playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

                                                                              ข้อมูล/เรียบเรียง : ร.ท.บุญชอบ  สมัครวงษ์    

         ตำบลบางกระบือ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดและย่านเศรษฐกิจการค้าของเมืองออกไปทางทิศเหนือเรียบถนนสาย 311 สิงห์บุรี-ชัยนาทเพียง 2-3 กิโลเมตร ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน โดย 6 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ 17.56 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,981 ไร่ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 6,463 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนาประมาณ 80% นอกนั้นรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ

ภาวะวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2554 นับว่าเป็นภาวะวิกฤตน้ำท่วมที่สาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความภาพของความโกลาหลอลหม่านในการอพยพหนีน้ำ การรอคอยความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์  ตลอดจนการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ทางการเปิดประตูระบายน้ำ การรื้อกระสอบทราย ‘บิกแบ็ค’ จนเกือบจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่อยู่เหนือน้ำกับชาวบ้านที่อยู่ใต้น้ำ

bangkabue1

หากทว่า  ชาวบ้านชุมชนตำบลบางกระบือกลับมีการเตรียมรับมือกับกระแสน้ำ ได้อย่างทันท่วงที เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านชุมชนตำบลบางกระบือยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับกระแสน้ำได้อย่างมีความสุข เพราะตำบลตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านจึงคุ้นเคยและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับแม่น้ำ มีบทเรียนจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในอดีต  

เมื่อเกิดการขยายตัวของบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนการตัดถนนหนทางต่างๆ ไปกีดขวางทางเดินของน้ำ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจึงไหลไม่สะดวกหรือไม่มีทางระบาย จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 2521 ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา   

มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือขึ้นมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2551 ประธานสภาองค์กรชุมชน ได้นำปัญหาเรื่อง “น้ำ” เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านพูดคุยแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ได้

          ในช่วงแรก มีการดำเนินการเพียงกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ลำน้ำแม่ลาแหล่งกำเนิดของปลาช่อนที่โด่งดังของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น ต่อมาในปี. 2552 สภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือจึงได้เสนอของบประมาณจากสภาพัฒนาการเมือง โดยได้รับงบประมาณจำนวน 490,000 บาท ในการดำเนินกิจกรรม เช่น มีการปลูกต้นไม้น้ำริมตลิ่งเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา และปล่อยพันธุ์ปลาลงในลำน้ำแม่ลา การจัดตั้งกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลำน้ำแม่ลา ฯลฯ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 มีเวทีระดมสมองป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ประชุมสภาฯ หลายครั้ง เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานในพื้นที่มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงฤดูน้ำหลากในปีนั้นๆ ว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เพื่อหาทางป้องกันและเตรียมตัวอพยพโยกย้ายผู้คนและสิ่งของ แต่ที่สำคัญก็คือ ในที่ประชุมสภาฯ ได้มีการเสนอให้มีการจัดฝึกอบรมชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับน้ำ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมามีชาวบ้านเสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมไปหลายราย

ปี  2553 เกิดการเตรียมแผนฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม และเตรียมแผนในการรับมือกับภัยน้ำท่วมที่จะมาถึงในปี พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ประมาณ 90,000 บาท ในการฟื้นฟูและฝึกอบรมด้านอาชีพ จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ กองทุนปุ๋ยชีวภาพ ซ่อมแซมบ้านเรือนผู้ประสบภัย และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภัยพิบัติตำบล โดยมีกิจกรรมฝึกอบรมเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในการรับมือกับปัญหาอุทกภัย

ในกิจกรรมฝึกอบรมเด็กและเยาวชนรุ่นแรกนั้น มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 60 คน โดยมีเกณฑ์การเข้าร่วม คือ ต้องเป็นเด็กและเยาวชน (ทั้งชายและหญิง) ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี หรือเรียนอยู่ในระดับชั้น ม. 1 ขึ้นไปเพื่อรับมือกับอุทกภัย โดยในเบื้องต้นจะฝึกอบรมการว่ายน้ำ ฝึกให้คุ้นเคยกับอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต เช่น การสวมเสื้อชูชีพ การใช้ห่วงยาง การใช้เชือกช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ การใช้เชือกทำเป็นสะพานหรือใช้เป็นหลักยึดเพื่อข้ามน้ำ ฯลฯ โดยใช้เวลาอบรมทั้งหมด 3 วัน 2 คืน

ในการจัดอบรม ได้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  รุ่นที่ 2 ดำเนินกิจกรรมในเรื่องของการฝึกการกางเต๊นท์ การหุงข้าว ทำอาหารโดยใช้ถ่านหรือฟืน การทำแพจากไม้ไผ่ การถ่อแพ การพายเรือและการขับเรือยนต์ เพื่อให้มีทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำ รุ่นที่ 3 นั้น นำเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ เข้าฝึกที่ กองพันลาดตระเวน ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อฝึกให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การพึ่งพาช่วยเหลือกัน เช่น การแบกเรือยาง การพายเรือยาง ฝึกการดำน้ำลึก 6 ฟุตโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการหายใจ เป็นต้น

bangkabue2.pngbangkabue3.png

ภาพการฝึกเด็กและเยาวชนเพื่อรับมือภัยน้ำ ปี 2554

วิกฤตการน้ำท่วม ในปี 2554 คนบางระบือซึ่งต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม 72 วัน ไม่มีผู้ใดที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำ เกิดประเพณีทางน้ำที่สามารถสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากชาวบ้านได้ เช่น การแข่งเรือพื้นบ้าน การตักบาตรเทโวทางน้ำ เป็นต้น

สภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือได้เปิดประชุมอีกครั้งในเดือน ธันวาคม 2554 ร.ต.เสถียร ทับทอง สมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือ หมู่ที่ 8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน ได้เสนอในที่ประชุมว่าการฝึกเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดทักษะทางน้ำที่ผ่านมาได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง ควรมีการฝึกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชุมเกิดข้อตกลงร่วมกัน เสนอโครงการไปยังสถานทูตญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “โครงการเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อรับมือภัยน้ำ” (The project for preparing equipment and improving skill in order to deal with flooding) และได้รับอนุมัติจากสถานทูตญี่ปุ่นเมื่อเดือน ตุลาคม 2555 เป็นเงิน 3,138,000 บาท โดยมีกิจกรรมทั้งหมด 6 กิจกรรม สำหรับกิจกรรม ค่ายฝึกเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดทักษะทางน้ำ รุ่นละ 80 คน จำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 3 วัน (รวม 240 คน) ซึ่งได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ผลจากการฝึกทำให้เด็กและเยาวชนในตำบลบางกระบือมีทักษะทางน้ำมากขี้น

 bangkabue4.jpg

ภาพการฝึกเด็กและเยาวชนที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี

bangkabue5.jpg

น.ส.จุฑามาศ โพธิ์ธาราม หรือน้อง “ส้ม” อายุ 21 ปี สมาชิกชมรม “มือวัยใสห่วงใยลำแม่ลา” กล่าวว่า ตัวเธอเองได้เข้าร่วมฝึกอบรมการรับมือกับน้ำท่วมด้วย  ทำให้มีความมั่นใจว่าจะเอาตัวรอดได้ และรู้ว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมจะทำอย่างไร เมื่อเกิดน้ำท่วมจริงๆ จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในชมรมเดียวกันออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน เอาถุงยังชีพไปแจก ช่วยกันทำความสะอาดวัดที่ถูกน้ำท่วม “นอกจากนี้หนูยังได้ช่วยพูดคุยปลุกปลอบใจ เพื่อนๆ ไม่ให้เกิดความเครียด บางครั้ง ก็ใช้อินเทอร์เน็ต ใช้เฟซบุ๊คแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเรื่องน้ำ กับเพื่อนๆ ที่ฝึกอบรมเช่นเดียวกัน ถือว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นๆ มาก แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานสมบุกสมบันเหมือนกับเพื่อนผู้ชาย แต่ก็ทำให้เรามีประสบการณ์ในการรับมือกับภาวะน้ำท่วม” ตัวแทนชาวตำบลบางกระบือรุ่นใหม่กล่าว

bangkabue6.jpg

สิบเอกพสิฐ สนใจ หรือน้อง “ไนท์” อายุ 25 ปี ปัจจุบันรับราชการทหารสังกัด กองทัพบก กล่าวว่า เมื่อปี 2556 ตนยังไม่ได้รับราชการทหาร ยังเป็นเด็กและเยาวชนของตำบลบางกระบือคนหนึ่ง ไม่มีทักษะเรื่องน้ำ เมื่อได้เข้ารับการฝึกกับสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือที่กองพันลาดตระเวน ฐานทัพเรือสัตหีบ ทำให้ได้รับความรู้มาก เช่นการฝีกว่ายน้ำ การช่วยเหลือคนตกน้ำ การปฐมพยาบาลคนจมน้ำเบื้องต้น การดำน้ำที่ความลึก 6 ฟุตโดยใช้เครื่องหายใจผิวน้ำ ทำให้เกิดความกล้า  เกิดความประทับใจในการทำงานเป็นทีม เมื่อจบการฝึกแล้วจึงได้ไปสอบนักเรียนทหาร จนสามารถรับราชการได้ในปัจจุบัน

          นอกจากการอบรมให้เด็ก และเยาวชนมีทักษะในเรื่องของการรับมือกับน้ำ การเกิดประเพณีที่สอดคล้องวิถีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกับน้ำ คนบางระบือยังมีกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ที่ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาในชุมชนที่มีอยู่เดิมในช่วงก่อนน้ำจะท่วม เช่น โครงการ “ผักสวย ฝั่งงาม” “คอนโดปลา”และการฟื้นฟูอาชีพต่างๆ เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมในช่วงที่น้ำท่วมขัง ไม่สามารถออกไปทำไร่ ทำนาได้ เช่น การทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ การเพาะเห็ด และถั่วงอก เป็นต้น

          จากการการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลบางกระบือ จะเห็นได้ว่าสามารถสร้างชุมชนตำบลบางกระบือให้เข้มแข็งพร้อมรับมือกับอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี การพัฒนาอบรมให้ความรู้เด็กและเยาวชน และการปรับตัวโดยใช้ชีวิต เกิดกิจกรรม ประเพณีที่กี่ยวข้องกับแม่น้ำ อันนำมาซึ่งการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสุขของชาวตำบลบางกระบือได้ในที่สุด

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter