playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

8 กุมภาพันธ์  2549

วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ที่กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีวิบัติ ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านและเจ้าของเอกสารสิทธิ์ที่ดินชุมชนแหลมป้อม ชุมชนทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า และชุมชนบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมีตัวแทนชาวบ้านที่ประสบปัญหาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

    นายพีระพล ไตรทศาวิทย์  อธิบดีกรมที่ดิน รายงานถึงผลของการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาว่า แม้จะได้มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีที่ดินบ้านแหลมป้อมและบ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ระหว่างตัวแทนชาวบ้านกับเอกชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา แต่การเจรจาไม่คืบหน้า เพราะชาวบ้านและเอกชนเจ้าของที่ดินใช้ข้อมูลคนละชุด จึงทำให้หาข้อยุติไม่ได้ และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จภายใน 30 วัน ตามที่ ครม.กำหนดไว้ได้

“การที่ชาวบ้านต้องการให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินนั้น คงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะหากหลักฐานไม่แน่นพอ กรมที่ดินก็จะถูกเจ้าของที่ดินฟ้องร้องได้ จึงเหลือเพียงวิธีเดียวคือการเจรจาเท่านั้น จึงจะหาทางออกได้” อธิบดีกรมที่ดิน กล่าว

  พล.อ.อ.คงศักดิ์ ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินสึนามิไม่ง่ายๆ อย่างที่คิด และไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จทันกำหนดภายในสิ้นเดือนมกราคมตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้อย่างแน่นอน ซึ่งตนจะทำหนังสือแจ้งไปถึงนายกรัฐมนตรีและครม. เพื่อขอขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือน เพื่อจะได้ใช้เวลาในการทำงานอย่างเต็มที่และจะทำให้สามารถยุติปัญหาได้เสียที

ก่อนหน้านี้พล.อ.อ.คงศักดิ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ไปประชุมที่บ้านแหลมป้อม-ทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างชุมชนกับเอกชน และปัญหาสัญชาติของชาวมอร์แกนและคนไทยพลัดถิ่น และบอกว่าการแก้ปัญหาที่ดินแหลมป้อมและทับตะวันว่า จะใช้กระบวนการเจรจาระหว่างกันก่อน หากไม่เป็นที่ยุติจะให้เป็นกระบวนการศาล และตรวจสอบกระบวนการได้มาของเอกสารสิทธิ์ด้วย หากพบว่าได้มาโดยมิชอบจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์กลับมาเป็นของรัฐ แล้วจัดสรรที่ดินให้ชุมชนเพื่อให้ได้อยู่อาศัยกันชั่วลูกหลาน แต่ถ้าเอกชนได้ที่ดินมาโดยชอบก็จะเจรจาขอซื้อ เพื่อจัดสรรให้ชุมชนต่อไป ส่วนพื้นที่ขุมเขียวของชุมชนทับตะวัน ซึ่งเป็นที่จอดเรือของชาวบ้าน ที่มีเอกชนแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของนั้น ตนจะช่วยแก้ปัญหาให้ โดยแยกออกจากประเด็นที่ดินที่อยู่อาศัย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และถนนภายในชุมชนที่เป็นทางเดินไปสู่ขุมเขียว ซึ่งถูกปิดกั้นอยู่นั้น ได้ประสานให้นายอำเภอตะกั่วป่าและจังหวัดพังงาช่วยดูแล

ส่วนที่ดินของชุมชนในไร่นั้น จะแก้ปัญหาให้กับ 40 ครอบครัว ที่อยู่ใกล้ขุมเหมืองก่อน ค่อยหาทางช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนทั้งหมด โดยใช้หลักการเดียวกับชุมชนแหลมป้อมและทับตะวัน สำหรับขุมเหมืองที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่นั้น ได้ให้กรมที่ดินตรวจสอบการได้มาของเอกสารสิทธิ์ว่ามาโดยชอบหรือไม่ รวมทั้งสั่งการให้ดำเนินการให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากขุมเหมืองนี้ตลอดไป
ด้านประเด็นสัญชาตินั้น พล.อ.อ.คงศักดิ์ กล่าวระหว่างการพบกับคนไทยพลัดถิ่น เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะรับดำเนินการให้สัญชาติกับคนไทยพลัดถิ่น ที่พบแล้ว 1,909 คนทั้งในพังงาและระนอง เพียงแต่ตอนนี้ขอแก้ปัญหาให้กับชาวมอร์แกนก่อน

นายสุทิน กิ่งแก้ว หนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเป็นตัวแทนจากเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า เครือข่ายเสนอที่จะให้คืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นเท่านั้น และไม่ยอมรับการแปลงสัญชาติ และต้องการให้ดำเนินการโดยใช้ช่องทางพิเศษเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ประชาคมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็ว

นายอุดมเขต  ราษฎร์นุ้ย หัวหน้ากลุ่มชนกลุ่มน้อยและสัญชาติ กรมการปกครอง กล่าวว่า ขั้นตอนการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่นมี 3 ขั้นตอน คือ การสำรวจข้อมูลและการลงทะเบียนคนไทยพลัดถิ่น โดยมีกระบวนการสำรวจแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ จากนั้นจะเสนอให้พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย และสุดท้ายคนที่ได้รับการพิจารณาจะได้สัญชาติไทยและได้รับการปฏิบัติเหมือนคนไทยทั่วไปทุกประการ  ล่าสุดมีนคนไทยพลัดไทยพลัดถิ่นได้รับการแปลงสัญชาติแล้ว 908 คน แต่เจ้าตัวยังไม่ยอมไปดำเนินการ ซึ่งสามารถไปตรวจสอบรายชื่อได้ที่สถานีตำรวจที่ตนสังกัดอยู่ ส่วนจำนวนที่เครือข่ายฯ ได้เสนอมานั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจพิสูจน์หลักฐานอยู่  ในส่วนของคนไทยที่ยังไม่ได้สำรวจเพิ่มเติมนั้น ทางรัฐก็จะดำเนินการสำรวจให้หมด และร่วมกันกำหนดสถานะให้ชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาต่อไป

 ทั้งนี้วันที่ 29 ธันวาคม 2549 รมว.มหาดไทย ได้ลงนามในคำสั่งที่ 633/2548 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติตามมติ ครม.วันที่ 27 ธันวาคม 2548 มี รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ซึ่งวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติ ขึ้นที่กระทรวงมหาดไทย โดยทางเครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิ ได้เสนอปัญหาคนไทยไร้สัญชาติให้คณะกรรมการฯ แก้ไขเพิ่มอีก 3 พื้นที่ คือ ชุมพร-ตาก-ประจวบฯ ซึ่งวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยชุดแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ ได้ประชุมที่วัดอุปนันทาราม อ.เมือง จ.ระนอง และลงสำรวจข้อมูลพื้นที่ในชุมชนบางเบน กิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดยแบ่งปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คนไทยไร้สัญชาติที่เกิดในไทย  คนไทยไร้สัญชาติที่กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี และคนที่ข้ามมาจากฝั่งพม่ามาตั้งแต่ตอนแบ่งแยกเขตแดน โดยจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ เช่น บ้านเลขที่ พยานบุคคล เป็นต้น

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter