มหกรรมการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรรายย่อยสร้างความหรรษาครื้นเครงแก่นักค้าขายที่ดิน ขณะที่ชาวบ้านจำเป็นฝืนใจขายเพราะการผลิตภาคการเกษตรสร้างแต่หนี้ และความทุกข์ยาก นักธุรกิจซื้อหาครอบครองที่ดินด้วยสารพัดเล่ห์เพทุบาย เช่นการออกโฉนดที่ดินในเขตป่า บนที่ดินสาธารณะ วงจรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโต สถาบันการเงินต่างกระโจนเข้าสู่วงจรเก็งกำไรตามที่นักธุรกิจวาดฝันโครงการพัฒนาที่ดินไว้
พลันที่ฟองสบู่แห่งเศรษฐกิจเก็งกำไรพังคลืนส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ที่ดินกลายเป็นไร้ค่า ถูกปล่อยทิ้งร้าง วัชพืชที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตอกย้ำสถานภาพของที่ดินและเจ้าของ
ที่ดินแปลงหนึ่งริมถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ในเขตต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ คือรูปธรรมสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเป็นคนจนไร้ที่ดินทำกินเห็นที่ดินรกร้างนานกว่า 10 ปี เป็นโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิต และเป็นชุมชนตัวอย่างในการปฏิรูปที่ดินจากที่เป็นสินค้ามาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ
นายดิเรก กองเงิน ชาวบ้านโป่ง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามกฎหมายที่ดินมาตรา 6 ระบุว่าที่ดินที่มีโฉนดที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้างนานเกิน 10 ปี แสดงว่าเจ้าของที่มีเจตนาไม่ใช้ประโยชน์ ให้รัฐยึดคืนและจัดสรรให้แก่ประชาชน แต่เมื่อภาครัฐไม่ทำตามกฎหมาย ปล่อยให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาลนครเชียงใหม่ ขณะที่ชาวบ้านโป่งส่วนหนึ่งไม่มีที่ทำกิน ที่นาที่อยู่ริมน้ำปิงก็ถูกน้ำเซาะหายไป เป็นผลกระทบจากเอกชนทำสัมปทานดูดทราย เรียกร้องราชการให้แก้ไขก็ไม่เป็นผล
นายดิเรก กล่าวว่า ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มปฏิรูปที่ดินรกร้าง ปี 2545 เข้ามาแพ้วถางพื้นที่ และแบ่งปันพื้นที่ 302 ไร่ ให้กับ 79 ครอบครัวทำกิน และตั้งกองทุนสำหรับพัฒนากลุ่ม ซื้อเครื่องสูบน้ำ และท่อสูบน้ำจากคลองชลประทานเข้าสู่ที่ดินของสมาชิกทุกแปลง และทุกวันนี้ทุกแปลงชาวบ้านได้ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว ตามกำลังของแต่ละครอบครัว ที่ดินราว 3 ไร่ของแต่ครอบครัวสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว บางครอบครัวได้เป็นหมื่นบาทต่อเดือน
น้ามนตรี บัวลอย ชายวัยกลางคนผู้ร่วมกลุ่มปฏิรูปที่ดินเล่าความแตกต่างก่อนหลังมีที่ดินว่า เดิมตนมีที่สวนประมาณ 1 ไร่เศษ อีกส่วนต้องเช่า แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ จึงต้องหันไปเป็นพ่อค้าขายผักตามตลาด ไม่มีหลักประกันความมั่นคง และเมื่อเพื่อนบ้านมาชวนให้เข้าร่วมกลุ่มปฏิรูปที่ดินก็เข้ามาร่วม เมื่อได้รับแบ่งปันพื้นที่แล้ว ตนก็เริ่มทำการเพาะปลูกทันที ทั้งลำไย ชมพู่ ผักชะอม พริก ผักสวนครัวต่างๆ และปลูกเพิ่มขึ้นทุกปี ทำอย่างจริงจัง และเริ่มมีรายได้ในปี 2547 และเริ่มมีรายได้มากขึ้นและสม่ำเสมอทุกเดือนจากที่ภรรยาจดบัญชีไว้ปี 2549 ตลอดทั้งปีนับรวมได้ 3 หมื่นกว่าบาท สำหรับปีนี้ผ่านไป 5 เดือนได้แล้ว 2 หมื่นกว่าบาท คาดว่าทั้งนี้น่าจะไม่น้อยกว่า 4 หมื่นบาท
น้ามนตรี เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตว่า ตอนนี้ตนเหมือนเพื่อนคนอื่นคือรู้สึกรัก และผูกพันกับที่ดินที่ได้ทำกิน การรวมกลุ่มทำให้ชาวบ้านเกิดความสามัคคี ส่วนตนก็ได้เรียนรู้ปัญหาคนจน มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเมือง นโยบายการพัฒนาประเทศ และดีใจที่ได้ทำประโยชน์ช่วยเหลือต่อเพื่อนสมาชิกที่มารวมกลุ่มปฏิรูปที่ดิน
ป้าลอม ปัญญาทิพย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิรูปที่ดินเล่าว่า ก่อนที่จะเข้ามาร่วมปฏิรูปที่ดิน ตนทำงานโรงงาน ได้ค่าจ้างเป็นรายวันวันละ 142 บาท ส่วนสามีต้องขับรถรับจ้าง รายได้ก็มาใช้จ่ายในครอบครัวหมดไม่มีเหลือ แต่ต้องไปทำงานทุกวันหยุดไม่ได้ ถ้าวันไหนไม่ไปทำงานก็ไม่ได้เงิน
เมื่อเปรียบเทียบกับภายหลังจากมีที่ดินทำกินของตนเอง ป้าลอม กล่าวว่า ความรู้สึกแรกที่ได้ที่ดินคือดีใจมากเพราะไม่เคยมีที่ดินของตนเองมาก่อน พอได้แบ่งปันที่ดิน 3 ไร่กว่าก็ลงมือเพาะปลูกทันที เงินที่เก็บไว้ก็เอามาซื้อกล้าชะอม ลำไย ปลูกพริก ตะไตร้ ข่า ผักสวนครัวเท่าที่จะทำได้ ความรู้สึกต่างจากตอนรับจ้างเขา เพราะเราได้ทำของเราเอง รู้ว่าเงินอยู่ตรงไหนในที่ดินของเรา เริ่มมีรายได้ในปี 2548 ตลอดปี 2549 แต่ละเดือนจะมีรายได้ระหว่าง 7,000-10,500 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายก็มีจ่ายค่าเนื้อหมู ไก่ น้ำมัน ซอส เครื่องครัวทำกับข้าว ผงซักฟอก สบู่ทำกันเอง ตนเองสามารถเลี้ยงหลานคนหนึ่งได้สบายไม่ต้องบอกให้พ่อ แม่ของหลานส่งเงินมาให้เหมือนก่อนแล้ว
การเข้าร่วมกลุ่มปฏิรูปที่ดินทำให้ในวันนี้ป้าลอมหลุดจากชุดยูนิฟอร์มสีฟ้าของคนงานรับจ้างแล้ว และป้าลอมคนนี้แม้จะไม่รู้หนังสือแต่ก็มีจิตใจที่กล้าแข็งไม่เกรงกลัวผู้คนในการปกป้องสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะสิทธิในการใช้กฎหมาย
วันนี้กลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านโป่ง ยังคงต่อสู้ทางกฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของที่ดินเดิม ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปที่ดิน ควบคู่ไปกับการเพาะปลูกทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ขณะเดียวกันวันนี้ กลุ่มปฏิรูปที่ดินบ้านโป่ง ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า หากนำที่ดินที่เคยถูกทำให้เป็นสินค้า กลับมาเป็นปัจจัยการผลิตตามหลักเศรษฐศาสตร์ คนจนในชนบทก็จะสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งความยากจน และส่งผลต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องรอนโยบายประชานิยมจากนักการเมืองต่อไป.