playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

ป่าคือชีวิต  นั้นหมายถึง  ป่าชุมชนตำบลนาบอนเป็นแหล่งผลิตปัจจัย 4 ของคนในชุมชนตำบล           นาบอน ได้แก่ เป็นแหล่งอาหาร  มีป่าไม้สำหรับทำที่อยู่อาศัย  มีผลิตภัณฑ์จากพืชสำหรับถักทอเสื้อผ้าเครื่องนุงห่ม  และเป็นแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค  ป่าชุมชนตำบลนาบอนยังเป็นป่าต้นน้ำลำห้วยปออันเป็นแม่น้ำสำคัญของตำบลนาบอน  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นป่ากำบังฝนโดยห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 10 กิโลเมตร  จะเป็นเขื่อนลำปาว  พอฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ก็จะพัดเอาไอน้ำจากเขื่อน             ลำปาวมากระทบกับป่าชุมชนตำบลนาบอนซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของตำบลนาบอนเกิดเป็นฝนตกชุกในพื้นที่  จนทำให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรอาชีพหลักของคนในชุมชนได้อย่างอุดมสมบูรณ์

          ตำบลนาบอน  เป็นตำบลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกาฬสินธุ์  ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์  ประมาณ  80  กิโลเมตร  และอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอคำม่วง  ห่างจากอำเภอคำม่วง ประมาณ  7  กิโลเมตร  มีพื้นที่  53,125  ไร่  โดยพื้นที่ทางตอนเหนือเป็นป่าภูเขา จำนวน  7  ลูกภู            มีพื้นที่  15,000  ไร่  ที่เรียกว่า  “ป่าชุมชนตำบลนาบอน”   ส่วนทางตอนใต้เป็นที่ราบตามลำห้วย  หนอง  แอ่งน้ำที่ใช้สำหรับทำการเกษตร   มีประชากร  จำนวน  6,695  คน จำนวน 1,035   ครัวเรือน  แบ่งเขต             การปกครองเป็น  11  หมู่บ้าน  ได้แก่  บ้านนาบอนหมู่ที่  1   บ้านนาบอนหมู่ที่  2    บ้านนาอุดมหมู่ที่  10  บ้านนาเจริญหมู่ที่ 11   บ้านหัวนาคำหมู่ที่  6   บ้านคำสมบูรณ์หมู่ที่ 4   บ้านคำเมยหมู่ที่ 5 บ้านสะพานหินหมู่ที่ 3  บ้านทุ่งมนหมู่ที่ 8  และบ้านบะเอียดหมู่ที่  9  อาชีพหลักของคนในชุมชนทำการเกษตร  ได้แก่      การปลูกข้าว  อ้อย  มันสำปะหลัง  ยาพารา  ผักหวานป่า  และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ   จึงเป็นตำบลต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง   มีสถานศึกษา  7  แห่ง  เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ  1  แห่ง  และสุขศาลา  11  แห่ง  การคมนาคม  ระหว่างหมู่บ้านชุมชน  เป็นถนนลาดยาง  ถนนคอนกรีต  และถนนลูกรัง  รวมทั้งมีถนนลูกรังสำหรับขนถ่ายผลผลิตทางการเกษตร  ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ  มีวัด  12  แห่ง  มีขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น          ที่ถือปฏิบัติติดต่อกันมาคือ ฮีตสิบสอง  และประเพณีบุญเบิกบ้าน  ซึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของผีปู่ตา   โดยมีกวนจ้ำเป็นสื่อกลางระหว่างผีปู่ตากับชาวบ้าน  และจะมีการทำพิธีกรรมก่อนการลงมือทำนาทุกปี  สถานที่ตั้งศาลปู่ตามักจะเป็นป่าขนาดเล็กอยู่ติดๆกับหมู่บ้าน เรียกว่า  ดอนปู่ตา

          ป่าชุมชนตำบลนาบอน  มีความเป็นมาอย่างสำคัญอันน่าจดจำ  กล่าวคือ  เมือปี  พ.ศ. 2536   นายสูนย์  ภูหนองโอง  ผู้ใหญ่บ้านคำสมบูรณ์หมู่ที่ 4  ได้เห็นว่าป่าที่ตกสำรวจของอุทยานแห่งชาติภูพาน จำนวน  7  ลูกภู  ได้แก่  ป่าภูพรานยอด  ภูปอ  ภูผักหวาน  ภูโป่ง  ภู่ปูน  ภูตุ่น  และภูถ้ำพระ  จึงได้เสนอเข้าสภาตำบลนาบอน  เพื่อขอให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนตำบลนาบอน  เนื่องจากพบว่าป่าที่อยู่หัวไร่ปลายนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม  ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชนในอนาคต  ครั้งแรกสภาไม่รับการพิจารณา   จึงได้รวบรวมข้อมูลกับพักพวกอีกหลายคนเสนอเป็นครั้งที่สองจึงได้รับการพิจารณานำเข้าข้อบัญญัติของสภาตำบลนาบอน   จัดตั้งเป็นป่าชุมชนตำบลนาบอน 

ปี  พ.ศ.  2537   ได้จัดตั้งคณะทำงานออกประชุมเวทีสัญจรเพื่อหาจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนขึ้น        ทั้ง 11  หมู่บ้านในตำบล  โดยได้หมู่บ้านละ  3  คน  ประกอบด้วย  ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ  2  คน   รวมทั้งหมด  33  คน  โดยมีนายสมบูรณ์   สุพรรณธนา  ผู้ใหญ่บ้านทุ่งมน หมู่ที่ 8 เป็นประธานคณะกรรมการป่าชุมชนตำบลนาบอน  คนแรก  และมีนายสมภาร  โอภากาศ   เป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน  นายประเวช  โคตรธรรม  เลขานุการ 

ปี  พ.ศ.   2540  เปิดรับสัครสมาชิกกลุ่มจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน  มีสมาชิกจำนวนถึง  900   คน  เพื่อให้เป็นหูเป็นตาช่วยกัน  โดยมีผู้ลงในพื้นที่จริง  จำนวน  90   คน  ต่อมาหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน   หน่วยงานทางการศึกษา  ได้เข้ามาให้องค์ความรู้และงบประมาณ  ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มาให้องค์ความรู้ด้านกฎระเบียบป่าชุมชนและพาไปศึกษาดูงานป่าชุมชนที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน   มหาวิทยาลับมหาสารคาม  มาให้องค์ความรู้และศึกษาดูงานป่าชุมชนป่าโคกใหญ่สารคาม  ป่าดงนาทาม  จังหวัดอุบลราชธานี   โคกป่าชี  จังหวัดบุรีรัมย์    บริษัท การปิโตเลี่ยมแห่งประเทศไทย  (ปตท.)  จำกัด  ให้งบประมาณ  50,000   บาท   UNDP (องค์การสหประชาชาติ) ให้งบประมาณ  1,000,000  บาท   บริษัท  SCG  ให้องค์ความรู้พร้อมมอบโล่รางวัล   กองทัพภาคที่  2   ได้ ให้องค์ความรู้พร้อมจัดทำฝายชลอน้ำที่ภูปอ   งบประมาณที่ได้รับนำมาใช้ในการบริหารจัดการป่าชุมชน จัดหาวัสดุป้องกันไฟป่า  จัดทำแนวป้องกันไฟป่า  พัฒนากลุ่มเยาวชน  ส่งเสริมอาชีพคนในชุมชน  ส่วน         ที่เหลือรวมกับหุ้นของสมาชิกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนป่าชุมชนตำบลนาบอน  จำนวน   70,000   บาท          โดยนำฝากกับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  เพื่อนำดอกผลใช้ในกิจกรรมของป่าชุมชน  ร่วมกับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลนาบอน

ความโดดเด่นและแหล่งทองเที่ยวที่สำคัญของแต่ละลูกภู จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน  กลุ่มนักอนุรักษ์น้อยภูผานาบอน  และนายวิจิตร   วิไลพรม  ครูโรงเรียนบ้านนาบอน  พบว่า   ภูพรานยอด  เป็นการตั้งชื่อตามชื่อของนายพราน ชื่อว่ายอด  เป็นภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์  มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด  เป็นป่าไม้เบญจพรรณ  ป่าเต็งรัง  ป่าตะแบก  ไม้พบมากที่สุดคือ            ไม้สาคาม   ภูพรายยอดมีความสูง  5  ชั้น  แต่ละชั้นมีไม้หลายชนิดหลายขนาดสลับกับกอไผ่  ชั้นบนสุด        จะเป็นลานกว้างประมาณ  5  ไร่  ล้อมรอบด้วยต้นไม้สาคามและป่าดอกกระเจียว   มีความสูงสามารถมองเห็นเขื่อนลำปาวได้  มีทรัพยากรธรรมชาติอาหารป่ามากมายตลอดฤดูกาล เช่น  หน่อไม้  อีรอก             ดอกกระเจียว  ไข่มดแดง  แมงแคง  กบ  เขียด  อึ่งอ่าง  แมลงทับ เบ้า  ปุก  กลอย  ผักหวาน  เป็นต้น                ภูปอ  เป็นพื้นที่ป่าภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดกว่าทุกลูกภูเขา   เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ได้รับการเข้าไปดูแลอนุรักษ์ป่า  มีความสูง  8  ชั้น   มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้  พืชอาหารป่ามากมายหมุนเวียนตามฤดูกาลได้ตลอดปี  มีแหล่งไม้กลายเป็นหิน  ประมาณ  20  ไร่   มีผานางคอย  ผาโนนทอง   มีแหล่งหินตัดแท่งสี่เหลี่ยมวางระเกะระกะมากมาย  มีทุ่งดอกกระเจียว  ด่านสาคาม  และถ้ำหลายแห่ง  เช่น  ถ้ำผาขาม  ถ้ำค้างคาว  ถ้ำกกเกลือ  ถ้าขี้เถ้า  ถ้ำเสือ  ถ้ำกกกล้วย  เป็นต้น   ภูโป่ง  เป็นกลุ่มภูเขาในเทือกเขา  ภูตุ่น  ภูปูน  ภูผักหวาน  และภูถ้ำพระ  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงมาถึงทางทิศตะวันออกของตำบลนาบอน  สภาพเป็นป่าเบญจพรรณส่วนใหญ่เป็นไม้เต็งรัง   ไม้แหน  ไม้มะค่าโมง  สลับกับป่าไผ่นานาชนิด  มีหน้าผาสูงชัน  ความสูง 4  ชั้น  จุดสูงสุดมองเห็นเขื่อนลำปาว  สถานที่สำคัญ  ได้แก่  ผาภูโป่ง  หินฆ้อง  รอยรถโบราณ  ถ้ำป่องอ่างกกข่า  และเป็นต้นกำเนิดต้นน้ำลำห้วยปอ   ภูปูน  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูปอ  มีสภาพพื้นที่คล้ายภูปอ  ป่าอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติสวยงาม มีทรัพยากรสำคัญคือหินปูนที่นำมาเผาเป็นปูนกินหมาก  มีลักษณะพื้นที่เป็นเนินลาดเชื่อมกับภูโป่ง มีลำห้วยปอไหลผ่าน  ตรงรอยเชื่อมต่อกับภูโป่งและภูตุ่น จะเป็นแอ่งน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า  แก้งหว้า  เพราะมีต้นหว้าขึ้นอยู่โดยรอบ  องค์การบริหารส่วนตำบลนาบอนร่วมกับกรมชลประทาน ได้ทำฝายกั้นเก็บกักน้ำเอาไว้  เรียกว่า  อ่างหว้า  ภูตุ่น  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูปูน   มีสภาพป่าคล้ายคลึงกับภูปูน  ลักษณะความสูงลาดเนินขึ้นสู่ยอดเขา  ยอดสูงสุดจะเป็นที่ราบดินทราย   เดิมมีตุ่น  (ตัวคล้ายหนูอาศัยอยู่ในรูใต้ดิน)  จำนวนมาก  ชาวบ้านจึงเรียนว่าภูตุ่น     ภูถ้ำพระ  อยู่ทางทิศใต้ของภูปูน   มีสภาพป่าเป็นป่าโปร่ง  เป็นเนินเขาเตี้ยๆ   บนยอดเขาจะเป็นลานดินกว้างใหญ่โล่งเตียน  มีถ้ำพระ  ซึ่งเป็นถ้ำขนาดเล็กเป็นโพรงใต้ซอกหิน  อดีตเคยมีพระทองคำ  พระไม้แกะสลักอยู่ในถ้ำจำนวนมาก  แต่ปัจจุบันเหลือแต่พระพุทธรูปไม้ จึงมีการสร้างวัดขึ้น  ชาวบ้านก็จะไปกราบไหว้ในเทศกาลสำคัญๆ เป็นประจำ  ภูผักหวาน  อยู่ทางทิศใต้ของภูโป่ง มีสภาพป่าเป็นป่าโปร่ง  ลักษณะพื้นที่จะเป็นเนินราบขึ้นสู่ยอดเขา มีป่าไผ่สลับกับป่าเพ็ก  ยอดสูงสุดจะเป็นลานหินขนาดใหญ่   เรียกว่า  ด่านเกิ้ง   มีหินลักษณะแปลกๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม  เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและพักผ่อน   ตามเชิงเขาจะมีต้นผักหวานขึ้นทั่วไป  เดิมเคยมีต้นขนาดใหญ่  แต่ปัจจุบันเหลือแต่ต้นขนาดเล็กนอกจากนี้ยังมีถ้ำขนาดเล็ก   2  แห่ง  คือถ้ำเม่น  และถ้ำจิ่มปิ่ม

nb1nb2.png

  

รางวัลอันน่าภาคภูมิใจของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน และชาวบ้านชุมชนตำบลนาบอน  คือ  ได้รับรางวัลธงประราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถสิริกิติย์  ปี พ.ศ.  2559

ปัจจุบันมีคณะกรรมการป่าชุมชนตำบลนาบอน จำนวน 12 คน  ประกอบด้วย กำนันตำบลนาบอน   ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาบอน 1 คน  มีนายสมบูรณ์   สุพรรณธนา  เป็นประธาน   นายชีวะ   หงษาชุม   เป็นเลขานุการ   ส่วนคณะกรรมการอนุรักษาป่าชุมชนนาบอน  มีจำนวน   30  คน  มีนายบัญชา   แสนท้าว  เป็นประธาน  และนายอาวุธ   นังตะลา  เป็นเลขานุการ 

ปี  พ.ศ.  2544  ได้ก่อกำเนิด “กลุ่มนักอนุรักษ์น้อยภูผานาบอน”  (มนุษย์โหล) ขึ้น  โดยในตอนบ่ายวันหนึ่งมีนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นคนหนึ่งของโรงเรียนบ้านนาบอน  ได้มาแจ้งกับคุณครูวิจิตร   วิไลพรม  ว่าป่าไม้ที่หัวนาได้มีการถูกลักลอบตัดไปจำนวนมาก  จึงอยากให้ไปสำรวจดูและในการไปสำรวจเก็บข้อมูลครั้งนี้จะมีนักเรียนทั้งหมด  จำนวน  12   คน  อันเป็นที่มาของคำว่า “มนุษย์โหล”  ต่อจากนั้นก็ได้มีการเดินป่าศึกษาเรียนรู้ออกสำรวจ เกี่ยวกับป่าไม้  แหล่งอาหาร  สมุนไพร  ร่องรอยสัตว์ป่า   โป่ง  มูลสัตว์   โดยทำงานร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน  หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลได้มากพอจึงจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นสำหรับสอนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  โดยใช้ป่าชุมชนตำบลนาบอนเป็นแหล่งเรียนรู้  จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว  จากบริษัท การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)จำกัด

