ตำบลบะ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าชุมชน 7 ป่า ได้แก่ ป่าโคกแต้ว ป่าเปือยปราสาท ป่ากาณี ป่าหนองหว้า ป่าบ้านยางเก่า ป่าโนนพยอม ป่าโคกตาเต และป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ป่า รวมเนื้อที่มากกว่า 2,200 ไร่ เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ เช่น ผักเม็ก ผักกระโดน ส้มโมง ผักอีรุน อีรอก ดอกกระเจียว เห็ด และสมุนไพรนานาชนิด ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร ทำเลเลี้ยงสัตว์ และทำเลเลี้ยงช้าง อีกทั้งมีแม่น้ำมูลและห้วยระวีไหลผ่าน ก่อเกิดฐานทรัพยากรอาหารที่หลากหลาย ทั้งในป่าชุมชนและป่าบุ่งป่าทาม
วิสัยทัศน์ : ตำบลจัดการตนเอง
ด้วยความที่เป็นพื้นที่ลุ่มริมฝั่งลำน้ำมูลและห้วยระวี สลับกับที่โคกหรือที่เนินดิน ทำให้ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและแห้งแล้งซ้ำซากในบางพื้นที่ กระทั่งสามารถจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบะ ในปี 2553 เกิดการรวมกลุ่มองค์กรชาวบ้านจัดการภัยพิบัติ โดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรับมือภัยพิบัติ นำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการจัดการภัยพิบัติและทรัพยากรท้องถิ่นทั้งระบบ
วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายความสุขของคนตำบลบะ เน้นการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง พออยู่พอกิน ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการน้ำและพัฒนาระบบกระจายน้ำ ให้ทั่วถึงทั้งตำบล อาทิ
- การสร้างคลองส่งน้ำจากฝายตะลุง(แม่น้ำมูล) สู่คลองซอย 5 หมู่บ้าน
- โครงข่ายเส้นทางน้ำห้วยบักดอก-หนองเฉนียง-ห้วยระวี
- โครงข่ายเส้นทางคลองสะเดา - ห้วยระวี
- เส้นทางหนองตะโก - คลองสนวน - ห้วยระวี
- เส้นทางแนวคลองเส้นใหม่ ฝายตะลุง - คลองอีสานเขียว – ห้วยระวี
นายประสิทธิ์ ซ่อนกลิ่น กำนันตำบลบะ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบะ กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการน้ำเป็นอันดับแรกนั้น เพราะต่างตระหนักว่า “น้ำคือชีวิต” หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตและผู้คนชาวตำบลบะให้อยู่ดีมีสุข ควบคู่กับการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะต้นทาง สร้างกติกาชุมชน ในการจัดการขยะต้นทาง ในระดับครัวเรือน/หมู่บ้าน ไม่นำขยะไปทิ้งในที่ป่าชุมชนหรือทำเลเลี้ยงสัตว์ รวมถึงมีการเฝ้าระวังการลักลอบขนขยะจากนอกชุมชน มาทิ้งในเขตป่าและที่สาธารณะประโยชน์ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับตำบล ผลักดันให้บรรจุเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นและข้อตกลงร่วมในธรรมนูญตำบล ตลอดจนรณรงค์ลดการลดใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ออมดิน ออมน้ำ ออมป่า สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ชั่วลูกชั่วหลาน
ในปี 2561 สภาองค์กรชุมชนตำบลบะ จัดเวทีนำเสนอแผนกลยุทธตำบลต่อผู้บริหาร อปท. โดยมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ ปลัด อบต. และผู้บริหารท้องถิ่นเข้าร่วม กระทั่งสามารถบรรจุเข้าบ้อบัญญัติท้องถิ่น ในแผนงานโครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการอบรมเกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง
2.โครงการจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน
3.โครงการบริหารจัดการสถานที่สำหรับทิ้งขยะ
4.โครงการกำจัดขยะตำบล ภายใต้โครงการจัดการขยะจังหวัดสุรินทร์
5.โครงการปลูกป่าชุมชน
6.โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ
7.โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน
8.การอุดหนุนเกษตรอินทรีย์ตำบลบะ ตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบะ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามระเบียบ
จากนั้นจึงเริ่มการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "เมืองอาหารปลอดภัย" โดยเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรจากเคมีสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ การคุ้มครองแหล่งอาหารชุมชน ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ สร้างข้อตกลง/ธรรมนูญชุมชน โดยมีตลาดชุมชนหรือตลาดสีเขียว เป็นช่องทางการตลาดรองรับผลผลิตจากชุมชน ซึ่งสามารถขยายความร่วมมือ ในการสร้างอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน
จากกติกา ดิน-น้ำ-ป่า พัฒนาสู่ธรรมนูญตำบล
ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งเคยปลูกพืชผักและสมุนไพรไว้บริโภคเองในครัวเรือน ได้เปลี่ยนไปตามกระแสความต้องการภายนอก เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรตามความต้องการของพ่อค้าเร่ ซึ่งจะกระจายสินค้าเช่น หินขัดตัว ใยบวบ ขมิ้นผง ไพล สมอ มะขามป้อม และสมุนไพรต่างๆ ส่งไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นการปลูกเพื่อขายเป็นหลัก จากนั้นจะซื้ออาหารสำเร็จรูป (แกงถุง) รวมถึงพืชผักจากตลาดภายนอก รถเร่ และตลาดนัดคลองถม เป็นต้น ซึ่งไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิตและผลิตแบบเกษตรเคมีเป็นหลัก
เริ่มมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) จำนวนมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่สูงวัยและในวันกลางคนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ปัญหาการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ยังลุกลามไปในกลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งทางสถานศึกษาไม่สามารถจัดหาผักได้ตลอดทุกฤดูกาล ขาดการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการจัดหาพืชผักผ่านแม่ค้า/แม่ครัวเป็นหลัก โดยผู้ประกอบอาหารมักมองที่ความสะดวกในการจัดหา ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ผักที่ผลิตในชุมชนไม่สวยและไม่เพียงพอ จึงหันไปซื้อจากรถเร่มากกว่า ด้านผู้ผลิตหรือเกษตรกร มีจำนวนน้อย ผลผลิตไม่เพียงพอ ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารปลอดภัยอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งไม่มีกลุ่มที่ชัดเจนในการติดต่อประสานงาน ทั้งนี้พ่อแม่เองก็ไม่ส่งเสริมให้ลูกกินพืชผักและอาหารที่ปลอดภัย ตามใจจนเคยชิน จนเด็กๆ นิยมบริโภคอาหารตามสื่อโฆษณา เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารด่วน และลูกชิ้นทอด เป็นต้น
สภาองค์กรชุมชนตำบลบะ ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีฉันทามติร่วมกันว่า การควบคุมสารเคมีสารพิษในภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีกติกาชุมชนหรือธรรมนูญตำบล ร่วมกับประเด็นปัญหาอื่นๆ เพื่อสร้างสมดุลการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) รพ.สต. สถานศึกษา ผู้นำ ภูมิปัญญาชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และประชาสังคม ในการจัดทำธรรมนูญตำบล จนสามารถประกาศใช้แล้วในปัจจุบัน
นี่คือรูปธรรมของการกลุ่มองค์กรชุมชน ในการร่วมกันกำหนดอนาคตตนเอง มีความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง ของพี่น้องชาวตำบลบะ เป็นการออกแบบการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เพื่อลูกเพื่อหลาน ซึ่งกำลังพัฒนาฐานเรียนรู้ด้านต่างๆ เพื่อถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ สร้างแบบอย่างและขยายผลไปสู่ชุมชนและภาคีเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป