playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

     por-230957

 

 

 

     ความเป็นมาการต่อสู้ทางชาติพันธุ์ของคนม้งตำบลปอ

                   ตำบลปอ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงเป็นส่วนใหญ่  มีที่ราบระหว่างเชิงเขาเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยระหว่างเทือกเขาดอยยาว ดอยผาหม่นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑,๖๓๕ เมตร  พื้นที่ป่าบางส่วนยังมีความอุดมสมบูรณ์ตามบริเวณแนวชายแดนที่ติดกับสาธารณะรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว   มีสัตว์ป่าหลายชนิด    มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๒    พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง หน่วยงานทหาร  และองค์การบริหารส่วนตำบลปอ  ในปี พ.ศ.๒๕๐๙  เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้ามาขูดรีด ใช้อำนาจเถื่อน กดขี่ทางเชื้อชาติ เรียกค่าไถ่เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท หมู ๕ กำ (หมูตัวหนึ่งยาว ๕ กำมือ) ต่อครอบครัว ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้สำหรับบริโภค จนชาวบ้านทนไม่ไหว ลุกขึ้นสู้ ยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่   ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จอมพลถนอม กิตติขจร  ใช้นโยบายกวาดล้างยุทธการ ๓ เลียบ  ชาวบ้านจึงได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อสู้กับรัฐบาลยาวนานถึง ๑๔ ปี    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ รัฐบาลจึงต้องประกาศใช้นโยบาย  ๖๖/๒๓  และ  ๖๕/๒๕  เพื่อใช้การเมืองนำการทหาร และการเจรจายุติการยิง    โดยมีข้อตกลงกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จึงทำให้เหตุการณ์สงบลง  โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • รัฐต้องให้สิทธิ์เรื่องสัญชาติไทยให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทุกคน และ    สิทธิที่ทำกินให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยอีก
  • รัฐต้องส่งเสริมสถานศึกษา เช่น โรงเรียนและการส่งบุตรเข้าโรงเรียนในเมือง

ความเข้มแข็งเริ่มจาการรวมตัวของกลุ่มชน

          พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง  ด้วยความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง  จึงมีการรวมตัวขององค์กรชุมชนในนามเครือข่ายชมรมม้ง ๕ จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมถึงการจัดตั้งเป็นเครือข่ายในระดับพื้นที่  คือ เครือข่ายเกษตรดอยยาว-ดอยผาหม่นขึ้นโดยมีสมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย ได้เสริมหนุนการดำเนินงาน มีพื้นที่ครอบคลุม ๓  ตำบล ๓  อำเภอ  คือ ต.ปอ     อ.เวียงแก่น  ต.ตับเต่า อ.เทิง และ ต.ยางฮอม  อ.ขุนตาล  มีการขับเคลื่อนแผนงานยุทธศาสตร์  ๗  เรื่อง  ดังนี้   

ยุทธศาตร์ที่  ๑   การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามนโยบาย ๖๖/๒๓  และ ๖๕/๒๕  รวมถึงสัญญา ลูกผู้ชาย ระหว่างรัฐบาลกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย  และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในรูปแบบ โดย   โฉนดชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๒  ผลักดันการมีสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ ๓   รณรงค์ฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนโดยองค์กรชุมชน  โดยมีคณะทำงาน โดยชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ ๔    ขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ยุทธศาสตร์ที่ ๕     ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทยดอยยาว-ดอยผาหม่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๖    ฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมชนเผ่าม้ง

ยุทธศาสตร์ที่ ๗   พัฒนาองค์กรเครือข่ายเกษตรกรดอยยาว-ผาหม่นให้เข้มแข็งก้าวหน้าและยั่งยืน คณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกรดอยยาว ดอยผาหม่น

โดยเครือข่ายเกษตรกรดอยยาว ดอยผาหม่นมีการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นหลัก  ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็มีการทำงานแบบควบคู่กันไป 

สภาองค์กรุชมชนตำบลทำให้มีสถานะทางการ

                    ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลปอ  จัดตั้งเมื่อวันที่  ๒๔  กรกฎาคม  ๒๕๕๑   โดยมีหมู่บ้านเข้าร่วมในการจัดตั้งสภาฯ จำนวน ๑๗  หมู่บ้านจาก ๒๐  หมู่บ้าน มีองค์กรชุมชนจำนวน  ๒๙  กลุ่ม/เครือข่าย  โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง  ส่วนคนพื้นเมืองยังไม่สนใจเข้าร่วมในการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน   โดยพื้นที่ตำบลปอ  อยู่ในเขตวนอุทยาน “ภูชี้ฟ้า”    ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย   อยู่ในพื้นที่ความมั่นคงของทหาร  อยู่ในเขตป่าสงวนแม่งาวฝั่งขวา  มีระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงราย ๑๖๔ กิโลเมตร  ประชากรทั้งสิ้น จำนวน ๔,๓๖๗  หลังคาเรือน   ๑๕,๖๗๔ คน  ชาย  ๘,๒๒๖  คน หญิง ๗,๗๔๘  คน  มีชนเผ่าที่หลากหลาย อาทิเช่น   ไทลื้อ   อาข่า   จีนคณะชาติ   ม้ง  และคนพื้นเมือง 

                    ปัญหาในพื้นที่ยังยืดเยื้อยาวนานจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากทางรัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ  ตามนโยบาย ๖๖/๒๓  บางส่วนถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว  ข้าวโพด  หอมหัวใหญ่  กระหล่ำ  ผักไม้ผลเมืองหนาว และปลูกยางพารามากขึ้น 

                   คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลปอ จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่   โดยได้นำยุทธศาสตร์ของเครือข่ายเกษตรกรดอยยาว ดอยผาหม่น  มาเป็นยุทธศาสตร์ของสภาองค์กรชุมชนตำบลปอ  ประกอบกับอาศัยอำนาจและภารกิจตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑  เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  โดยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลปอส่วนใหญ่มาจากผู้นำท้องที่และผู้เดือดร้อนในตำบลที่มาจากกลุ่ม/เครือข่ายต่าง ๆ ในตำบล  

                   เมื่อมีการกลไก คณะทำงาน  มีการจัดบทบาทตามความรู้ ความสามารถของแต่ละคนแล้ว       มีแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน  จึงเกิดการกำหนดแผนงานกิจกรรมการพัฒนาชุมชนระดับหมู่บ้านและตำบลดังนี้

๑)      พัฒนาศักยภาพและการเสริมความรู้โดยฝึกอบรมการใช้แผนที่ ๑:๔๐๐๐ และการจัดทำข้อมูล GIS  ในการพัฒนาข้อมูลแผนที่ในหมู่บ้านนำร่อง  ๙ หมู่บ้าน ให้กับผู้นำและคณะทำงานในระดับตำบล  และมีทีมคณะทำงานจำนวน ๑๐ คน 

๒)      การเดินสำรวจขอบเขตหมู่บ้าน   แนวเขตป่า  และข้อมูลรายแปลง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จนแล้วเสร็จจำนวน  ๙ หมู่บ้าน

๓)      การพัฒนาข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนและการจัดการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ๑๗ หมู่บ้าน

๔)      การพัฒนาข้อมูล GIS  แล้วเสร็จจำนวน  ๙ หมู่บ้านโดยคณะทำงานในตำบลที่สามารถจัดทำระบบข้อมูล รวมถึงการปรับแก้ไขข้อมูลได้เองหากพบข้อผิดพลาด

๕)      การกำหนดกติกาชุมชน  เพื่อการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากที่ดิน  จำนวน  ๙ หมู่บ้าน

๖)      การส่งเสริมการออมเพื่อ จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินชุมชนแล้ว  จำนวน  ๑  หมู่บ้าน

๗)      การประชุมเชื่อมโยงข้อมูล  และแผนพัฒนาท้องถิ่นในการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)  กับ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จนได้รับการบรรจุแผนในข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี

๘)      ประสานทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง  ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดเชียงราย  และภาคีความร่วมมืออื่น ๆ  โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับ  นอกจากนี้ยังจัดให้มีการศึกษาดูงานของคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการการดำเนินงานกับพื้นที่รูปธรรมอื่น ๆ  ทั้งในและต่างจังหวัด   เพื่อให้ผู้นำและคณะทำงานได้เปิดมุมมอง วิธีคิด  วิธีการใหม่  มาปรับใช้ในพื้นที่

๙)      ยื่นขอจัดโฉนดชุมชน ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี  ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๓

 

ยิ่งดำเนินการ ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งปรับปรุงและแก้ไข

             หลักความเชื่อของคนม้ง  มักเชื่อมั่นในผู้นำหรือผู้อาวุโส  ที่ควรแก่การเคารพและให้เกียรติ  เมื่อผู้นำเห็นดีเห็นงาม ทุกคนก็พร้อมเข้ามีส่วนร่วม   บางครั้งอาจรอให้สั่งการโดยไม่ล้ำหน้า  ซึ่งอาจถึงได้ว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในขณะเดียวกัน    โดยจุดแข็งนั้นเมื่อผู้นำพร้อมเห็นด้วยจะทำให้สามารถดำเนินงานได้ดีและมีความร่วมมือ  แต่บางครั้งผู้นำยังไม่ได้เห็นความสำคัญก็ทำให้แผนงานดำเนินไปอย่างล่าช้า

            จุดเด่นของตำบลปอ   มีผู้นำท้องที่ที่เข้าใจ  มีคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง   โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีในการทำงานได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะงานด้าน GIS  แต่ผู้นำทุกคนส่วนใหญ่มักมีตำแหน่งและภารกิจหลักของตนเอง  จึงทำให้มีการทบทวน ย้ำบทบาทหน้าที่  ย้ำแผนงานกิจกรรมที่วางไว้  รวมถึงเป้าหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงานกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายต่อการแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น

            อุปสรรคส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก  เช่น  นโยบาย  กฎหมายต่าง ๆ   ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่  เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตป่า   โดยเฉพาะการขยายเขตอุทยานแห่งชาติ   ป่าสงวนแห่งชาติ  ถึงแม้หมู่บ้านชุมชนจะมีการตั้งถิ่นฐานมากว่า ๑๐๐ ปีแล้วก็ตาม   รวมถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง  ทำให้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช.  และมีการจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อขอคืนพื้นที่จากหน่วยงาน  ยิ่งทำให้ชาวบ้านยิ่งหวาดระแวงและวิตกกังวลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตตามวิถีชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศแห่งนี้มาช้านาน

 

แผนพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด 

                        กระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมา  คณะทำงานยังตอบไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดหรือสำเร็จได้เมื่อไหร่   เนื่องจากสถานการณ์  ผันแปร  เปลี่ยนแปลงไปทุกวันเวลาที่ก้าวผ่าน   แต่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการสะสมข้อมูลข้อมูลปัญหา   ข้อมูลสถานการณ์  ข้อมูลผู้เดือดร้อน  ข้อมูลประวัติชุมชน ข้อมูลกติกาชุมชน ฯลฯ  กลไก คณะทำงานเองก็ได้พัฒนาศักยภาพ  ความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น  มีองค์ความรู้ใหม่ๆ   เพิ่มเติมเข้ามา  และที่สำคัญที่สุดเมื่อมีปัญหา   ก็ทำให้กระบวนการคิดและค้นหาวิธีการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ  ไปเรื่อย ๆ   ดังนั้น  จึงมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการดำเนินงานไปตามสถานการณ์  แต่ยังคงแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรไว้อย่างเหนียวแน่นดังนี้

๑)      การพัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อแนวคิดและเสริมหนุนงานด้านข้อมูล

๒)      การถอดชุดประสบการณ์/บทเรียนการดำเนินงาน  โดยมีเอกสาร หรือหนังสือการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับภายนอก

๓)      การพัฒนาการใช้ประโยชน์บนที่ดิน  ให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและเศรษฐกิจของชุมชน ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

๔)      พัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสมบูรณ์  เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจำแนกรายละเอียด  เพื่อกำหนดแผนพัฒนาตำบลทุกมิติในระยะต่อไป

๕)      พัฒนา/จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนได้จริง

๖)      ผลักดันข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน  

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter