playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

Aged society resize

วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร้วมกับเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  หน่วยงานท้องถิ่น  สำนักงานการประสานสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) และเจ้าหน้าที่พอช. จัดเวทีสรุปบทเรียน การจัดการความรู้ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ณ  มีผู้เข้าร่วม 115 คน 

“สังคมสูงวัย  คลื่นลูกใหม่ที่ต้องเจอ จะร่วมออกแบบ ระบบกลไก รองรับสังคมสูงวัย อย่างไร” เป็นหัวข้อในการอภิปราย  :โดย อาจารย์กรรณิการ์  บรรเทิงจิตร ผู้จัดการสำนักงานการประสานสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.)  อาจารย์ได้เกริ่นนำกรอบแนวคิดการปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ  (สปช.) พ.ศ. 2557-2558  4 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ  สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อม  จากสถานการณ์โครงสร้างประชากร ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย Aging Society อีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้   อาจารย์เล่าว่าช่วงแรกของการดำเนินงานต้องต่อสู้เรื่องความคิดเยอะมากโดยเฉพาะการสื่อสารให้สังคม ตระหนัก และตระหนกว่า สังคมสูงวัยไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุ  แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัยที่ต้องมาออกแบบสังคมร่วมกัน   โดยมีกรอบแนวคิดการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัยในระดับพื้นที่   การสรุป 5 ขั้นตอนบันไดในการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย  1)รับรู้ ตระหนัก  2)จัดทำข้อมูล 3)จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนรองรับสังคมสูงวัย 4)จัดกระบวนการ 5)ได้นโยบายรองรับสังคมสูงวัย  วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่องค์กรที่ได้ร่วมดำเนินการจากการเชื่อมประสานงานกับขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ  จะได้แลกเปลี่ยนสรุปบทเรียนร่วมกัน 

จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่ม  สรุปบทเรียน การจัดการความรู้  การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง จากโจทย์ 7 คำถาม  1)ทำไม ต้องจัดทำนโยบายสาธารณะ “สังคมสูงวัย”  2)ใคร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมการขับเคลื่อน  3) มีกิจกรรมการดำเนินการ อย่างไรบ้าง ในพื้นที่ของท่าน  4)มี เครื่องมือ ในการขับเคลื่อนอย่างไร  5)มี กลยุทธ์ วิธีการสำคัญ ในการขับเคลื่อนอย่างไร  6)ปัจจัยสนับสนุน ให้ประสบความสำเร็จ  7)ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ต่อการขับเคลื่อนในอนาคต (การจัดลำดับความสำคัญต่อการขับเคลื่อนในอนาคต)  พร้อมนำเสนอแลกเปลี่ยนเติมเต็ม  ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างกลยุทธ์ วิธีการสำคัญในการขับเคลื่อน เช่น จังหวัดราชบุรี “แผนผู้สูงอายุเบาใจ” การวางแผนจบชีวิต จบลมหายใจ คู่มือและพินัยกรรม ที่ผู้สูงอายุมอบให้แก่ลูกหลาน  กรณีเทศบาลรังสิตทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย   การประสานเชื่อมโยงในรูปแบบ Soft Power และ Hard Power เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นให้ความสำคัญ ฯลฯ  สิ่งที่สำคัญคือ องค์กรชุมชนต้องเป็นผู้มีจิตอาสา  ไม่รอรับคำสั่ง  ประสานเชื่อมโยง ออกแบบการดำเนินงาน  ลงมือทำ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

            จากนั้นมีการแลกเปลี่ยนเติมเต็มโดยผู้ทรงคุณวุฒิ นายพลากร  วงค์กองแก้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  สังคมสูงวัย เรื่องใหม่ของพอช.  พร้อมยกตัวอย่าง มุมมองการปล่อยให้สถานการณ์ไม่สามารถทำอะไรได้เลยเหมือนคนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ในอดีต  เกิดภาวะหนี้สินจำนวนมากจากการตัดต้นไม้ทำลายป่า  เพื่อปลูกข้าวโพด ส่งผลให้สภาพพื้นที่เป็นภูเขาหัวโล้น  ตามกระแสการพัฒนาทางเศรษฐส่วนใหญ่ของประเทศ คนแม่แจ่มจึงต้องกลับมาฟื้นฟูป่าต้นน้ำในปัจจุบัน  หากเราไม่เตรียมการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย  อาจเหมือนกรณีแม่แจ่มได้  ฉะนั้นต้องมีแผนเพื่อจะตั้งรับและรุกกลับให้ได้  เป็นแผนรองรับสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ เป็นผู้สูงวัยที่มีความกระตือรือร้นในการดำเนินงาน หัวใจสำคัญอยู่ที่การขับเคลื่อน หากไม่มีพวกเราช่วยกันดำเนินการอาจไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ 

ช่วงท้ายนางสาวสุวิมล  มีแสง  หัวหน้างานพัฒนาองค์ความรู้  กล่าวว่า ข้อเสนอจากเวทีวันนี้จะมีตัวแทนนำไปเสนอในเวทีประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย พ.ศ. 2562 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 นี้   ประเด็นเศรษฐกิจ  สังคม  สภาพแวดล้อม สุขภาพ นำไปสู่การขับเคลื่อนในยุทธศาสตร์ชาติต่อไป   สิ่งที่ทุกฝ่ายร่วมดำเนินการมาถือว่ามีคุณค่า และเป็นการยกระดับการดำเนินงานเรื่องสังคมสูงวัยร่วมกัน  

Aged society25_resize.jpg

รายงานโดยสำนักงานยุทธศาสตร์และเชื่อมโยงขบวนชุมชน

เครดิตภาพ  ธนชัย  อาจหาญ

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter