playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

ช่วงปี 2540 เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ชาวบ้านที่ถูกลอยแพจากโรงงานในเมืองใหญ่ ต่างมุ่งหน้ากลับสู่บ้านเกิด หวังที่จะหาอาชีพที่พอจะรองรับค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้พออยู่พอกินไปวันๆ

นางบุญนำพา  สุดเสน่หา สมาชิกกลุ่มสตรีพัฒนาเมืองแปดริ้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายและสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหัวสำโรง  อ.แปลงยาว กล่าวว่า เมื่อปี 2543 ได้ตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา จากนั้นก็พัฒนาไปสู่การตั้งกลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิก เพราะส่วนใหญ่เคยเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ในโรงงาน

สำหรับสมาชิกที่ไม่เป็นงาน เราก็ให้สมาชิกในกลุ่มซึ่งมีความรู้ทางด้านนี้เป็นผู้สอน ช่วยกันเองในกลุ่ม ลองผิดลองถูกมาด้วยกัน นอกจากทุกคนจะได้เนื้องานที่มีคุณภาพแล้ว เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เพราะทุกคนเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การได้พบปะกันทุกวันทำให้สมาชิกสนิทสนม กลมเกลียวกันมากขึ้น คุณภาพของงานที่ได้ก็มากตามไปด้วย

เริ่มแรกด้วยการตัดเย็บเสื้อผ้านักเรียนเพื่อส่งขายตามร้านค้าก่อน ภายใต้ตราสินค้าของกลุ่มคือตราดาว จากนั้นเริ่มประกาศขายหุ้นทางวิทยุชุมชนให้กับประชาชนในเขต อ.แปลงยาว ในราคาหุ้นและ 100 บาท และซื้อได้ไม่เกินคนละ 100 หุ้นเท่านั้น รวมทุนแล้วก็ได้ประมาณ 4 แสนกว่าบาท เงินทุนที่ได้นำไปซื้อจักรเย็บผ้า 8 ตัว และวัตถุดิบในการตัดเย็บต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าหรือเครื่องมืออุปกรณ์ในการตัดเย็บ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร
ต่าง ๆ หลายองค์กร เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน , อุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น

“ในช่วงปีแรกๆ เป็นปีที่ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอด ลองผิดลองถูกกันมาเรื่อย จนเริ่มปีที่สองทุกสิ่งเริ่มเข้าที่เข้าทาง
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาและอุปสรรคยังไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว เนื่องจากเงินทุนที่ไม่เพียงพอในการลงทุนตัดเย็บเสื้อผ้า และการตัดชุดนักเรียนนั้นสามารถขายได้ปีละ 2 ครั้ง ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการออกไปหาลูกค้าภายนอก เพื่อให้สมาชิกได้มีงานทำในระหว่างที่ว่างจากการตัดเย็บเสื้อผ้านักเรียน ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในละแวกใกล้เคียง เสื้อผ้าที่ตัดก็จะเป็นแบบฟอร์มพนักงาน ส่งผลให้สมาชิกและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้รายได้ของสมาชิกต่อคนอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ตามศักยภาพในการทำงาน สมาชิกที่ฝีมือดีและสามารถผลิตได้มากต่อวันก็จะมีค่าแรงพิเศษให้เพิ่มตามชิ้นงาน

นางศิระประภา  นภนิภา ประธานวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแปลงยาว เปิดเผยว่า จากสมาชิกเพียง 19 คน ปัจจุบันนี้วิสาหกิจชุมชนหัวสำโรงมีสมาชิกทั้งหมด 525 คน จากทั้ง 12 หมู่บ้าน ใน ต.หัวสำโรง

“ต้นปี 2548 เรามีออเดอร์จากกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย บรูไน ที่มีออเดอร์เข้ามาจึงต้องขยายเครือข่ายไปสู่อำเภอใกล้เคียง เพื่อกระจายงานและรายได้สู่ชุมชนใกล้เคียงในละแวกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่แปลงยาวเอง ต.วังเย็น ต.หนองไม้แก่น ต.บ้านซ่อง ต.ปากน้ำ ต.เกาะขนุน ขยายจนไปถึง อ.พนมสารคาม และ อ.สนามชัยเขต แล้วในตอนนี้”

ส่งผลให้มีพลังมากพอที่จะต่อรองกับนายทุน เพื่อผลประโยชน์ของคนในชุมชนที่จะได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย 
วิสาหกิจชุมชนหัวสำโรงทุกวันนี้จึงเป็นองค์กรรวมที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ โดยพวกเขาเอง

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter