playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

สถานการณ์ชุมชนตำบลเขาแก้ว

financial

          สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจความผันผวนของราคายางพารา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของพี่น้องประชาชนภาคใต้ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องระบบการเงินภายในครัวเรือน ที่สวนทางการข้าวของที่มีราคาแพงขึ้นในทุกๆ วัน

          ตำบลเขาแก้ว ซึ่งอยู่ในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช บริบทพื้นที่จะรายล้อมไปด้วยภูเขา จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร อาชีพหลักของคนเขาแก้วคือ ปลูกยางพารา รองลงมาคือ ปลูกผลไม้ เช่น เงาะ ลองกอง มังคุด ทุเรียนและพืชผักอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นตามฤดูกาล จากอาชีพหลักก็สามารถเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย จนมาถึงยุคช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกไร้พรมแดน ทำให้การซื้อขายทางการตลาดเริ่มมีการค้าขายแทรกแซง ปัจจัยต่างๆ เริ่มมีผลกระทบกับปัจจัยการซื้อขาย การแข่งขันทางด้านการตลาดก็มากขึ้น จนทำให้มีช่องว่างของผู้เก็งกำไร อย่างพ่อค้าคนกลางเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายมากขึ้น ยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย จึงเป็นที่น่าสนใจของบุคคลเหล่านี้ ทำให้เห็นยุคการเปลี่ยนที่สำคัญของพี่น้องเขาแก้ว ดังนี้

          ช่วงปี พ.ศ. 2550-2552 ราคายางพาราจะขึ้นบางลงบ้าง กิโลกรัมละ 70-80 บาท แต่ก็ยังไม่กระทบกับเกษตรกรมาก

          ในช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้น กิโลกรัมละ 120-130 บาท เกษตรกรเริ่มมีกำลังซื้อที่มากขึ้น จะเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องเกษตรกร คือ ถอยรถป้ายแดง โค่นสวนผลไม้ปลูกยางพารา ต้นกล้ายางพารามีราคาแพงมาก คนในชุมชนมีกำลังจ่ายมากซื้อของฟุ้มเฟือย เช่น ซื้อเครื่องประดับ เป็นต้น

          ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 ราคายางพาราตกต่ำอย่างรวดเร็ว เหลือกิโลกรัมละ 40-50 บาท พี่น้องเริ่มมีภาระหนักขึ้น มีหนี้สิน เอาทรัพย์สินไปจำนำ จำนองที่ดิน ค่าใช้ก็ฟืดเคียง ทำให้มีโจรชุกชุม ขโมยข้าวของของชาวบ้านเพื่อนำไปขายมาใช้หนี้ เป็นต้น

          จากวิกฤตดังกล่าวทำให้การดำเนินชีวิตของพี่น้องเกษตรกรมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ความคล่องตัวทางด้านการเงินลดน้อยลง จนเกิดภาระหนี้สินจำนวนมาก ครอบครัวบางครอบครัวจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบมาเพื่อใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็น เช่น ค่าเทอมบุตร ค่ารถ ค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ ส่งผลเกิดภาวะความเครียดและพจญกับปัญหาในเรื่องที่แก้ไม่ตกกับสถานการณ์ยางพาราที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางราคาได้  จากปัญหาดังกล่าวขบวนองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วเล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงใช้เวทีกลางสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว ร่วมกำหนดทิศทางในการหาทางออกร่วมกัน

ที่มาการก่อเกิด “สถาบันการเงิน” และพัฒนาการของงานพัฒนาตำบลเขาแก้ว

          จากการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว ผ่านเวทีกลางสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อที่จะกำหนดแนวทาง/ทิศทางการทำงานร่วม ได้มีวิวัฒนาการการทำงาน ดังนี้

          ปี 2553 -: เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ก่อเกิด กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว ที่ทำการ 299 ม.4 ถ.กระโรม ต.เขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช จำนวนสมาชิกแรกเข้า 278 คน สมาชิกสะสมถึงปัจจุบัน 3,609 คน จากประชากรในตำบล 3,768 คน ประธานนายสาโรจน์ สินธู มีคณะกรรมการ จำนวน 33 คน  สมาชิก ประกอบด้วย บุคคลทั่วไป จำนวน   2,212 คน เด็กและเยาวชน 822 คน ผู้สูงอายุ 509 คน ผู้ด้อยโอกาส 21 คน และผู้พิการ 45 คน ซึ่งสมาชิกมีการกระจายทั้ง 6 หมู่บ้าน จำนวนเงินแรกเข้า 16,958 บาท ปัจจุบันจำนวนกองทุน 2,017,451.35 บาท (ณ 30 กันยายน 2562) วัตถุประสงค์ คือ

  1. เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีรู้จักพึ่งตนเอง
  2. เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมกันจัดให้มีระบบการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยครอบคลุมบุคคลทุกกลุ่ม
  3. เพื่อให้คนในชุมชนมีหลักประกันความมมั่นคงในชีวิตตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต
  4. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีการไว้วางใจของคนในชุมชน และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          การจัดสวัสดิการมี 11 ประเภท  คือ 1) สวัสดิการเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 2) สวัสดิการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 3) สวัสดิการผู้สูงอายุ 4) สวัสดิการกรณีเสียชีวิต 5) สวัสดิการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานศพ 6) สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ 7) สวัสดิการเพื่อการศึกษา 8) สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 9) สวัสดิการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ 10) สวัสดิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11) สวัสดิการอื่นๆ

          ปี 2558 -: เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 การขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนตำบลเขาแก้วมีการดำเนินการในเรื่องของการทบทวนสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว หลังจากที่สภาองค์กรชุมชนได้มีการครบวาระตามกฎหมาย พรบ.สภาองค์กรชุมชน 2551

financial2.jpg

สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชน จึงได้เปิดเวทีวิเคราะห์ศักยภาพของตำบล โดยการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ คือ แผนที่ทำมือ วิเคราะห์ปัญหา-อุปสรรค ความต้องการ แนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมชุมชน

จากการวิเคราะห์ของตัวแทนผู้เข้าร่วมทุกหมู่บ้านของตำบลเขาแก้ว พบว่า เกษตรชาวสวนที่ปลูกยางพารา ประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ มีต้นทุนการผลิตสูง มีจำนวนผลผลิตและรายได้ต่อวันต่ำ  มีพ่อค้าจากภายนอกมารับซื้อในราคาต่ำ คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้มีการประชุมปรึกษาหาหรือกัน จนมีข้อสรุปว่าน่าจะมีการเชื่อมโยงกองทุนต่างๆ ในตำบลมาทำกิจกรรมแก้ไขปัญหาร่วมกันของสมาชิก และได้มีการดำเนินการรวบรวมผลผลิตเศษยางพาราและการบูรณาทุนในชุมชน โดยมีการตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล ที่กำหนด แล้วนัดมาสรุปร่วมกัน คือจำนวนแปลงที่ปลูกของสมาชิก จำนวน 1,018 แปลง มีรายได้ต่อวัน จำนวน 200-300 บาท ส่วนใหญ่ มีผลผลิตประมาณ 18-20 ก.ก. พ่อค้าที่รับซื้อในตำบลมี จำนวน 12 คน มีการรับซื้อเปิดร้านรับซื้อ สวนพ่อค้าเร่และพ่อค้าภายนอกที่ตลาดหัวอิฐ ได้มีการทดลองให้สมาชิกรับซื้อทำให้รู้ปัญหาเรื่องการตัดน้ำหนักการชั่งและราคาซื้อจากพ่อค้าทั่วไป ทำให้ขาดทุนเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ ชาวบ้านมีหนี้สินจำนวนมาก เนื่องจากนายทุนข้างนอกมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยวันต่อวันและเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูง (หมวกเหล็ก) จึงเป็นเหตุให้ชาวตำบลเขาแก้วต้องหาทางออกร่วม

messageImage_1561345010935.jpg

จากข้อมูลพ่อค้ารับซื้อเศษยางพารา มีกระบวนการคือ

จากการได้ข้อมูล รายได้ไม่พอกับรายจ่าย  ยางราคาไม่ดี  มีหนี้สิน ทำให้ต้องออกทำงานนอกบ้าน เพื่อหารายได้เพิ่มมาใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อได้ลงชุมชนได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน คือเรื่องเงินทุนในการประกอบอาชีพเสริม เช่น ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชระยะสั้น ข้าวโพด แตงกวา ผักบุ้ง ผักกาด

จากปัญหาดังกล่าว เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเงินทุนในการประกอบอาชีพเสริม เพื่อแก้ปัญหาด้านอาชีพหนี้สิน และการปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบ โดยมีการวาดภาพตำบลที่อยากเห็นในอนาคต ที่ทุกคนได้คิดร่วมกัน คือ

          1.ตลาดนัดชุมชนเดิมมีการฟื้นฟูและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

