“ก่อนนี้เราอยู่บาย แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเศร้าใจ…” น้ำเสียงของชายวัย 57 ปีขาดห้วงไปชั่วขณะ คล้ายอยากจะเอื้อนเอ่ยความในใจต่อ แต่ก็คล้ายมีอะไรบ้างอย่างจุกอยู่ที่ลำคอ
ก่อนที่ ลุงแดง สีชู ชายวัย 57 ปีคนนั้นจะขยายความต่อ ได้ลุกขึ้นฝ่าไอแดดออกไปยืนชี้นิ้วนำสายตาเราให้มองตาม ภาพที่ปรากฎคือทุ่งหญ้าคาไล่ยาวไปหลายร้อยเมตรจนสุดแนวทิวไม้ “นี่คือที่นาของเรา และชาวบ้านอีกหลายเจ้า แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ของเรา หลวงเค้ายึดคืนไปหมดแล้ว”
ลุงแดง แห่งบ้านทับแขก ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช ไล่เรียงความว่า ผืนดินที่ลุงแดงเคยเก็บเกี่ยวรวงข้าวผืนนี้เป็นที่ป่าสงวน ราชการกรมป่าไม้เคยอนุญาติให้ชาวบ้านเข้าทำการเพาะปลูก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ที่ สทก.
แต่ในราวปี 2538-39 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มายึดสิทธิทำกินในที่ดินของชาวบ้านไปจากท้องทุ่งนาแห่งนี้ และต่อมาประกาศให้เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ
ลุงแดงเล่าว่า วันนั้นผมได้บอกกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าเคยทำนามานานแล้วกว่า 25 ปี แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เค้าบอกว่าทำเกษตรไม่ได้แล้ว และสายตาผมเห็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ป่าไม้แสดงให้เห็นว่ามีปืนมาด้วย นั่นคือเค้ามาขับไล่เรา ขับไล่ชาวบ้าน
“พอถูกยึดที่ดินลูกๆ พี่น้อง และญาติ ก็แตกกระจายกันไป ไปหาทำงานรับจ้าง บางคนไปทำงานกรุงเทพ หาเงินไปวันๆ พอมีงานบุญเดือนสิบจึงได้เจอกัน แต่ที่น่าเศร้าใจคือไม่รู้ว่าจะหาที่ดินไหนมาปันให้ลูก 6 คนได้มีที่ทำกิน เท่าที่มีตอนนี้คนหนึ่งได้ไม่ถึงไร่” นี่คือส่วนที่หายไปจากคำตอบแรกของบทสนทนา
“ชาวบ้านที่นี่เข้ามาปลูกอะไรไม่ได้ พวกป่าไม้มาคอยไล่ อย่างลุงทำได้แต่เอาวัวมากินหญ้า ชาวบ้านคนอื่นก็หากินไปเรื่อย บ้างหาน้ำผึ้ง บ้างหาปลา เก็บไม้เสม็ดไปหมกถ่าน แต่ก็ต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่พกปืนเข้ามาตรวจพื้นที่” ลุงภักดิ์ บุญรอด ชายชราอีกคนผู้ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับลุงแดงเอ่ยขึ้น
“แต่ป่าไม้ที่นี่ก็มีแต่ลดลงไม่เคยเพิ่ม ไฟกินไปทุกปี เจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็นรีบไปดับไฟ แต่ก็เห็นเค้าถางหญ้าจูด ถางไม้เล็กแล้วก็ปลูกป่า ปลูกแต่ต้นเสม็ด แต่ก่อนป่าไม้เข้ามาที่นี่มีป่าพรุที่มีไม้ใหญ่ ทั้งตะเคียน ไม้สาร ไม้เต็ง ไม้ยาง” ลุงภักดิ์ วัย 67 ปี แห่งบ้านทับแขก ยืนยันภาพป่าปลูกวันนี้ต่างจากป่าพรุธรรมชาติที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก
ลุงแดง กล่าวเสริมขึ้นว่า ถ้าหากให้เราอยู่ทำกิน รับรองว่าพื้นที่ป่าไม่มีหายไปไหน ยังคงสมบูรณ์ ไฟป่าจะไม่เข้ามา เพราะเราชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ใครจะมาถางป่าเราไม่ยอม เราไม่ปล่อยให้ไฟมาไหม้หญ้าจูด เพราะเอาไปทอเป็นเสื่อได้ เป็นรายได้ของครอบครัว
ชาวบ้านหลายสิบครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับลุงแดง และลุงภักดิ์ จากครอบครัวอบอุ่นครบหน้าตา มีที่นาทำกิน มีป่าพรุธรรมชาติให้หากิน กลายเป็นคนจนเพราะไร้ที่ดิน และเฝ้ามองป่าพรุธรรมชาติถูกทำให้เสื่อมโทรมลงไป
เสียงเรียกร้องสิทธิในที่ดินกลับคืนดังระงมไปทั่วท้องทุ่ง และแบ่งปันสิทธินั้นไปถึงคนไร้ที่ดินรายอื่นๆ ที่มีมากขึ้นตามการเติบโตของกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมสามานย์ เกิดเป็นกระบวนการชุมชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ เกิดเป็นคณะทำงานสำรวจตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่นำร่อง
