ตำบลหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวไท-ยวนที่อพยพมาครั้งแต่อดีตเมื่อหลายร้อยปี จากเมืองเชียงแสนในสมัยรัชกาลที่ 1 รวมตัวกันตั้งหลักฐาน ณ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในเขตอำเภอบ้านโป่ง ซึ่งแหล่งน้ำแห่งนี้มีปลาชุกชุมมาก โดยเฉพาะปลาหมอไทย จึงเรียกตำบลนี้ว่า "ตำบลหนองปลาหมอ" ทางทิศตะวันตกของอำเภอบ้านโป่ง ห่างจากอำเภอบ้านโป่งประมาณ 15 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 30.60 ตางรางกิโลเมตร หรือประมาณ 19,125 ไร่ แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 16 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 7,113 คน ประชากรส่วนใหญมีอาชีพทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ การอพยพในแต่ละครั้งชาวไท-ยวนจะดูแหล่งน้ำ ที่ลุ่ม ที่ดอน เป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งถิ่นฐาน เพราะนั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในการสร้างอาชีพให้ตนเองและในครอบครัว ก็คือ การทำนา
ในอดีตการทำนาสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ “วัว” นอกจากจะช่วยในการไถนาและนวดข้าวแล้ว ยังเป็นพาหนะในการเดินทางด้วยการลากเกวียนหรือการเทียมเกวียน ทั้งการเดินทางไปทำธุระ การค้าขาย การขนส่ง คนตำบลหนองปลาหมอจึงให้ความสำคัญกับวัวเป็นอย่างมาก ราวกับเป็นสมบัติที่มีค่าอย่างหนึ่ง ถึงกับต้องมีการป้องกันไม่ให้วัวสูญหาย เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งของคนที่นี่ ในอดีตอุปกรณ์ที่ใช้ในการผูกวัวแต่ก่อนนั้นส่วนใหญ่ ใช้เป็นเชือกปอในการล่ามและจูง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวิวัฒนาการมีการพัฒนาจากเดิมใช้เชือกปอกลับกลายมาใช้เป็นเชือกไนลอนแทน
ปัจจุบันวิถีการทำนาได้เปลี่ยนไป วัวมีบทบาทน้อยลง แต่ชาวไท-ยวน ตำบลหนองปลาหมอยังคงอนุรักษ์อาชีพการเลี้ยงวัวเอาไว้ โดยมีการฝึกเพื่อใช้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เช่น การละเล่นวัวเทียมเกวียนที่ใช้ในงานแห่ผ้าป่า งานกฐิน งานบวช การแสดงทั้งละคร ภาพยนตร์ การละเล่นวัวเทียมไทย วัวลาน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ความสวยงามของวัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ พร้อมกับเกิดอาชีพใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับคนในตำบล คือ การทำ “อ้อมสะพาย” หรือ “อ้อมตะพายวัว” ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนอาชีพคนเลี้ยงวัว
อ้อมสะพาย หรือ อ้อมตะพายวัว เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ของชาวบ้านไท-ยวน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบังคับกระบือหรือวัว ให้ฟังคำสั่งโดยการโยงเชือกระหว่างรูจมูกทั้ง 2 ข้าง และร้อยบริเวณคอ ทำให้สามารถบังคับให้วัวหรือกระบือเป็นไปตามทิศทางที่เราต้องการ
ตำบลหนองปลาหมอ จึงเป็นแหล่งผลิตอ้อมสะพายวัวที่สำคัญอีกแห่ง เป็นงานฝีมือที่มีความปราณีตสวยงามเป็นที่นิยมชมชอบทั้งภายในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง และยังได้รับเลือกให้เป็นสินค้า OTOP มีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนและช่วยพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อกระจายสินค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น
สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาหมอ ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มอาชีพการผลิตอ้อมสะพายวัว ได้เข้ามาหนุนเสริมในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้ การแนะนำเทคโนโลยี การหาแหล่งวัตถุดิบที่มีราคาต้นทุนไม่สูงมากและคุณภาพดี รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาดที่หลากหลาย
มีการจัดกระบวนการถอดบทเรียน การวิเคราะห์เพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของสินค้าและกลุ่มผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมกับตัวสินค้าและกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะต้องการให้กลุ่มผู้ผลิตอ้อมสะพายวัวได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าที่กว้างมากขึ้นไปในระดับประเทศ และนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับคนในตำบล
จากการทำกระบวนการดังกล่าว กลุ่มผู้ผลิตอ้อมสะพายวัวได้ทำการแปรรูปสินค้าจากอ้อมสะพายที่ใช้สำหรับวัว พัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่ คือ พวงกุญแจนำโชคที่มีความหมายดีๆ ซึ่งหมายถึงความอดทน การต่อสู้กับงานหนัก และมีความซื่อสัตย์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มมาอีกหนึ่งช่องทางหนึ่ง โดยในแต่ละเดือนกลุ่มผู้ผลิตมีรายได้จากการจำหน่ายอ้อมสะพายวัวอยู่ที่ 24,000 บาทต่อเดือน ทำให้เกิดการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังนำเอาเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารมาช่วยในการกระจายสินค้าได้ไกลมากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ จึงนับได้ว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาหมอ เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาอาชีพ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพ เกิดความเข้มแข็งให้กับชุมชนสืบต่อไป
ข้อมูลโดย สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองปลาหมอ จ.ราชบุรี
จัดทำและเรียบเรียงโดย นายสุรินทร์ ตำหนิงาม / ปก.ชนบท