หลังขบวนคาราวานแก้ปัญหาความยากจนที่นำโดย “ประจักษ์ สุวรรณภักดี” พ่อเมืองพัทลุง เข้ามารับฟังปัญหาความยากจนของชาวบ้านตำบลเกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2548 ทำให้ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้านเข้าสู่การแก้ปัญหาของจังหวัด
ที่ดินบริเวณเกาะเต่าอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า แบ่งการแก้ปัญหาออกเป็น 3 โซน ตามลักษณะของพื้นที่ คือ โซนที่ 1 อยู่ในเขตป่าสงวน หรือที่ดินหน้าป้าย โซนที่ 2 อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า มี 600-1,000 ไร่ และโซนที่ 3 เป็นป่าสงวนหมดสภาพ ก่อนปี 2497 จำนวน 1,720 ไร่เศษ 335 แปลง อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินของป่าไม้อีก 800-1,000 ไร่ ซึ่งที่ดินแปลงนี้ประชาชนตั้งถิ่นฐานก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน
ตาเอื้อน แก้วศรี ชาวบ้านหมู่ 13 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เล่าให้ฟังว่า ตนเกิดเมื่อ พ.ศ.2490 เป็นคนในหมู่บ้านนี้ ส่วนพ่อแม่ก็มาอยู่ในที่ดินนี้นานแล้ว เดิมอยู่กันราว 7 ครอบครัว เป็นเครือญาติกัน สมัยนั้นยังมีป่าอยู่ ทำเกษตรทีไรก็มักจะมีช้าง หมูป่า มาทำลายพืชผลทางการเกษตรบ่อยครั้ง ต่อมามีคนจากพื้นที่อื่นอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้น เช่น ชาวบ้านแถวทะเลน้อย เพราะที่ดินทำนาไม่เพียงพอ แต่พอมาอยู่หมู่บ้านนี้ต้องเปลี่ยนอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้
นายคณิต คงทอง คณะทำงานปัญหาที่ดินเกาะเต่า กล่าวว่า การไม่มีเอกสารสิทธิ์ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะการขอเงินสงเคราะห์จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ซึ่งเดิมมีการอนุโลมให้ อบต.ในพื้นที่เป็นผู้รับรอง แต่ตอนหลังยกเลิกไป จึงต้องหาทุนรอนกันเองเป็นค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ต้นยาง ค่าดูแลรักษาต่างๆ คิดค่าลงทุนไร่ละ 8,000-10,000 บาท/ปี (ไม่คิดค่าแรง) กลายเป็นปัญหาที่ทำให้บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินกันตลอดมา
“ชาวบ้านพยามที่จะแก้ปัญหาของตนเองมาตลอด 10 ปี แต่ก็ไม่เป็นจริงเป็นจังสักครั้ง เคยเก็บข้อมูลไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็หายไป จนมาวันที่ 27 มกราคม 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงได้ยกขบวนคาราวานแก้จนมาที่ศาลาหมู่บ้านเกาะเต่า แกนนำชาวบ้านก็เลยนำเสนอปัญหานี้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้มีการร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง” นายคณิต กล่าว และว่า ต่อมามีการนัดหารือระหว่างแกนนำชาวบ้าน และเห็นว่าควรเปิดเวทีชุมชนให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนมาเสนอปัญหา จนในที่สุดก็มีการเปิดเวทีระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน
วิธีการทำงานนั้น จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนตามลักษณะความยากง่ายของการแก้ปัญหา แบ่งออกเป็น 3 โซน โดยโซนของหมู่ 13 บ้านเหนือ เป็นพื้นที่ที่สามารถแก้ปัญหาง่ายที่สุด เพราะอยู่ในเขตป่าสงวนหมดสภาพก่อนปี 2497 และมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาว่า ชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าสงวน ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือสภาพของป่าสงวนเลย เมื่อเห็นข้อสรุปร่วมกันแล้ว สำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงก็จัดเวทีทำความเข้าใจกับชาวบ้านเตรียมรังวัดที่ดินแต่ละราย จนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ปีนี้ สำนักงานที่ดินได้เดินออกรังวัดที่ดินให้กับชาวบ้าน
ต่อมาวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มีการออกโฉนดให้กับชาวบ้าน 82 แปลง วันที่ 12 มิถุนายน ออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน 94 แปลง วันที่ 16 มิถุนายน ออกโฉนดให้กับชาวบ้านอีก 137 แปลง เนื่องในวโรกาสครองราชย์ 60 ปีในหลวง วันที่ 26 มิถุนายนมีการออกโฉนดเพิ่มเติมอีก 24 แปลง ซึ่งยังเหลืออีก 30กว่าแปลงกำลังดำเนินการออกโฉนดอยู่
คณะทำงานปัญหาที่ดินเกาะเต่า บอกอีกว่า สาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของชาวบ้าน และชาวบ้านต้องการแก้ปัญหาของตนเอง จึงมีการตั้งคณะทำงานชุมชนขึ้น เพื่อประสานกับผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน จัดทำข้อมูลชาวบ้าน จำนวนแปลง ทำแผนที่ทำมือ และประสานงานกับคณะทำงานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน ส่วนโซนที่1 และ 2 ที่ยังไม่สามารถออกโฉนดได้นั้น ยังมีการดำเนินการต่อ บางพื้นที่กำลังรอพิสูจน์สิทธิ์ และกำลังทำแผนที่ทำมือ
นายสุวัฒน์ ขาวโปง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 บอกว่า บางคนอาจจะกลัวว่าถ้าชาวบ้านได้โฉนดไปแล้ว จะนำไปขายหรือทำให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปหานายทุนนั้น สำหรับคนบ้านเหนือคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราต่อสู้มาถึงวันนี้ก็เพื่อลูกหลานจะได้มีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า ไม่ได้เอาโฉนดมาเพื่อขายต่อ อีกอย่างที่ดินดังกล่าวเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยที่นายทุนไม่ต้องการอยู่แล้ว
“มันเป็นที่ดินผืนสุดท้ายของชาวบ้าน ตอนนี้ราคายางแพงเราก็กรีดยาง แม้ราคาจะตกไปกว่านี้ก็ยังต้องทำอยู่ที่นี่ มันเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่เราต้องเอาไว้ให้ลูกหลาน” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ กล่าว
การแก้ปัญหาความยากจนด้านที่ดินของจังหวัดพัทลุงนั้น มีพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง คือ ต.ลำสินธุ์ และบ้านวังโต๊ะขุ้ย ต.ชุมพล กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ที่บ้านพร้าว ต.ทุ่งลานโย และต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม นับเป็นจังหวัดหนึ่งที่การแก้ปัญหาเป็นความร่วมมือกันของหลายฝ่ายทั้งชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน หน่วยงานราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดที่จริงจริงกับการแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้าน