          2.เห็นการเชื่อมโยงหน่วยงาน/ภาคีในการทำงานร่วมกันให้เกิดความมั่นคง

          3.เกิดตลาดกลางชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำผลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในตำบลมารวมกัน

                   4.พัฒนาจุดชุมวิวอากาศดีเขาธงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในตำบล

ในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558  มีการเปิดป้ายเขาแก้ว “ตำบลสวัสดิการสู่ตำบลจัดการตนเอง” โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายศิริพัฒ พัฒกุล เป็นผู้เปิดงาน เพื่อประชาสัมพันธ์งานสวัสดิการชุมชนให้ทุกคนได้รับทราบและเพื่อเปิดรับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

การขับเคลื่อนงานของ “สถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว”

          ก่อเกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 474 คน จำนวนเงินรวม 3,350,000 บาท (ณ พ.ค. 62)  และมีคณะกรรมการบริหารสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว จำนวน 21 คน ตามโครงสร้างดังต่อไปนี้

 messageImage_1561345071908.jpg

วัตถุประสงค์

          1.ส่งเสริมให้สมาชิกมีความขยัน ประหยัด มีกิจกรรมการออมเงินในรูปแบบฝากพิเศษและฝากสะสม รายเดือน เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

          2.เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอาชีพ

          3.เพื่อบูรณาการทุนในชุมชน เป็นแหล่งทุนหมุนเวียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสมาชิก

          4.เพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และคณะทำงาน

          5.เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          6.เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวคิดชุมชนจัดการตนเอง

กระบวนการทำงาน

สถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว มีกระบวนการทำงาน ดังนี้

          1.จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ของแต่ละครัวเรือน หมู่บ้านละ 10 ครัวเรือน เพื่อนำมาวิเคราะห์ทางด้านการเงิน (ปี 2559 ได้งบประมาณต่อยอดจาก พอช.)

          2.เชื่อมโยงองค์กร ภาคีเครือข่ายในตำบล คือ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล สหกรณ์เคดิตยูเนี่ยน กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

          3.วางแผน กำหนดทิศทางการทำงานของสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว

          4.บุคคลใดที่จะเป็นสมาชิกสถาบันฯ ต้องสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนก่อน (ถ้าไม่สมัครจะเป็นสมาชิกสถาบันฯ ไม่ได้)

          5.ให้มีการจัดเก็บเงินทุกวันที่ 6 ของทุกเดือน เมื่อมีการดำเนินการเสร็จแล้วในแต่ละครั้งให้สรุปรายรับรายจ่ายของสถาบันการเงินชุมชน

          6.มีการประชุมคณะทำงานทุกเดือน (ชุดสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อรายงานงานประเด็นที่ขับเคลื่อนของตำบลร่วมกัน

 financial3.jpg

financial4.jpg

financial5.jpg

ปัญหา/อุปสรรค ของสถาบันการเงิน

1.สมาชิกส่งแล้วไม่คืน จำนวน 4 ราย

2.สมาชิกไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ของสถาบันฯ

จุดเด่นของ

1.สมาชิกมีสิทธิเท่ากับกรรมการทุกประการ

2.สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบพี่น้อง

3.สร้างธรรมาภิบาลขององค์กร สมาชิกสามารถตรวจสอบได้

4.กรรมการทุกคนสามารถทำงานแทนที่กันได้

5.มีการแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน

6.กรณีสมาชิกไม่ส่งเงิน ให้มาแจ้งให้กรรมการรับรู้ และหาทางออกร่วมกันได้

การเชื่อมโยงองค์กร เครือข่ายในตำบล ให้เป็นสถาบันการเงินตำบลเขาแก้ว มีเครือข่าย ดังต่อไปนี้

สิ่งที่ต้องทำต่อของสถาบันการเงินชุมชน

1.ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการในชุมชน

2.สร้างที่ทำการเป็นของตนเอง

3.อนาคตต้องสร้างระบบการเงินที่สอดคล้องกับ IT

ความภาคภูมิใจของสถาบันการเงินชุมชน

1.ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน/การส่งเงินกู้เน้นส่งตามกำลังของสมาชิก

2.มีการรู้ข้อมูลเท่ากันของกรรกการและสมาชิก/สร้างความเสมอภาค/ไว้ใจซึ่งกันและกัน

3.สร้างเยาวชนมาเรียนรู้งาน

4.สมาชิกมีการไว้ใจคณะกรรมการ

5.มีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้ง ท้องที่ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และองค์กรเครือข่ายชุมชน

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter