ภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ และการส่งเสริมจากนโยบายรัฐที่มีความพยายามให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจจะเป็นรายได้หลักของประเทศ คนในระดับชุมชน จึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น เหตุผลนี้จึงทำให้คนตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช หันมาปลูก “ยางพารา” รวมทั้งพืชเศรษฐกิจอื่นๆ
เป็นอาชีพหลักทั่วทั้งพื้นที่ตำบล ?
ในปี 2558 สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว ได้มีการทบทวนวาระของสภาองค์การชุมชนตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 มีแผนงานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน โดยจะใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการรับซื้อผลผลิตยางพารา เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ผ่านนายทุนคนกลาง แต่กลับประสบปัญหาความผันผวนของราคาตลาดภายนอก คนในชุมชนไม่สามารถกำหนดทิศทางเองได้ รวมทั้งส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลพวงมาจากการส่งเสริมเชิงนโยบายของรัฐ แต่ไม่มีแผนการจัดการระดับพื้นที่อย่างชัดเจน จึงทำให้การดำเนินงานในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม
สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว จึงเริ่มมาคิด และกำหนดแนวทางกันใหม่ โดยนำเอาข้อเท็จจริงของชุมชนเป็นที่ตั้ง เมื่อครั้งอดีตมีการนำเอาวาระการแก้ปัญหาจากรายได้หลักมีความยากลำบาก ก็นำเอา “รายได้รอง” มาวิเคราะห์ วางแผนช่วยแก้ปัญหา จึงเกิดแนวคิดนำของชุมชนที่เหลือกิน เหลือเก็บมาขาย โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จง่าย ๆ ว่า “คนเขาแก้ว มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นในลักษณะเศษสตางค์” เพื่อเป็นค่าขนมให้ลูกหลานได้ไปโรงเรียน
ด้วยหลักคิดดังกล่าว ที่ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างตลาดชุมชน สอดคล้องกับ แนวคิดของ นายสุรพล โชติ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานที่ดินอำเภอลานสกา ในขณะนั้น ต้องการที่จะนำที่ดินริมคลองลานสกาของตนเอง มาใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสร้างประโยชน์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน จึงได้มีกากรปรึกษาหารือเพื่อวางแผนร่วมกับสภาองค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในเวลาต่อมาและได้เปิดเป็นตลาดชุมชน “สวนสร้างบุญ” ตำบลเขาแก้วขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ
- เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนตกต่ำจากพืชหลัก ให้ลูกหลานมีค่าขนมไปโรงเรียน
- เป็นแหล่งขายผลผลิตชุมชน สร้างอัตลักษณ์ชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชน
- เป็นสถานที่ให้คนเขาแก้ว พบปะ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จึงเกิดเป็นตลาดชุมชนดังกล่าว
สภาองค์กรชุมชน ตำบลเขาแก้ว ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภายใต้โครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชนในปี 2559 จำนวน 100,000 บาท และได้รับการสนับสนุนการทำงานจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันการเรียนรู้ เพื่อจัดการตนเอง รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ในการจัดการองค์ ความรู้ และสร้างเครือข่าย
ในช่วงต้นปี 2559 เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชุมชนก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาทำกิจกรรมตลาดชุมชนได้ โดยมีร้านค้าชุมชนในช่วงแรกเริ่มประมาณ 30 ร้าน ขยายเป็น 50 จึงถึง 80 ร้านในปัจจุบัน
ตลาดส่วนสร้างบุญมี จุดเชื่อมโยงสำคัญ คือ “ธรรมนูญตลาด” กฎหมายชุมชนแบบหลวม ๆ ที่คนในชุมชนร่วมกันกำหนด และปรับปรุงกันเอง อาทิ การค้าสินค้าที่ไม่ซ้ำกัน การเน้นอาหารพื้นบ้านท้องถิ่น อาทิ แกงลูกปลา แกงพุงปลา ผักกูด ผักหนาม สะตอ ขนมลา ทองม้วน ขนมจากน้ำสมุนไพร เป็นต้น การแต่งกายให้เน้นตามธรรมชาติ ใส่ผ้าถุง นุ่งผ้าขาวม้า การจัดการขยะที่ไม่เน้นการใช้พลาสติก หากมีการใช้ถุงหรือแก้วพลาสติก ให้แต่ละร้านมีพื้นที่จัดเก็บเป็นของตนเอง โดยได้รับความร่วมมือ จาก อบต.เขาแก้ว ในการเข้ามาจัดการ ใช้“พรก” หรือ กะลามะพร้าวเป็นภาชนะ รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันในทุกมิติ
ในปัจจุบันตลาดดำเนินกิจกรรมทุกวันเสาร์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 500 คนต่อสัปดาห์ เฉลี่ยสร้างรายได้ประมาณ 2,000 -3,000 บาทต่อสัปดาห์ ทั้งนี้นอกจากการค้าภายในตลาดชุมชน ชุมชนได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันในการสร้างระบบบริหารจัดการ อาทิระบบความปลอดภัย การจอดรถของนักท่องเที่ยว ด้วยชุดรักษาความปลอดภัย 2 คน คนละ 400 บาทต่อสัปดาห์ การรักษาความสะอาด 600 บาทต่อสัปดาห์ และอื่น ๆ โดยแม่ค้าที่เข้ามาขายตกลงในการเช่าซุ้มขายของเจ้าละ 50 บาท เป็นรายได้กับตลาด ผลกำไรที่เหลือนำมาใช้ในกิจกรรม สาธารณะประโยชน์ อาทิ เปิดพื้นที่การแสดง งานศิลปะ ทุนการศึกษา อนุรักษ์พันธุ์ปลา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมตลาด และลงเล่นน้ำได้ตามอัธยาศัย
สุดท้ายความสำคัญของ “ตลาดสวนสร้างบุญ” ไม่ได้อยู่ที่ทำให้เหมือนตลาดอื่น ๆ แต่มีแนวคิด “เติบโตตามธรรมชาติ” แม่ค้าที่มาขายก็เป็น “ชาวบ้านธรรมดา” เพียงเอาของเหลือกิน เหลือใช้มาสร้างรายได้ เป็นการสร้างพลังทางสังคม เป็นกลยุทธสำคัญในการสร้างความสามัคคี เพราะนับวัน “คนจะยิ่งไม่รู้จักกัน” ตามบริบทสังคมทุนนิยม เมื่อสร้างความยั่งยืนได้แล้ว ค่อยขยายผลต่อเรื่องอื่น ๆ ต่อไป อาทิ การท่องเที่ยวเที่ยว ตลาดผลไม้ปลอดสารเคมี (เทศกาลกินมังคุดจากต้น ขายมังคุดออนไลน์) ขนมจากเตาถ่าน และอื่น ๆ เป็นแผนงานในระยะต่อไป