ความเห็นของคณะทำงานสำรวจคือ นำที่ดินบริเวณ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ ต.สวนหลวง อ.เฉลิมพระเกียรติ หรือคืออดีตทุ่งนาของลุงแดง และลุงภักดิ์ และชาวบ้านรายอื่นๆ และพื้นที่ข้างเคียงรวมจำนวน 3,755 ไร่นำมาจัดสรรให้แก่คนยากจน แต่มีพื้นที่ 1,875 ไร่ มีสถานะเป็นพื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ
ความเห็นของคณะทำงานสำรวจ ไม่อาจดำเนินการต่อได้อย่างราบรื่นเมื่อ นายเทอดไทย ขวัญทอง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ระบุความเห็นแบบฟันธงว่า “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อขอยืนยันคัดค้านการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ยากจน” พร้อมทิ้งท้ายว่า หากมีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ ที่อยู่ในเขตเตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ จะปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ ประกาศคัดค้านด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า เป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ เป็นแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม สามารถกักเก็บน้ำฝนน้ำท่า ป้อยกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้ามา ชะลอการไล่ของน้ำ ดักจับตะกอน กักเก็บธาตุอาหาร และดักจับสารพิษที่น้ำพัดพามา เป็นแหล่งเคลื่อนย้ายถ่ายเทธาตุอาหารและมวลชีวภาพ และช่วยรักษาสมดุลของกระบวนการตามธรรมชาติ เช่นเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมของชาติ ฯลฯ
เหตุผลประดามีข้างต้น ลงความว่า เป็นป่าสมบูรณ์ มีน้ำท่วมขัง ไม่เหมาะต่อการเกษตร แต่เหมาะเก็บไว้ป้องกันโลกร้อน แต่หากย้อนมองดูสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ผ่านสายตาคนเกิดและเติบโตมากลางท้องทุ่งแห่งนี้
ลุงภักดิ์ แสดงความเห็นแย้งต่อผลการสำรวจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ที่หนังสือของกรมป่าไม้ว่าป่าอุดมสมบูรณ์นั้น ที่จริงตั้งแต่เค้ามาอยู่ มาตั้งหน่วยขึ้นมีแต่ป่าลดลง ไม้ใหญ่หายหมด พวกป่าไม้เข้ามาถางหญ้า ทั้งหญ้าจูด หญ้าสำหรับวัวควาย แต่มีประโยชน์สำหรับชาวบ้าน ถางเสร็จแล้วปลูกป่า ปลูกแต่ต้นเสม็ด หรือจะว่าเป็นป่าพรุน้ำท่วมขึงขังก็ไม่จริง ที่ติดกันนี้เจ้าของยังปลูกปาล์มได้เลย ชาวบ้านที่นี่ใครก็รู้ว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว
ลุงแดง เสริมขึ้นทันทีว่า มันไม่จริงอย่างคนในห้องแอร์พูด เพราะถ้าน้ำท่วมตลอดปี ไม่เหมาะการเกษตร แล้วที่ผ่านมาชาวบ้านจะทำนาได้อย่างไร จะปลูกผักไว้กินได้อย่างไร หรือจะว่ามีสัตว์ป่าที่นี่ก็ไม่เคยมีสัตว์ป่าหายาก ที่เห็นก็พบได้ทั่วไป นก งู เต่า ปลา จะพิเศษหน่อยก็มีลิงหางยาว อยู่ฝูงหนึ่งราว 10 กว่าตัวเท่านั้น หรือจะว่าให้ชาวบ้านได้เข้ามาเก็บกินของป่าก็ไม่จริง เราต้องคอยหลบพวกป่าไม้ที่ถือปืนเข้ามาตรวจตราและยิงเล่นอย่างคึกคะนอง
ลุงภักดิ์ ยังได้แจงอีกว่า เมื่อชาวบ้านไม่ได้ทำนา พันธุ์ข้าวท้องถิ่นก็สูญไปเพราะไม่มีที่นาจะทำ พร้อมทั้งแจกแจงชื่อสายพันธุ์ข้าวแห่งท้องทุ่งนี้ว่ามี ข้าวนางฝ้าย ข้าวช่อจังหวัด ข้าวสิริลักษณ์ ข้าวกาบดำ ข้าวนางมุย
สมมติว่าได้ที่ดิน ลุงภักดิ์ วาดอนาคตไว้ว่า ผมจะลงทุนปลูกปาล์ม กลับไปทำนาอีกก็คงไม่ได้ผล เพราะพันธุ์ข้าว กข. ทั้งหลาย คอรวงมันสั้นถูกหนูกัดกินหมด ไม่เหมือนพันธุ์เก่าดั้งเดิม
ด้านลุงแดง ทิ้งท้ายว่า ผมหวังว่าอยากให้ราชการให้สิทธิ์ทำกิน เราจะได้ปลูกผัก ปลูกปาล์ม เผื่อว่าจะได้มีเงินเหมือนอย่างเพื่อนบ้าง