ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และบึงกาฬ มีพื้นที่ประมาณ 170,226 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งประเทศ
ผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2600 มุ่งพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า เพื่อทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์และสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล โครงการพัฒนาที่สําคัญในพื้นที่ภาคอีสาน คือ สะพานขามแม่น้ำโขงจังหวัดมุกดาหารและนครพนม เมืองมุกดาหารจะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและพาณิชยกรรมของภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้เส้นทางรถไฟและยังจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ศูนย์กลางการบินจะอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี และโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสานอีก 7 แหล่ง คือ แหล่งชัยภูมิ แหล่งตลาดแค แหล่งนครราชสีมา แหล่งมหาสารคาม แหล่งกุลาร้องไห้ แหล่งบําเหน็จณรงค์ แหล่งอุบล และแหล่งหนองคาย เป็นต้น
ทิศทางการพัฒนาภาคอีสานดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน แน่นอนว่าประชาชนในภาคอีสานได้รับผลจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปมองในอดีต และปัจจุบัน การพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน มีบทเรียนที่สำคัญเกิดขึ้น ซึ่งเราไม่อาจมองข้าม และปล่อยผ่านไป
การต่อสู้เพื่อยับยั้งเหมืองแร่โปรแตสที่อุดรธานี
นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เล่าถึงการต่อสู้กรณีเหมืองแร่โปรแตสที่จังหวัดอุดรธานี บทเรียนสำคัญคือการทำงานจัดตั้ง งานมวลชนสัมพันธ์ หากเมื่อเราลืมงานจัดตั้งจะทำให้ฐานหลุด เรื่องโปรแตสการต่อสู้เริ่มต้นจากเรื่องใหม่ที่ไม่มีความรู้ แต่มีการศึกษาบทเรียนจากสมัชชาคนจน การต่อสู้กับท่อก๊าซ กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และอื่นๆ ที่ได้ทำการศึกษาอย่างมาก ก่อนจะมาเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่โปรแตสที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อปี 2543
บริบทการต่อสู้ช่วงนั้นมีรัฐธรรมนูญ 2540 มีกระแสวาทกรรมสิทธิชุมชน ที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหว หลังจากศึกษาในแง่มุมหลายประเด็น หลายแง่มุม และได้มีการสรุปการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตส จึงมีการตั้งกลุ่มศึกษาและคัดค้านเหมืองแร่ขึ้นมา โดยมีที่ปรึกษาทางวิชาการ มีการจัดการศึกษาสัญจร มีการใช้การเขียนจดหมายประสานคนที่ประเทศแคนนาดาให้ไปซื้อหุ้นเพื่อใช้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นในการคัดค้านกับบริษัทไม่ให้มาลงทุนที่ประเทศไทย ทั้งยังมีการชวนพี่น้องที่ฟิลิปินส์มาให้ความรู้เรื่องการทำเหมืองแร่
นายสุวิทย์ เล่าต่อว่า จากการศึกษาหาความรู้ จัดประชุมชาวบ้านต่อเนื่อง จัดตั้ง สร้างการรณรงค์ ซึ่งจากการรวมคนครั้งแรกประมาณ 30-40 คน มีการเดินทางไปถามผู้ว่าฯ จนมีการชุมนุมครั้งแรก 700 คน ที่ผ่านมามีการฝึกให้ชาวบ้านพูดตอบคำถามทำไมถึงค้านเหมืองแร่โปแตส รณรงค์ตะเวนอธิบายตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นการสะสมพลังของชาวบ้าน เพื่อสร้างพลังอำนาจการต่อรอง และใช้บทเรียนการต่อสู้ที่แก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ที่มีการบล็อคพื้นที่ไม่ให้ชลประทานเข้ามาวัดพื้นที่ จึงได้นำกลยุทธ์นี้มาใช้ในพื้นที่เช่นกัน และยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่น้องที่เดือดร้อนจากที่อื่น มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง
มีการแต่งเพลงหมอลำ เนื้อหาเรื่องโปรแตส และเที่ยวร้องไปเรื่อยๆ ในการต่อสู้ยุทธภูมิหลักคือที่จังหวัด และดึงให้ส่วนกลางลงมาต่อรองที่จังหวัด โดยอิงกับ ร.ธ.น. สิทธิชุมชน เป็นหลักอิง ซึ่งในการต่อสู้ที่ป่านมาก็มีคนถูกจับกุมแต่ก็มีการต่อสู้ในชั้นศาลจนชนะว่าชุมชนมีสิทธิ ในแนวทางการเคลื่อนไหว จัดตั้งองค์กรชาวบ้าน มีการศึกษา EHIA SIA มีการต่อสู้ทางกฏหมาย ซึ่งจะมีการสต๊อกข้อมูลข่าวสารทั้งหมด มีการใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเพื่อขอข้อมูลจากหน่วยงาน
วันนี้การตื่นตัวของพี่น้องวันนี้มีมาก แต่ยังไม่รู้การร่างหนังสือ อะไรคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้หน่วยงานไม่ค่อยตอบคำถามชาวบ้าน การปรับตัวของรัฐสู้ยากขึ้น การต่อสู้ในตอนนี้อาจมีการอบรมเรื่องงานสารบรรณในการต่อสู้ เป็นเรื่องพื้นฐานแต่มีความสำคัญในการจัดการข้อมูล เราต้องรู้ว่าเรื่องที่สู้เกี่ยวข้องกับร.ธ.น. เกี่ยวข้องกับกฏหมายอะไร ชาวบ้านต้องมีข้อมูล
อย่างไรก็ตามอะไรทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก มีการใช้เฟสบุ๊คในการสื่อสาร มีการทำกองบุญ การบริจาคเงินในการต่อสู้ มีการทำนารวม ทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่สะสมระดมทุน อีกเรื่องคือการใช้วิทยุชุมชนในการสื่อสารระดมคน ซึ่งสถานะวันนี้เรื่องโปแตสมีการยันกันได้ และในขั้นตอนทางกฏหมายต้องมีการลงประชามติ และผ่านการอนุมัติจาก อบต. เพื่อให้เกิดการอนุมัติโครงการที่เป็นการค้านตามกระบวนการกฏหมาย วันนี้เครื่องมือสาธารณะลดลง บริบททางสังคมเปลี่ยน หัวใจการรักความเป็นธรรมยังมีแต่เงื่อนไขเปลี่ยนเราต่อสู้กันอย่างไร ในกฏหมายแร่วันนี้ มีการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม มีการระบุให้มีตัวแทนสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา และในระดับตำบลต้องมีการประชาคมที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นในเรื่องการพัฒนาต่างๆ ที่เราสามารถใช้ประโยชน์ในการระงับยับยั้งได้ นายสุวิทย์ กล่าว
สู้เพื่อความเป็นธรรมที่เขื่อนราษีไศล ศรีสะเกษ
นางผา กองธรรม นายกสมาคมคนทาม แกนนำการต่อสู้กรณีการสร้างเขื่อนราษีไศล ที่ทางการเลี่ยงคำว่าเป็นการสร้างฝายขนาดเล็ก โดยสร้างในพื้นที่ที่ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ เริ่มต้นต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2535 และการต่อสู้เริ่มรุนแรงในช่วงปี 2538-2539 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสมัชชาคนจน ต่อสู้เรียกร้องจน ครม.ได้มีมติให้จ่ายเงินชดเชยในปี 2540 สู้มาจนได้รับเงินชดเชย 300 กว่าล้านบาท เริ่มต้นจากผู้ชาวบ้านที่เดือดร้อนกลุ่มเล็กๆ แต่กลุ่มเล็กๆ ก็ไม่ยินยอม และมีแกนนำ NGO มาช่วยมาจุดประกาย เริ่มต้นพันกว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 3 พันคน ในระหว่างทาง ก็มีการต่อสู้กับพี่น้องกันเองที่ไม่เห็นร่วม และได้รับการครหาพี่น้องได้เงินค่าชดเชยก็นำเงินมาสร้างบ้าน และซื้อรถ ก็มีคนมากล่าวหาว่าไปโกหกหลอกเงินรัฐบาลมา การต่อสู้ที่ผ่านมา ได้รับการดำเนินคดี 5 คดี
ช่วงปี 2543-2545 มีการเคลื่อนไหวชุมนุมยึดหัวเขื่อนเพื่อเรียกร้องให้เอาน้ำออกชาวบ้านจะได้รังวัดพื้นที่ เพราะมีชาวบ้านหลายร้อยครอบครัวให้ต่อสู้ โดยยึดหัวเขื่อนนาอยู่ 6 เดือน เพื่อให้ศึกษาผลกระทบทางสังคม จ่ายค่าชดเชยที่ยังไม่ได้รับ และดูแลพี่น้องในอนาคต การสู้มาอย่างต่อเนื่องคือต้องให้ประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการเพื่อมีส่วนร่วมในกรรมการเพื่อการตัดสินใจทุกชุด เมื่อศึกษาเสร็จ ก็มีการดำเนินการตามผลการศึกษา ที่มีการสรุปบทเรียน ต่อสู้จนถึงปี 2553 ได้มีการจัดตั้งสมาคม เราต้องเป็นองค์กรนิติบุคคล มีที่ตั้งองค์กร มีพี่น้องที่เป็นเครือข่ายชัดเจน จึงจดทะเบียนสมาคมคนทามขึ้นมา
นางผา เล่าต่อว่า ในการต่อสู้ก็ใช้การสมทบกองทุน ทำบุญกุ้มข้าว เคลื่อนงานเย็นให้ไปแก้งานร้อน มีการติดต่อหน่วยงาน รัฐบาล โดยมีโจทย์เพื่อให้เขามาร่วมงาน เมื่อก่อนใช้การชุมนุมคัดค้าน เปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ จากการไปชุมนุมกดดันที่ทำเนียบ เปลี่ยนมาเป็นเชิญหน่วยงานลงในพื้นที่ เชิญคนที่มีอำนาจลงมาในพื้นที่ ไม่ใช่ขอ ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงอย่างเดียว อย่างล่าสุดราษีไศลถูกกระทรวงเกษตรฯ ยกให้เป็นพื้นที่ โคกหนองนาทามโมเดล ที่กรมชลประทานลงมาช่วยหนุนเสริมสนับสนุนให้ราษีไศลเป็นโมเดล
การต่อสู้ที่สำคัญคือคนที่ถูกผลกระทบต้องเป็นเครือข่ายกันให้ได้ ไปนั่งกินข้าวคุยกันอย่าคิดว่าคนน้อย แล้วจะไม่พูดคุยกัน และการต่อสู้ของราษีไศล มีการวางแผนการทำงานมาโดยตลอด มีการจัดประชุมโดยไม่ให้หน่วยงานได้รับรู้ เพราะการเคลื่อนไหวเราต้องมีมวลชน เพราะมวลชนต้องเป็นตัวกัน มีการใช้งานวิจัยเข้ามาใช้ประโยชน์โดยทำงานวิจัยไทบ้าน ที่ต้องศึกษาให้รู้ถึงข้อมูลในด้านต่างๆ ถ้าทำในทางลับไม่ได้ ก็ทำกันอย่างเปิดเผย แต่เรื่องที่คุยกันก็คุยกันเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้คุยกันเรื่องจะไปประชุมที่นั่นที่นี่
นอกจากนั้นมีการปันจักรยานบอกรักแม่น้ำมูล เพื่อบอกรักกับผู้ว่า โรงเรียน วัด เป็นการปันหาเพื่อนสร้างแนวร่วม และรณรงค์ในสิ่งที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำมูล เช่นเรื่องปัญหาขยะในแม่น้ำมูล หรือการพื้นที่ที่มีความขัดแย้งให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะจะสามารถอ้างได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ หากทำจะเกิดผลกระทบ นอกจากนั้นจะใช้ผู้หญิงในการเป็นแนวหน้า เพราะผู้หญิงมีความอ่อนหวาน และใช้การเจรจาพูดคุยในแบบไทบ้าน ให้ไทบ้านจะเป็นแกนหลักในการพูดคุย สำคัญคืออย่าขาดการมีที่ปรึกษา โดยเฉพาะในด้านกฏหมายเพื่อให้การต่อสู้ได้มีหลักยึด
การต่อสู้เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวถึงการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืน โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวทางนโยบายไม่มีอะไรสำเร็จแบบหมดจดสมบูรณ์ จุดเริ่มการเคลื่อนไหวผลักดัน ต้องเริ่มจากประเด็นต้องชอบธรรม การจัดตั้งกลุ่มแกนนำที่เกาะติดกัดไม่ปล่อย จับให้มั่นคั้นให้ตาย และต้องมีการสร้างเครือข่าย เป็นเครือข่ายที่โยงกันจริงๆ 100 หมู่บ้านจะโยงกันอย่างไร เครือข่ายคือกลุ่มคนที่เป็นปัญหาร่วม ทำอย่างไรให้คนเห็นร่วมกัน เป็นบทการทำงานกับชาวบ้าน แต่คนอีสานไม่กล้าหาญเหมือนคนใต้ พื้นที่ปัญหาใหม่ชาวบ้านจะมีความหวาดกลัว เมื่อมวลชนกลัวเจ้ากลัวนายเพราะฉะนั้นต้องมีการฝึก พาชาวบ้านให้ผ่านการร่วมในเหตุการณ์ ต้องให้ข้อมูลให้ความรู้กฏหมายต่อชาวบ้าน
ประเด็นการเกษตรเป็นประเด็นเย็น เริ่มต่อสู้กับสารเคมีเมื่อปี 2549 ตอนนั้นสรุปว่าจะสู้เรื่องพันธุกรรม ที่เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ กับประเด็นเรื่องสารเคมีโดยเริ่มที่ภาคเหนือ ที่อีสานเริ่มเรื่องพันธุกรรม มีการศึกษาการใช้สารเคมีในสวนส้ม เมื่อเปิดเผยข้อมูลในเมืองแล้วทำให้ส้มขายไม่ได้ ทำให้การทำงานสารเคมีภาคเหนือแกนนำถูกขู่ฆ่าทำให้การทำงานเกิดการหยุดชะงัก
ขณะนั้นใบอนุญาตผลิตสารเคมีมากกว่า 27,000 ชนิด ต่อสู้จนมีการแก้ไขกฏหมายให้องค์กรประชาชน เข้าไปเป็นกรรมการวัตถุอันตราย แต่ทางฝ่ายทุนก็ออำไปตั้งองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อให้สามารถเสนอเข้าพิจารณาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือทำให้ฝ่ายทุนมีสัดส่วนกรรมการเพิ่มขึ้นมาอีก
การทำงานเคลื่อนไหวที่คิดว่าประสบผลสำเร็จคือเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมาเรียกว่ากลุ่ม ThaiPan ทำเรื่องสารเคมี โดยประสานงานวิจัยร่วมกับนักวิชาการกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลรวมกันที่กรุงเทพฯ และทำการสื่อสารสู่สาธารณะ เพราะงานวิชาการประสานการเคลื่อนไหวจึงจะมีพลังกระทบต่อสังคม และสร้างเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีอันตรายที่ปัจจุบันมีกว่า 700 องค์กร การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ประเด็นแบนพาราควอตได้ถูกบรรจุในนโยบายพรรคการเมืองหลายพรรค คิดว่านี่เป็นชัยชนะสำคัญ จาการทำงานปิดล้อมด้วยข้อมูล
นายอุบล กล่าวต่อว่า ธรรมชาติการต่อสู้ประเด็นร้อน ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในพื้นที่ตนเอง เมื่อไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้ก็จะสู้ไม่ได้ และการสร้างแนวร่วมเครือข่ายที่รวมกันเป็นการสร้างพลังในวันที่จะตี ในการที่จะต่อสู้กับการลงทุนอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องร่วมที่จะร่วมกันตี ควรมีการทำวิจัยในเรื่องอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อให้มีข้อมูลในทางวิชาการ ที่อีสานเกิดขึ้นที่ขอนแก่น มีการตั้งโรงงานมานานกว่า 25 ปี แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนอีสาน เสนอให้สภาองค์กรชุมชนได้ทำเรื่องข้อมูลและงานวิชาการ และในการต่อสู้ ต้องมีการประเมินคู่ต่อสู้ และกำหนดคู่ต่อสู้ให้ชัดเจน การต่อสู้ความกลัวทำให้เสื่อม เราไม่กลัวแต่เราควรมีสติระมัดระวังและไม่ประมาท
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
นางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ประเด็นสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า พอช.เป็นองค์กรริเริ่มเครือข่าย สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด 95 พื้นที่ตำบล ได้ขับเคลื่อนตามภารกิจสภาองค์กรชุมชน ตามมาตรา 21 ซึ่งในปี 2553 เกิดน้ำโขงแล้ง ได้เริ่มเรียนรู้บทเรียนจากครูตี๋ เพื่อให้ชาวบ้านพี่น้องเข้าใจประเด็นที่จะขับเคลื่อน เช่น ในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร มีองค์ประกอบที่ต้องเชื่อมโยงมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น สปป.ลาว จีน รวมถึงกลุ่มองค์กรภาคเอกชน จึงได้ส่งเสริมการทำงานของกลุ่มองฺค์กรภาคชาวบ้านต่างๆ ภายใต้สภาองค์กรชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจภายใต้บริบทที่กว้างขวางหลากหลาย และส่งเสริมชาวบ้านทำงานวิจัยเรื่องพันธุ์ปลา ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำงานข้อมูลโดยชาวบ้านมากขึ้น เน้นทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงหน่วยงาน เช่น สกว. สสนก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร การใช้เครื่องมือการสื่อสารผ่านไลน์ เฟสบุ๊ค เพื่อเตือนภัยต่างๆ ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง วิเคราะห์ให้เห็นผลกระทบ และสืบสาวหน่วยงานที่เป็นต้นตอของปัญหาอะไรบ้าง โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนประเด็นพื้นที่ และทำให้ชาวบ้านรู้เท่าทันข่าวสาร เน้นการสร้างและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายความร่วมมือให้เข้มแข็ง ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม สปป.ลาว เพื่อให้ชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้รับรู้การเชื่อมโยงพื้นที่ริมโขงซึ่งมีผลกระทบขนาดใหญ่ได้รับรู้ร่วมกัน เพื่อตั้งรับวางแผนในประเด็นที่ได้รับผลกระทบ ที่แตกไปจากประเด็นความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง กรณีปัญหาที่ดินวังน้ำเขียว ที่นครราชสีมา โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัด กลุ่มรักบ้านเกิด เครือข่ายลุ่มน้ำแก่งละว้า ขอนแก่น กรณีที่ดินอำเภออุบลรัตน์ เครือข่ายลุ่มน้ำโขง เขตเศรษฐกิจพิเศษ กรณีสารเคมี พาราควอต ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนซักถามเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างเข้มข้นเพื่อได้นำไปปรับใช้ต่อไป
หมายเหตุ : สรุปจากเวที การพัฒนาและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เรียนรู้กรณีประเด็นที่ส่งผลกระทบกับชุมชนภาคอีสาน ณ ราชาวดีรีสอร์ท อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2562 จัดโดย สำนักเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม ร่วมกับคณะทำงานพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชน สำนักเลขานุการสภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน สำนักสื่อสารจัดการความรู้และนวัตกรรมชุมชน และสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พอช. เพื่อให้ผู้นำสภาองค์กรชุมชนในภาคอีสานได้ศึกษาบทเรียนประสบการณ์ เครื่องมือในการขับเคลื่อนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐจากอดีต-ปัจจุบัน ไปปรับใช้และขยายผลการดำเนินงานต่อไป