nb3.png

นอกจากกลุ่มอนุรักษ์น้อยภูผานาบอนแล้ว  ยังมีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน      ที่ชื่อว่า “ กลุ่มครัวเรือนต้นแบบการจัดการป่าครอบครัว”  โดยมี  นางเกษร   ผมเพชร  เป็นครัวเรือนต้นแบบ รวมทั้งมีแกนนำดำเนินงานที่สำคัญ  ได้แก่  นางเกษร  ผมเพชร  นางลอง   บุตรวัง  นางฉลวย   โสภีพันธ์    นางอารี  เข็มทอง   นางจินดาวงษ์  พรมรัตน์   นางทรวน   คำตานิตย์   นายประเวช  โคตรธรรม             นายบุญรอบ  คิสาลัง  นายคำเรือง  ภูหนองโอง  นายสวาท  โอภากาศ  นายอ่อนสา  ภูแดนไกร                      และนายสุเทศ  อรรถประจง  ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์  เป้าหมายสำคัญ คือ การยกป่ามาไว้ในบ้านด้วยการส่งเสริมปลูกไม้ใช้สอยที่จำเป็น รวมทั้งพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ครัวเรือนของตนเอง  แล้วขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ         และสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์  จะได้ลดการเบียดเบียนการตัดไม้ทำลายป่าในเขตพื้นที่ป่าชุมชนตำบลนาบอน  ปัจจุบันได้ขยายครัวเรือนต้นแบบการจัดการป่าครอบครัวไปทุกหมู่บ้านในชุมชนตำบลนาบอน จำนวน 20 ครัวเรือน   และจะขยายจำนวนครัวเรือนต้นแบบการจัดการป่าครอบครัวเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

nb4.jpgnb6_resize.png

สภาองค์กรชุมชนตำบลนาบอนได้นำข้อมูลของตำบลพร้อมทั้งได้ศึกษาสภาพปัจจัยภายในและภายนอกของตำบลมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยกระบวนการ  SWOT  analysis  พบว่า  ตำบลนาบอนมีจุดแข็งคือ  เป็นพื้นที่เหมาะกับการทำอาชีพทางการเกษตร  มีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก  มีป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์  มีกลุ่มทุนในชุมชน  และเป็นตำบลต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง  ส่วนที่เป็นจุดอ่อน คือ           จะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากทำให้คนในชุมชนมีปัญหาด้านสุขภาพ รวมทั้งการระบาดของยาเสพติดเกิดปัญหาเด็กแว๊นในชุมชน  และปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ยากไร้    ด้านโอกาส พบว่า หน่วยงานภาครัฐ  เอกชน มีการส่งเสริมด้านอาชีพของคนในชุมชน  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชน  ส่วนที่เป็นอุปสรรค  พบว่า  หน่วยงานภาครัฐ/องค์กรในชุมชน  ขาดการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันมุ่งผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานตนเป็นหลัก   ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำมักผูกขาดที่พ่อค้าคนกลาง  และสมาชิกในชุมชนมีค่านิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

จึงกำหนดวิสัยทัศน์ดังนี้ “ตำบลแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่เศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน”  โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดีพึ่งพาอาศัยกัน รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เป็นชุมชนที่เข้มแข็งบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง  และเป็นตำบลที่สามารถจัดการตนเองได้   

ปี  พ.ศ.  2562  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)  ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนรูปแบบตำบลรูปธรรม  จำนวน  30,000   บาท  สภาองค์กรชุมชนตำบลนาบอนได้พิจารณาเห็นว่า  ป่าชุมชนตำบลนาบอนมีความโดดเด่น  แต่มีข้อปัญหาที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข คือ  จำนวนจิตอาสาพิทักษ์ป่าชนตำบลนาบอนที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่จริงลดลง  จากจำนวน  90  คน   เหลือ   30  คน  เนื่องจาก  การตาย  อายุมากขึ้น  ปัญหาสุขภาพ  ไปทำงานนอกพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอนขึ้น  เพื่อค้นหานักจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนคนรุ่นใหม่  ได้มีการบูรณาการเชื่อมต่อโครงการกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาบอน   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)   โดยองค์การบริหารส่วนตำบลนาบอนสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมเฝ้าระวังรักษาป่า  กิจกรรมบวชป่า  และเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นคณะทำงานกับคณะกรรมการป่าชุมชนตำบลนาบอน    สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)  สนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมเวทีจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนคนรุ่มใหม่  เพื่อเข้ามาเพิ่มเติมทดแทนรุ่นเก่าที่มีจำนวนลดลง  ซึ่งจะทำให้มีผู้สืบทอดเจตนารมณ์เป็นรุ่นๆต่อไป  รูปแบบโครงการการอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอนได้จัดเป็น  3  เวที   คือเวทีที่  1   เป็นเวทีทำความเข้าใจโครงการคัดหาวิทยากรคณะทำงานตามโครงการ   เวทีที่  2  เป็นเวทีสัญจรสู่ชาวบ้านทั้ง  11   หมู่บ้าน  เพื่อให้ความรู้กฎ กติกาป่าชุมชน  ความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน  รวมทั้งค้นหาจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนคนรุ่นใหม่   เวทีที่  3  เป็นเวทีถอดบทเรียน  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานด้านป่าชุมชนต่อไป

nb7_resize.png

nb8_resize.png

จากการดำเนินงานตามโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอน  ค้นพบว่า  คนในชุมชนมีความรัก         หวงแหนป่าชุมชน  อันมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่คนในชุมชนจะต้องช่วยกันเฝ้ารักษาดูแลช่วยกันไว้ชั่วลูกชั่วหลานและนานเท่านาน  แต่ก็ยังพบว่า ป่าชุมชนยังมีกลุ่มคนเข้าไปลักลอบทำลายทรัพยากร           ตัดไม้ทำลายป่า และบุกลุกที่ดินเข้าไปทำไร่ในเขตพื้นที่ป่าชุมชนตำบลนาบอน  ดังนั้นประชาชนในชุมชนตำบลนาบอน จึงได้เสนอความต้องการของคนในชุมชน ไว้ดังนี้ อันดับ1 คือถนนรอบบริเวณป่าชุมชนตำบล           นาบอน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันไฟป่า  การป้องกันการบุกรุกที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า  และใช้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยว  ความต้องการอันดับ  2  คือ  หอคอย  สำหรับเฝ้าระวังดูแลป่า  กล่าวคือถ้าเกิดภัยกับป่า เช่น การลักลอบตัดไม้  การบุกลุกที่ดิน  เกิดไฟป่า   หรือเหตุอื่นๆ  ก็จะสามารถมองเห็นได้               และเข้าไปถึงพื้นที่ได้เร็วขึ้น

โดยสรุปป่าชุมชนตำบลนาบอน  มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนตำบลนาบอนและพื้นที่ใกล้เคียง  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าหากป่าชุมชนตำบลนาบอน ถูกทำลายเสื่อมโทรมลงไปก็จะกระทบต่อการทำมาหากินความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตำบลนาบอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ไม่สามารถประกอบอาชีพการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของคนในชุมได้อย่างปกติสุขเช่นปัจจุบัน  ดังนั้นพวกเราชาวตำบลนาบอนจึงต้องร่วมแรงรวมพลังช่วยกันอนุรักษ์พิทักษ์ป่าชุมชนตำบลนาบอนให้ดำรงคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ให้ได้นานเท่านาน

นายนคร จันทะโสตถิ์  ผู้รายงาน

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter