ในการสำรวจจัดเก็บข้อมูล ศักยภาพและทุนภายใน ด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน ของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างระบบศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนา โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เลือกใช้การสื่อสารง่ายๆ เพื่อค้นหา “แหล่งกิน แหล่งเที่ยว แหล่งเรียนรู้” ของแต่ละชุมชน จากแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำแนวเทือกเขาพนมดงรัก ไปจนสุดลุ่มน้ำมูลและทุ่งกุลาร้องไห้ การออกเดินสำรวจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่คณะสำรวจและภาคีเครือข่ายเป็นอย่างมาก
ด้วยความเป็นเมืองชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ล่อแหลมด้านความมั่นคง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามของจังหวัดสุรินทร์ ถูกซุกซ่อนไว้รอการค้นพบและอวดสายตานักท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก การเป็นพื้นที่รอยต่อกับเพื่อนบ้าน ซึ่งมีสงครามการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ฐานทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้เป็นแนวกันชน เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การสร้างระบบกระจายน้ำคอนกรีต เป็นต้น พื้นที่ชายแดนจึงการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เชื่อมโยงระบบชลประทาน แต่เป็นแหล่งน้ำตามแนวกันชนมากกว่า 20 แห่ง
สังคม พรมเสนา แกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ รับอาสาเป็นมัคคุเทศก์ พาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวและฐานทรัพยากรของพื้นที่ตำบลตาตุม เริ่มด้วยการเชิญชวนไปกินเงาะและทุเรียนสดๆ ในสวน ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญดึงดูดความสนใจของคณะสำรวจ เพราะจังหวัดสุรินทร์พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก พอได้ข่าวคราวว่าพื้นที่ใดสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลายชนิด มีเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มักได้รับความสนใจเสมอ
แทนที่จะพาชมสวน ไกด์ของคณะสำรวจกลับพาขึ้นเขาและเดินป่า ผ่านป่าเบญจพรรณผสมเต็งรัง มีแท่งหินปูนขนาดใหญ่กระจายไปทั่ว ตลอดเส้นทางเดินป่ามีต้นไม้ใหญ่ พืชเถาวัลย์ และสมุนไพรหายากขึ้นอยู่หนาแน่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามแนวชายแดน ซึ่งยังไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ มีเสน่ห์และหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้เสมอ กระทั่งมาถึงบริเวณเนินเขาที่สูงที่สุด เรียกว่า “เนินสี่ร้อย” มีเชิงผาที่ไม้ปกคลุมหนาแน่น มองเห็นแนวป่าฝั่งประเทศกัมพูชาอยู่ไม่ไกล ด้วยทัศนียภาพงดงามและอากาศเย็นสบาย ไม่มีใครในคณะสำรวจผิดหวังหรือบ่นอยากกินเงาะอีก
นอกจากนี้ พื้นที่ป่าต้นน้ำยังก่อให้แหล่งน้ำซับ น้ำตก และลำธารน้อยใหญ่ สำหรับแหล่งน้ำซับบ้านคะนา นับเป็นน้ำแร่ธรรมชาติที่ไหลตลอดปี ชาวบ้านได้อาศัยเป็นน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคมาโดยตลอด มีความสะอาดปลอดภัยสามารถดื่มกินได้ มีประชานทั่วไป หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำรถบรรทุกน้ำและรถดับเพลิง มาขนน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ขาดแคลน โดยชุมชนคิดอัตราค่าบริการที่ไม่แพง เป็นการบำรุงสถานที่และจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจน้ำดื่มอย่างเป็นรูปแบบชัดเจน แต่กำลังพัฒนาไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนน้ำแร่ธรรมชาติ
ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นรากฐานชีวิตและปัจจัยชี้ขาดความอยู่รอด ได้พัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดมอญ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อันดับ 2 ของจังหวัดสุรินทร์ รองจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เป็นต้นทุนน้ำที่สำคัญของพื้นที่ชลประทานหลายพันไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลตาตุม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตาตุม ได้ประสานงานความร่วมมือและออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อหวังสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น
แผนงานเชื่อมโยงงบประมาณกับท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆในระดับจังหวัด โดยใช้รูปแบบกระบวนการพัฒนาโดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลตาตุม เป็นตัวขับเคลื่อนงานพัฒนาในตำบลตาตุม ดังนี้
จากความอุดมสมบูรณ์ข้างต้นพื้นที่ตำบลตาตุมที่เดิมนับว่าห่างไกลการรับรู้ของผู้คน กำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การวางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสร้างระบบกระจายน้ำทั่วถึง รวมถึงเส้นทางคมนาคมขนส่งเนื่องจากมีเส้นทางเชื่อมสู่ตลาดช่องจอม (ตลาดการค้าชายแดน) เพียง 10 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต ซึ่งกำลังเปิดฐานเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้พื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดน สามารถนำเสนอศักยภาพและทุนภายในของตน ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพข่าว และวีดีทัศน์ ช่วยเพิ่มช่องทางการสื่อสารและการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเนื้อหาและข้อมูล ไม่เพียงส่งไปยังกลุ่มผู้สนใจและนักท่องเที่ยว ยังส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ กระทั่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 98 ชุมชนท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี ของจังหวัดสุรินทร์ ได้รับงบประมาณในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน หมู่บ้านละ 3 ล้านบาท จากกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย
ในฐานะพื้นที่รูปธรรม สามารถพัฒนาต่อยอดงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน ด้วยการเป็นหนึ่งหลายฐานการเรียนรู้และการท่องเที่ยวชุมชนของอำเภอสังขะ จากจุดเริ่มต้นที่วนอุทยานสนสองใบ ปักหมุดโนวเจีย เมียนเซาะ –เนิน 400 ชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ตำบลตาตุม –เขื่อนขนาดมอญ –ปราสาทภูมิโปน พื้นที่ตำบลดม –ปราสาทยายเหงา พื้นที่ตำบลบ้านชบ – แปลงเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ตำบลสังขะ – หมู่บ้านทอผ้าไหมโคกกระชาย –หมู่บ้านเศรษฐกิจแบบพอเพียง บ้านขามพัฒนา ม.12 พื้นที่ตำบลทับทัน
ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ ไปเยี่ยม ไปชม ไปชิม อาหารตา อาหารใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามของตำบลตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรีแบบ “น้ำใส ใจจริง” รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอีกมากมายของอำเภอสังขะ ช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกันต่อไปนะครับ