ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับคลองท่าแฉลบ – แม่น้ำจันทบุรี ทิศตะวันออกติดกับปากแม่น้ำคลองจันท์ ทิศตะวันตกติดกับที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตะกาดเง้าบ้านวังวน ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ทิศใต้ติดกับทะเล (ปากน้ำแหลมสิงห์) และอ่าวไทย มีจำนวนประชากรอาศัย 3,841 คน
ลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่มหรือที่หล่มดิน เป็นดินทรายและเป็นป่าเลนน้ำเค็ม พื้นที่เป็นที่นาซึ่งปัจจุบันเป็นนากุ้ง มีภูเขาที่สำคัญ คือเขาแหลมสิงห์ อาชีพหลักของชาวบ้าน ได้แก่ การทำประมง เลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากพื้นที่ตำบลบางกะไชยมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่มหรือที่หล่มดินเป็นดินทรายและเป็นป่าเลนน้ำเค็ม และอาชีพรอง ได้แก่ การค้าขาย และรับจ้าง
ชาวบ้านในตำบลบางกะไชยส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน บางบ้านที่อยู่อาศัยทรุดโทรม มีน้ำท่วมขัง หลังคารั่ว ฝาผนังผุพัง ทำให้การอยู่อาศัยไม่มีความปลอดภัย ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม
จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนและคนในชุมชนเห็นความสำคัญและอยากแก้ไข จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาตำบลบางกระไชย โดยในแผนนั้นต้องมีการกำหนดแผนและเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการของชุมชน จึงมีกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาโดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลบางกะไชยเป็นเวทีกลาง ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ ปี 2560 -2563
“โครงการบ้านพอเพียงชนบท” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัย สามารถแก้ไขปัญหาบ้านทรุดโทรม ทำให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ที่ผ่านมาชุมชนได้ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกะไชยเป็นพื้นที่กลางในการชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้นำแต่ละชุมชน จัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยการแบ่งทีมงาน พร้อมเอกสารแบบฟอร์ม ลงสำรวจทุกครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้าน รวบรวมข้อมูล ภาพถ่าย สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อยื่นเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนในการจัดสร้างและซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
โครงการบ้านพอเพียงชนบท เริ่มดำเนินงานในปี 2560 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการซ่อมแซมบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 56 หลัง ปี 2561 จำนวน 32 หลัง และปี 2562 จำนวน 10 หลัง รวมทั้งหมดจำนวน 98 หลัง งบประมาณซ่อมสร้างบ้านไม่เกิน 18,000 บาทต่อหลัง
ทั้งนี้การสำรวจหรือคัดเลือกผู้เดือดร้อนจะมาจากข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือของสมาชิก อบต.และผู้ใหญ่แต่ละหมู่บ้าน โดยการสำรวจข้อมูลแต่ละหมู่บ้านมาแล้วว่าบ้านไหนที่มีความเดือดร้อน สมควรได้รับการซ่อมสร้างก่อน
ส่วนการบริหารโครงการบ้านพอเพียงชนบทนั้น คณะทำงานได้ร่วมกันบริหารจัดการ โดยจัดให้มีการเรียกประชุม เพื่อกระจายข้อมูลให้ทุกหมู่บ้านรับรู้ จากนั้นจึงให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนส่งรายชื่อมา นำเรื่องหรือปัญหาที่พบในชุมชนมาเสนอในที่ประชุม
เมื่อได้รับงบประมาณมาแล้ว คณะทำงานได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร จึงจะมีเงินหมุนเวียน หรือบริหารอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ?
หลังจากการประชุมจึงตกลงกันว่าจะให้งบประมาณซ่อมแซมหลังละ 10,000 บาท โดยจะนำเงินส่วนต่าง 8,000 บาท มาเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนในการซ่อมแซมบ้านหลังอื่นๆ ในชุมชนต่อไป จึงทำให้ในปี 2562 ชุมชนสามารถซ่อมสร้างบ้านให้กับผู้เดือดร้อนเพิ่มได้อีก 21 หลัง โดยใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว
นางจำปา เนินทราย อายุ 40 ปี นำงบประมาณที่รับการช่วยเหลือมาสร้างห้องน้ำ เพราะแต่ก่อนไม่มีห้องน้ำ ต้องไปอาศัยทะเลในการทำธุระส่วนตัว
“ดีใจที่ได้ห้องน้ำใหม่ ทำให้สะดวกสะบายมากขึ้น”
ภาพบ้านเก่า-ใหม่
บ้านหลังนี้เดิมใช้สแลน (ตาข่ายกรองแสง) มาสร้างเป็นบ้าน หลังจากได้งบประมาณสนับสนุนจึงได้นำมาสร้างบ้านใหม่ โดยเจ้าของบ้านเป็นคนสร้างเอง เพราะเป็นช่างก่อสร้าง
บทความโดย ภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก