ตำบลนายายอาม มีประวัติเล่าว่า เดิมมีหญิงชราคนหนึ่งชื่อ "ยายอาม" มีไร่นาอยู่ในเส้นทางการสัญจรไปมาของชาวบ้าน และเป็นที่พักหมอนไม้ที่ลากจูงมาจากแก่งหางแมว เกิดเป็นย่านการคมนาคมและการค้าขาย ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "นายายอาม" ครั้นบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านและตำบลจนถึงปัจจุบัน
ตำบลนายายอามพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มดินลูกรัง มีลำคลองใหญ่น้อยไหลผ่าน ด้านเหนือมีป่าไม้เบญจพรรณ ด้านตะวันออกจรดอ่าวไทย มีฝนตกชุกตลอดปี อากาศร้อนชื้น
สภาองค์กรชุนตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 มีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเชื่อมโยงการทำงานกับหลายภาคส่วน ซึ่งโครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้สภาองค์กรชุมชนตำบลแห่งนี้
จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างต้องพึ่งพาตนเอง สถานะทางครอบครัวมีความแตกต่างกันไป บ้างก็พอมีพอกิน บ้างก็ยากจนแทบจะไม่ที่พึ่งพิงอาศัย หากมองในแง่ที่อยู่อาศัย สภาพบ้านเรือนที่มีความทรุดโทรมก็มีมากมาย ด้วยความยากลำบากหรือไม่มีทางออก และต่างก็รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่กว่าความช่วยเหลือจะมาถึง สภาพบ้านเรือนก็ยิ่งทรุดโทรมลงจวนจะพังลงมา
จากปัญหาดังกล่าว สภาองค์กรชุมชนตำบลนายายอามมีความพยายามที่จะช่วยเหลือชาวชุมชน โดยการประสานงานกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ให้เข้ามาสนับสนุนและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านพอเพียงชนบทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
นายสมศักดิ์ ศรีเสริม ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแก่งหางแมว เล่าว่า ก่อนการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ มีการรวมตัว มีการเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นและท้องที่ จากนั้นมีการคัดเลือกแกนนำในตำบลมาเป็นประธานสภาฯ กรรมการบริหาร และคณะทำงาน เวลามีประชุมในตำบลก็เข้าร่วมเสนอแนะรับนโยบายของสภาองค์กรชุมชนฯ
ต่อมาเมื่อมีโครงการบ้านพอเพียงชนบท โดยทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านหลังละ ไม่เกิน 18,000 บาท จึงมีการประชุมหารือเพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อน หมู่บ้านละ 2 หลังคาเรือน จากที่สำรวจได้ 20 หลังคาเรือน โดยขณะนี้ซ่อมแซมบ้านชุดแรกแล้ว 14 หลังคาเรือน เหลืออีก 6 หลังคาเรือนกำลังดำเนินการ
“โดยมีเงื่อนไขร่วมกันว่าต้องคืนดอกเบี้ย 190 บาท และผ่อนชำระเดือนละ 400 บาท เพื่อนำเงินเข้ากองทุนเอาไว้ซ่อมบ้านผู้เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป ส่วนผู้ที่เดือนร้อนจริงๆ ไม่มีกำลังในการผ่อนชำระคืน ให้ทำข้อตกลงร่วมกัน และข้อมติจากคณะกรรมการในการสงเคราะห์แบบให้เปล่า และหลังจากที่เก็บดอกเบี้ยได้ครบแล้ว จะรวบรวมเพื่อนำเงินไปซ่อมแซมบ้านหลังอื่นๆ ต่อไป” ประธานสภาฯ เล่าถึงเงื่อนไขการซ่อมบ้าน
นายนิด รุจิวงศ์ บ้านเลขที่ 42 หมู่15 เล่าว่า ครอบครัวอาศัยอยู่กันทั้งหมด 3 คน ตนทำอาชีพรับจ้าง ค่าใช้จ่ายแต่ละวันไม่เพียงพอ อยากจะซ่อมแซมบ้านมาก เพราะบ้านทรุดโทรมมาก ใกล้จะพังแล้ว ตอนนี้มี พอช.เข้ามาช่วยเหลือให้งบสนับสนุนซ่อมแซมบ้านแล้ว รอวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมและแรงงงานที่จะมาช่วยซ่อมแซมบ้าน
“ผมดีใจมากๆ ที่จะมีหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และอยากบอกว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยเหลือคนยากจน และอยากให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ” นายนิดพูดถึงความรู้สึก
นายประยุทธ์ สร้อยศรี บ้านเลขที่ 84 หมู่ 12 กล่าวว่า บ้านที่ตนอยู่นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่การดูแลของ ส.ป.ก. แต่ก่อนไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก บ้านก็ผุพังมีปลวก แต่ภายหลังได้รับอนุญาตจาก ส.ป.ก. ให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ได้ จึงเริ่มทำการซ่อมแซมบ้าน โดยได้รับงบประมาณมาจากสภาองค์กรชุมให้สร้างใหม่ทั้งหลัง ตอนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สร้างให้เปล่าโดยไม่ต้องคืนเงิน ตนรู้สึกดีใจที่มีหน่วยงานมาช่วยเหลือ
นางสำออย ประจงใจ บ้านเลขที่ 6 หมู่ 5 เล่าว่า ก่อนจะมีหน่วยงานเข้ามาช่วยสนับสนุนงบซ่อมแซมบ้าน ตนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก สภาพบ้านค่อนข้างทรุดโทรม หลังคาบ้านต่ำ ได้รับอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซมและขึ้นโครงบ้านใหม่ เป็นโครงเหล็ก หลังจากที่ได้รับความช่วยเหลือก็รู้สึกดีใจที่จะได้บ้านที่ดีและแข็งแรงขึ้น
นายสมศักดิ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแก่งหางแมว กล่าวว่า จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในตำบลที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการที่ขบวนองค์กรชุมชนเข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ยากลำบากนั้น ทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของขบวนองค์กรชุมชนตำบลนายายอาม
“ชาวบ้านต่างดีใจที่ได้บ้านที่มีความแข็งแรงกว่าเดิม และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขอขอบคุณขบวนองค์กรชุมชนเป็นอย่างมากที่เข้ามาช่วยเหลือ อยากให้มีโครงการเช่นนี้ไปเรื่อยๆ” ประธานสภาฯ กล่าวในตอนท้าย
บทความโดยภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก