playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

khoksaat1

นางสมหมาย  สำเริงรัมย์ “ทำไตรโคเดอร์มา มันง่ายดีจ้า และทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ได้ผลดีทำง่ายอีกด้วยจ้า”

นางติ้ม รัชนี เกษตรต้นแบบกลุ่มอีโต้น้อย “ค่อยๆ ปรับใช้ แรกๆ ก็ทำแบบปลอดภัยต่อมาก็ทำอินทรีย์จ้า ที่เรียนรู้ไปลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้มีมากจ้า”

นายสุรินทร์ ศรีคล้าย พ่อบ้าน ซึ่งมีโรคประจำตัวต้องทานยาเป็นประจำ  “ตั้งแต่เราทำสวนอินทรีย์แล้วสุขภาพดี ไม่ได้ไปรับยามากินเลย ไม่รู้หายตอนไหน”

 นางนิยม อิ่มกระจาง เป็นโรคน้ำกัดเท้า “ชอบคันที่เท้า ก็ลองให้สูตรปรามโรคไปใช้ หลังจากลองใช้ พอเช้าตื่นมา เดินมาบอกอีกที หายแล้วจ้า”  

นี่เป็นเสียงบอกเล่าบางส่วน ของคนตำบลโคกสะอาด อําเภอลําปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีความภาคภูมิใจในการทำเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการแก้ปัญหา ลดโรค ลดหนี้ ชีวิตเป็นสุขอย่างยั่งยืน

การทำเกษตรอินทรีย์ของคนที่ตำบลนี้ คือ  “ทางรอดมิใช่ทางเลือก” สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกสะอาด ได้ยึดแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีงานที่ลดรายจ่ายมีรายได้เสริมแก่ครอบครัว รวมทั้งได้รับประทานอาหารอย่างปลอดภัย ปราศจากสารพิษทุกคนมีสุขภาพกายและจิตใจดี ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างถ้วนหน้า

          คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกสะอาด จึงเห็นสมควรจัดอบรมสมาชิกได้ฝึกฝนเรียนรู้ทำเกษตรอินทรีย์และตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้ครบทั้งตำบล 50 คน/หมู่บ้าน ซึ่งทีมวิทยากรพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านที่สนใจ เรื่อง เกษตรอินทรีย์และนำผู้ที่สนใจหรือรักการทำเกษตรอินทรีย์จริงเข้าอบรมที่สวนเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย, ศูนย์เรียนรู้นายอิ่ม แก้วอัมพวา, และศูนย์เรียนรู้กลุ่มอีโต้น้อย หลังจากอบรมทฤษฎีที่ศูนย์เรียนรู้ ได้นำผู้เข้าอบรมไปดูแปลงต้นแบบเพื่อเป็นแบบอย่าง อยากดู อยากลอง อยากทำ “ท.ท.ท” (ทำทันที)

          สำหรับแปลงเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย มีองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่เริ่มลงปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเกษตรกรไม่มีที่ปลูกทำกิน แนะนำให้ปลูกในถุงดำ ถุงปุ๋ย ชนิดละ 3-5 ถุง เป็นต้น เพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องไปซื้อพืชผักรถ ‘พุ่มพวง’ ตั้งมั่นปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก นี่คือปณิธานของคนตำบลโคกสะอาด

          เนื่องจากเกษตรกรตำบลโคกสะอาดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนมาก เพราะหาซื้อง่าย ใช้ก็ไม่ยาก เห็นผลเร็วทันใจ เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ผลลัพธ์ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงมาก สุขภาพก็แย่ลงๆ อาหารที่ผลิตออกมาไม่ค่อยจะปลอดภัย ระบบนิเวศน์ก็ศูนย์หายไป หนี้สินก็เพิ่มขึ้น คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนจึงเห็นว่าควรจะหาวิธีการแก้ไขในการทำเกษตรทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนในการผลิตได้ และได้ตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุกหมู่บ้านในตำบล บ้านละ 50 คน และตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโคกสะอาดขึ้นอย่างเป็นทางการ

          เกษตรกรอบรมศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านนายอิ่ม แก้วอัมพวา ประธานสภาฯ สวนเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย และศูนย์ปราชญ์กลุ่มอีโต้น้อย (พ่อผาย สร้อยสระกลาง) ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมได้องค์ความรู้ไปทำที่แปลงของตัวเองมีการพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนในการทำเกษตรได้

          เมื่อมีการรวมกลุ่มทางภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาที่ดินได้นำถังหมัก, กากน้ำตาล, ปูนขาว มาอบรมให้แก่สมาชิกแต่ละกลุ่มได้เรียนรู้ทดลองปฏิบัติเพิ่มขึ้น เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มาอบรมเพื่อพัฒนาสร้างเสริมประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจ อยากทำเกษตรอินทรีย์และนำสินค้าที่ผลิตได้ไปขายในตลาดคลองถมในชุมชน และตลาดเซราะกราว

          องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด ให้สถานที่ในการอบรมและเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา มีเกษตรอำเภอมาหนุนเสริม เรื่อง องค์ความรู้เพิ่มเติม ส่วนเกษตรจังหวัดมาช่วยแนะนำองค์ความรู้การออกใบรับรองเกษตรอินทรีย์

          เกษตรกรต้องปฏิบัติในแปลงของตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ ที่แปลงต้องมีกันชน ต้องเลิกใช้ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าหญ้าให้ได้จึงจะได้ใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะมีใบรับรอง 2 อย่าง เช่น Jap คือ ปลอดภัยและใบรับรองเกษตรอินทรีย์ให้แต่ละกลุ่มช่วยตรวจและมีคณะกรรมการดูแลแนะนำในกลุ่มของตัวเองและส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มฝึกอบรม, ศึกษาดูงาน

ใช้จุลินทรีย์ ทดแทนสารเคมี ดีต่อสุขภาพ

          ให้เกษตรกรที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์มาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติสร้างความเข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์ ต้องทำด้วยใจรัก มีความซื่อสัตย์และอดทน ดำรงชีวิต แบบพอมี พอกิน พอใช้

เริ่มแรกทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ใช้ต้นกล้วยสูง 1 เมตร สับละเอียด อัตราส่วน 3 กก. กากน้ำตาล 1 กก. หมัก 1 อาทิตย์ อัตราการใช้ 2 ช้อนต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์ บำรุงดิน กำจัดกลิ่นเหม็น

  1. ทำไตรโครเดอร์มา สูตรขยายแบบลูกทุ่ง เตรียมถังใส่น้ำ 20 ลิตร เทน้ำตาลทรายแดงลงไป 2 กก.ใส่หัวเชื้อ 2 ช้อน หมัก 48 ชั่วโมง อัตราการใช้ 3 ช้อน ต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์กำจัดเชื้อรา คนให้เข้ากัน

3.บิววาเรียแบบลูกทุ่ง เตรียมวัสดุ ใช้แป้งข้าวโพด 4 ขีด น้ำ 10 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กก. ต้มสุกยกลงเมื่อเย็นใส่หัวเชื้อบิววาเรีย 2 ช้อนแกง คนให้เข้ากันหมักไว้ 48 ชั่วโมง อัตราการใช้น้ำ 20 ลิตร ใช้บิววาเรียสูตรขยาย 2 ช้อนชา

4.บีทีแบบลูกทุ่ง ใช้นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ต้ม 5 ลิตร ใส่น้ำตาลทรายแดง 1 กก. ใส่หัวเชื้อบีที 2 ช้อนแกง อัตราการใช้น้ำ 20 ลิตร: 2 ช้อนแกง กำจัดหนอน ห้ามฉีดใกล้ต้นหม่อนเก็บไปเลี้ยงต้นหม่อนจะตาย

          5.ฮอร์โมนไข่สำหรับพืช ใช้ไข่ไก่ 5 กก. กากน้ำตาล 5 กก. ยาคูลท์ 1 ขวด แป้งข้าวหมาก 1 เม็ด ปั่นหมัก 14 วัน เร่งผลผลิต ผลิตตาดอก

          6.สูตรอาหารจานด่วน ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร นมจืด 3 ลิตร ฮอร์โมนไข่ 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 กาก หมัก 14 วัน เร่งการเจริญเติบโตเร็วๆ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

          การทำสูตรยูเรียน้ำ ใช้นมถั่วเหลือง 1 กก. สับปะรดหั่น 2 กก. น้ำซาวข้าว 10 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กก.จุลินทรีย์หน่อกล้วย สูตรหัวเชื้อ 1 แก้ว หมัก 14 วัน ใช้รดผัก 3-5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์ เร่งใบ ลำต้นให้เจริญเติบโตเร็ว

          การทำยาฆ่าหญ้า อุปกรณ์ที่ใช้ ต้นกล้วยสับละเอียด 30 กก. น้ำ 50 ลิตร น้ำตาลทรายดง 2 กก. ยาคูลท์ 1 ขวด แป้งข้าวหมาก  1 เม็ด ดินประสิว 1 กก. ด่างทับทิม 1 ช้อนชา นำทุกอย่างผสมใส่ถัง คนทุกวันหมัก 7 วัน ใช้ได้ อัตราการใช้ 1 ลิตร : ใช้น้ำ 50 ลิตร (ฉีดฆ่าหญ้า)

          การทำสูตรเร่งใหญ่ ใช้หัวปลีทำแบบจุลินทรีย์หน่อกล้วย ส่วนการทำสูตรเร่งยาว ให้ไส้ตันกล้วยทำเหมือนจุลินทรีย์หน่อกล้วย และสูตรอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างแค่นี้ก่อนค่ะ

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ การทำปุ๋ยหมักเงินล้าน

ใช้วัสดุในท้องถิ่น มีขี้วัว ใบไม้ ใบหญ้า การหมักกองผสมน้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ไตรโคเดอร์มาอาหารจานด่วน อย่างละ 1 แก้ว คลุกเคล้ากัน กำดู ปั่นได้พอดีใช้ได้ ใช้พลาสติกคลุมไว้ 15-30 วัน ใช้ไม้แทงเป็นช่องอากาศได้ยิ่งดี เย็นเร็วใช้ได้เลย อัตราการใช้ 3 กก.:  1 ตารางเมตร พืชผักเจริญเติบโตเร็ว

ก่อนจะเพาะปลูกลืมไม่ได้ คือ ต้องเพาะต้นกล้า เสียบก่อน จึงนำไปปลูกได้ผลผลิตดีเยี่ยม สำหรับในการทำเกษตรอินทรีย์ สำหรับการทำดินเพาะ ต้องเตรียมวัสดุ เช่น ดินนา 1 ปีบ แกลบดำ  1 ปีบ ขุยมะพร้าว 2 ปีบ ขี้วัว 1 ปีบ รำอ่อน 1 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร ไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์หน่อกล้วย อาหารจานด่วน อย่างละ 1 แก้ว ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักได้ 2 วัน  หรือ 48 ชั่วโมง ก็นำมาเพาะต้นกล้าได้แล้ว

ฝึกอบรมให้สมาชิกที่สนใจรวมกลุ่มมาฝึกในการทำน้ำยาอเนกประสงค์ ให้เตรียมวัสดุ N70 1 กก. มะกรูด 2 กก. ต้มเดือดยกลง, มะละกอดิบ 2 กก. หั่นต้มเดือดยกลง พักไว้ให้เย็น ใช้เกลือ ½ กก. ผสมน้ำรวมใช้น้ำทั้งหมด 8 กก.

ขั้นตอนการทำน้ำมะกรูด 2 กก. มะละกอต้ม 2 กก. เกลือ ½ กก. ผสมน้ำ 2 กก.น้ำหมักมะกรูด 2 กก. (เท N70 ใส่ภาชนะ ค่อยๆเติมน้ำเกลือคนๆ ค่อยๆ เอาน้ำมะกรูด มะละกอเติมตามจนหมด ใส่โซดา 1 ขวด กวนๆ เข้ากันเสร็จ) ประโยชน์ เป็นสารจับใบ ใช้กับพืชผัก, สามารถใช้ล้างจาน, ซักผ้าได้, ขัดห้องน้ำ, เช็ดกระจก เป็นต้น

บทเรียนอินทรีย์ของคนโคกสะอาด

          การที่จะสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จได้สภาองค์กรชุมชน, ท้องที่, ท้องถิ่น เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด พัฒนาที่ดิน วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ ร่วมกันหนุนเสริมเรื่องงบประมาณ และทดลองในแปลงให้เป็นรูปธรรม คัดเลือกแปลงที่เป็นเกษตรอินทรีย์แต่ละหมู่บ้าน เป็นที่ศึกษาดูงาน และเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

บุคคลที่จะทำแปลงเกษตรอินทรีย์ได้ต้องมีวินัย อุสาหะมากมาย ทั้งขยัน อดทน อดกลั้น ทดลองทำให้ได้ ลองผิด ลองถูก สู้สู้ คนเราถ้าอดทนฝึกทำบ่อยๆ ก็จะได้ผลผลิตเกิดคาด เมื่อผลผลิตที่เราทำได้ จิตใจสบาย ปลื้มใจและภูมิใจ อยากให้มีคนมาดู มาชิม ในสวนของตนเอง

          เมื่อได้ผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์ มีพืชผักในสวนเพิ่มมากขึ้นและปลอดภัย สมาชิกรวมกลุ่มไปขายที่ตลาดชุมชน (คลองถม) ตลาดโรงพยาบาลลำปลายมาศ ตลาดเซราะกราวบุรีรัมย์

          ปี 2561 มีปัญหาเรื่อง การผลิตพืชจากสวนทำไม่ทัน เพราะเกษตรกรมีปัญหาเรื่องน้ำ ปีนี้ฝนแล้ง ข้าวไม่ได้ มันก็ไม่มี หันมาพึ่งอินทรีย์ก็ไม่มีน้ำรด ผู้ใหญ่บ้านประกาศห้ามผลิตผักขาย เกษตรกรใจหดหู่ จะทำอย่างไร แก้ปัญหาเจาะน้ำบาดาล ก็ช้าเหลือเกิน พึ่งพาฝนจากธรรมชาติก็ไม่ได้ตามฤดูกาล น้ำน้อยในบ่อที่ขุดไว้ก็ไม่มี

          แนวทางการแก้ไขปัญหาให้ปลูกพืชผักใส่ถุงดำ, ถุงปุ๋ย เอาน้ำจากถังล้างชาม, น้ำซักผ้ามารดพอได้เป็นพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ที่หน้าบ้าน มีนิดหน่อยก็ยังดีกว่าซื้อจากรถพุ่มพวง มีคณะกรรมการสภาฯ เยี่ยมบ้านเป็นกำลังใจ ให้สู้ไปก่อน หมู่บ้านชุมชนอื่นก็เจอภัยแล้งเหมือนกับเรา และปีนี้ร่วมกันวางแผนสร้างกลุ่มนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเพาะเห็ด เพื่อรองรับอาชีพเสริมต่อไป

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter