สังคมปัจจุบัน การแสวงหาตัวตนเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา มีชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาร่องรอยวิถีทางภูมิปัญญา อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิตของตนไว้ได้อย่างลงตัวต่อ ในยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป จากความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงฝังรากลึกในชุมชนแห่งนี้ การเห็นคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งชาติพันธุ์ของตน คือชุมชนตำบลดอนแร่นั่นเอง
ตำบลดอนแร่ เป็นชุมชนเชื้อสาย ไท-ยวน อพยพมาจากเมืองเชียงแสนเดิม และได้กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยและในจังหวัดราชบุรี โดยบรรพบุรุษของชาวตำบลดอนแร่ได้มาตั้งรกรากอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ที่บ้านไร่นทีของเมืองราชบุรี ต่อมามีการขยายครัวเรือนออกไปจากเดิมอีกหลายพื้นที่ จนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี ในปัจจุบัน
ชื่อตำบลดอนแร่ เกิดจากลักษณะของพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ดอนและมีกรวดมาก เมื่อมีประชากรมากขึ้นจึงได้มีการจัดตั้งเป็นตำบล ตามลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนและมีกรวดทรายมาก เม็ดกรวดภาษา ไท-ยวน เรียกเป็นแร่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ตำบลดอนแร่” อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน ดังนี้ บ้านดอนแร่ บ้านนาหนอง บ้านหนองขาม บ้านดอนซาด บ้านดอนตัน บ้านดอนกอก บ้านหนองสระ บ้านหนองโปร่ง บ้านหนองมะตูม และบ้านห้วย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน
นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์ของชาวไท-ยวนในด้านหัตถกรรม โดยยังรักษาอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดี คือการทอผ้า การทอผ้าซิ้นตีนจก ผ้าจกต่างๆ โดยมีการประยุกใช้วัตถุดิบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ในปัจจุบันมีลวดลายที่สวยงาม ถักทอด้วยความปราณีตพิถีพิถันและสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นชาวชุมชนตำบลดอนแร่ ยังได้มีอัตลักษณ์เรื่องอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ยังคงภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไท-ยวน ได้แก่ น้ำพริกต่างๆ ที่ยังคงกลิ่นไอของชาวไท-ยวนได้เป็นอย่างดี
สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนแร่ ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน จึงได้ทำความร่วมมือกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีราชบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ในการจัดกระบวนการวิเคราะห์ศักยภาพตำบลเพื่อการพัฒนา พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาตำบลโดยใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
จากต้นทุนดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนาให้เป็นตำบลแห่งเกษตรกรรม การทำอาชีพเสริม ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาสุขภาพกีฬาตำบล ที่สำคัญเกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ไท-ยวน เนื่องจากในตำบลมีแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไท-ยวน หลากหลายสถานที่เหมาะกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดนาหนอง รอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาวัดนาหนอง ภาพวาดบนเพดานศาลาการเปรียญวัดทุ่งหญ้าคมบาง ลำห้วยทับใต้ ทุ่งนา ป่าชุมชน ยอดเขาพระเอกที่เด่นสง่า ถ้ำพระที่สวยงามตระการตา เป็นต้น
การนำแผนดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนงานร่วมกัน ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญของตำบลดอนแร่และของจังหวัดราชบุรี ไม่ว่าจะเป็น “ต๋าหลาด ไท-ยวน” วัดนาหนอง ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยียนในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม เป็นการรื้อฟื้นความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง
อันได้แก่ ภาษาพูด การแต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรมการเทศมหาชาติ การถวายทานเป็นภาษาล้านนา ทั้งยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตามวิถีวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน เช่น ผ้าซิ่นตีนจก สินค้าทางการเกษตร อาหารพื้นบ้าน และมีการแสดงทางวัฒนธรรมของชาวไท-ยวนอีกด้วย
ภายใต้ความร่วมมือบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้ตำบลดอนแร่เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไท-ยวน จนเป็นที่รู้จักของชาวราชบุรีและบุคคลทั่วไป เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในตำบล โดยในแต่ละเดือนสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต๋าหลาด ไท-ยวนอยู่ที่ 300,000 บาทต่อเดือน ทั้งยังสร้างรายได้ในการทอผ้าซิ่นตีนจกซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวไท-ยวน ที่เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นอีกประมาณ 75,000 – 80,000 บาทต่อเดือน
ต๋าหลาดวัฒนธรรมไท-ยวน วัดนาหนอง จึงเป็นหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวไท-ยวน ที่เกิดจากการบูรณาการของทุกภาคส่วนทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลดอนแร่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่น บริษัทประชารัฐรักสามัคคีราชบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี พัฒนาชุมชนจังหวัดราชบุรี กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี และชาวบ้านในตำบลดอนแร่ ในการวางผังเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชนตำบลดอนแร่ การเพิ่มพื้นที่จุดท่องเที่ยวชุมชน การจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน จุดสาธิตการทำผ้าจก และแผนการจัดทำที่พักโฮมเสตย์ ฯลฯ ทำให้ตำบลดอนแร่เกิดการพัฒนาโดยใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่ เป็นการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านตำบลดอนแร่
ข้อมูลโดย สภาองค์กรชุมชนตำบลดอนแร่ จ.ราชบุรี
จัดทำและเรียบเรียงโดย นายสุรินทร์ ตำหนิงาม / ปก.ชนบท