“เชื่อว่าการปลูกต้นไม้ธรรมชาติจะกลับคืนมา” นายวิเชียร กองโล่ คณะกรรมการกลุ่มออมต้นไม้ตำบลเขาแก้ว เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2531 เกิดอุทกภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ จากพายุที่พัดกระหน่ำ เป็นเหตุให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาหลวง ไหล่ลงสู่หมู่บ้านคีรีวงผ่านเขาพนมและลานสกา ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง คลองสายหลักที่เคยไหล่ผ่าน ถูกดินโคลนกลบจนมิด พื้นที่ดินที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน โรงเรียน และวัด กลายเป็นเส้นทางไหลของน้ำ จนเกิดเป็นคลองขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้พืชสวนชาวบ้านเสียหายจำนวนมาก บทเรียนของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ตำบลเขาแก้วที่ได้รับผลกระทบ ได้ประสบปัญหาตามมา คือ สภาพอากาศแปรปรวน ฝนมาผิดฤดู ไม่มีผืนป่าซับน้ำ มาปี พ.ศ. 2558 หลังจากที่ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง น้ำในลำคลองแห้งขอด ทำให้พื้นที่เกษตรกรรม สวนยางพารา และสวนผลไม้เจอปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนักพืชสวนล้มตาย เนื่องมาจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานกว่าสองเดือน ชาวบ้านไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องซื้อน้ำในการอุปโภคและบริโภค ด้วยสาเหตุนี้เอง จึงเกิดแนวความคิดที่ว่า “เติมสีเขียวให้เขาแก้ว”
นายสาโรจน์ สินธุ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร มีโครงการฝายมีชีวิต แต่การก่อสร้างได้ขวางกั้นคลองเขาแก้ว บริเวณท่าน้ำสี่กั๊ก ซึ่งถือเป็นคลองต้นน้ำของอำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม แล้วไหลลงสู่อำเภอปากพนัง ทำให้น้ำไม่เพียงพอในการใช้ทางการเกษตรกรรม ตัวแทนชาวบ้าน เรียกร้องว่า คลองเขาแก้ว ได้มีฝายส่งน้ำของกรมชลประทานอยู่แล้ว และที่ผ่านมาได้ใช้น้ำจากฝายดังกล่าว แต่หลังจากที่มีการก่อสร้างฝายมีชีวิตเหนือขึ้นไปจากฝายส่งน้ำ ทำให้ฝายมีชีวิตกักเก็บน้ำไว้จำนวนมาก จนน้ำที่ไหลลงมาด้านล่างที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ และส่งผลให้พืชสวนยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านอ่าวไอ้ไทร ซึ่งมีพื้นที่ 13,023 ไร่ เป็นพื้นที่ภูเขาซึ่งอยู่ในเทือกเขานครศรีธรรมราช ในบริเวณนี้มีอุทยานแห่งชาติ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน มีคลองธรรมชาติสายหลัก คือคลองเขาแก้ว ซึ่งเริ่มต้นจากน้ำตกกะโรมไหลผ่าน หมู่ที่ 4, หมู่ที่ 6, หมู่ที่ 3, หมู่ที่ 2, หมู่ที่ 1 ของตำบลเขาแก้ว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 จุดเริ่มการต่อยอดแนวคิดการก่อตั้ง กองทุนต้นไม้ “เติมสีเขียวให้เขาแก้ว” เริ่มจากการออมต้นไม้ปีละ 1,000 ต้น ในการปลูกคนละต้น ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็น จำปาทอง ประดู่ อินทนิล สักทอง เป็นต้น โดยให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว ที่มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 6 หมู่บ้าน ประมาณ 4,000 กว่าคน ด้วยแรงบันดาลใจของผู้ที่มีอายุที่มากขึ้น ทำงานไม่ไหว อนาคตยามแก่ชราใครจะดูแล จะหวังพึ่งลูกหลานก็ยาก ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่มีลูกกันน้อยและไปทำงานต่างถิ่นหรือในเมือง ทำให้มีปัญหาเรื่องคนดูแล และรายได้ที่จะเข้ามาจุนเจือครอบครัวที่เป็นทุนในการดำรงชีพประจำวัน จากแนวความคิดดังกล่าว
ได้นำมาหารือ ชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งใช้เวลาพอสมควร และนำเข้าที่ประชุมเพื่อจัดทำโครงการ “ออมต้นไม้” เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อต้นไม้ โดยยึดหลักการประกอบด้วย 1) ความจำเป็นต้องใช้ไม้ในการสร้างบ้าน โดยไม่ต้องซื้อ 2) ปลูกเพื่อขาย เป็นรายได้ให้กับครัวเรือน ปีละ 1,000 ต้นๆ ละ 10 บาท จำนวน 10,000 บาท โดยเป้าหมายขับเคลื่อนระยะเวลา 5 ปี ให้ได้ 5,000 ต้น ซึ่งต้นไม้ที่ใช้ปลูกได้ซื้อมาจากสมาชิกกองทุนฯ เป็นผู้เพาะขาย เป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิกอีกทาง
การติดตามหลังแจกพันธุ์ไม้ให้ปลูก
ได้มีระบบการติดตามผ่านการประชุมประจำเดือนระดับตำบล โดยมีผู้แทนจากทุกหมู่บ้านเข้าร่วม ระยะเวลา 5 ปีจนกว่าต้นไม้จะเติบโต ช่วงแรกต้นไม้ที่เติบโตไปแล้วกว่า 800 ต้น และชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกองทุนต้นไม้ ที่มาสมัครเป็นสมาชิกสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว ซึ่งจัดตั้งโดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล บูรณาการร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว จัดทำแผนการออมต้นไม้ สมาชิกสามารถนำต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมได้ โดยคิดจากวงรอบต้นไม้ 1 เซนติเมตร เท่ากับ 100 บาท ภายใต้ระเบียนของกลุ่ม กรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถส่งเงินได้ตามที่ตกลง ทางคณะกรรมการจะทำการยึดต้นไม้เป็นของกลุ่มทันที
พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น
“การปลูกป่าถ้าจะให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์และได้ใช้ประโยชน์ เขาก็จะรักษาประโยชน์ เขาจะไม่ทำลาย และใครมาทำลาย เขาก็ปกป้องไว้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้สามอย่าง แต่มีประโยชน์สี่อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรับซับน้ำและปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์ที่สี่คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำสร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า…” นายวิเชียร กองโล่ กล่าว
เกษตรกรจำนวนหนึ่ง เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างมูลค่าต้นไม้ที่ปลูกทำให้เป็นทรัพย์ เพื่อออมทรัพย์และใช้แก้ปัญหาความยากจน
วิธีดำเนินการ
- การจัดแบ่งที่ดินทำกินเพื่อใช้ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จากพื้นที่ทำกินอยู่เดิม ที่เป็นพื้นที่สวนไร่หรือนา แบ่งพื้นที่ออกมา ร้อยละ 30-50 โดยมีรูปแบบการจัดแบ่ง 3 รูปแบบ ดังนี้
1) จัดแบ่งโดยใช้พื้นที่รอบแนวเขตพื้นที่ทำกิน ปลูกในพื้นที่ร้อยละ 30-50 ตามแนวเขตแดนพื้นที่ทำกิน
2) จัดแบ่งออกมาชัดเจนเป็นส่วน ปลูกในพื้นที่ร้อยละ 30-50 โดยจัดส่วนอยู่ด้านหนึ่งของพื้นที่
3) จัดแบ่งเป็นริ้วหรือแถบตามความเหมาะสม
- การจัดองค์ประกอบ พันธุ์ไม้ตามวัตถุประสงค์ โดยการปลูกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ตามความเหมาะสม แต่ให้ได้องค์ประกอบซึ่งให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ ดังนี้
1) ปลูก เพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านพออยู่ เช่น การปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เช่น ไม้ตะเคียนทอง, สัก, ยางนา, มะฮอกกานี, กระทินเทพา, จำปาทอง ฯลฯ
2) ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอกิน เช่น การปลูกต้นไม้สำหรับใช้กิน เป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่ม ตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อการค้าขายผลผลิตเพื่อดำรงชีพ เช่น ไม้ผลต่างๆ ได้แก่ เงาะ, ทุเรียน, มังคุด, ลองกอง, มะม่วง ฯลฯ ไม้ที่ให้ผลผลิตเพื่อขาย เช่น ปาล์ม, มะพร้าว, ยางพารา ฯลฯ
3) ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอในด้านการพอใช้ เช่น ปลูกต้นไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน ใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ไม้ไผ่, หวาย สำหรับจักสานเป็นเครื่องเรือน ของใช้ ฯลฯ ไม้โตเร็วบางชนิดที่ใช้เป็นไม้ฟืน, ถ่าน, ไม้พลังงาน เช่น สบู่ดำ, ปาล์ม ฯลฯ ไม้ทำเครื่องมือการเกษตร ได้แก่ การทำด้ามจอบ, มีด, ขวาน, ทำรถเข็น, โต๊ะ, เก้าอี้, ตู้ ฯลฯ
4) กระบวนการสร้างมูลค่าต้นไม้ เป็นการให้คุณค่าไม้ ให้เป็นมูลค่าเพื่อเกิดการพออยู่ ให้พอรักษาที่ดินทำกินให้อยู่กับเจ้าของผู้ทำกิน ให้เป็นมูลค่าเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ในการลดค่าใช้จ่ายจากพืชที่ปลูกไว้บริโภคเอง
องค์ประกอบตามวัตถุประสงค์ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง “ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม” เป็นการจัดโครงสร้าง พันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์
1) ไม้เรือนยอดชั้นบน ได้แก่ ไม้ที่ปลูกใช้เนื้อไม้ทำที่อยู่อาศัย เช่น ตะเคียนทอง, สัก, ยางนา, สะเดา, จำปาทอง ฯลฯ และไม้ที่ลำต้นสูงและที่ลูกเป็นอาหารได้ เช่น สะตอ, เหรียง, กระท้อน, มะพร้าว, หมาก ฯลฯ
2) ไม้เรือนยอดชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นไม้เพื่อการกิน, การขาย, การใช้เป็นอาหารและสมุนไพร เช่น มะม่วง, ขนุน, ชมพู่, มังคุด, ไผ่, ทุเรียน, ลองกอง, ปาล์ม ฯลฯ
3) ไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทั้งที่เป็นอาหาร สมุนไพรและของใช้ เช่น กาแฟ, ผักป่าชนิดต่างๆ เช่น ชะพูล, มะนาว, หวาย, สบู่ดำ ฯลฯ
4) พันธุ์พืชที่ใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่ใต้ดิน (พืชหัว) เป็นพืชที่ปลูกเพื่อความพอเพียงในด้านการกิน ได้แก่ กลอย, ขิง, ข่า, กระชาย, กระทือ ฯลฯ
ซึ่งกระบวนการปลูกในรูปแบบดังกล่าวจะได้พันธุ์ไม้ที่เกิดป่า 3 อย่าง คือ ป่าเพื่อพออยู่ ป่าเพื่อพอกินและป่าเพื่อพอใช้ และจะได้ประโยชน์เพิ่มในด้านการรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม
“ปลูกต้นไม้-ปลูกรายได้”
เขาแก้วแหล่งเรียนรู้ ชุมชนน่าอยู่ เกษตรกรรมปลอดสารพิษ เศรษฐกิจชุมชนก้าวหน้า ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
- เป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
- ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- การเกษตรกรรมเป็นเกษตรกรรมปลอดสารพิษ
- ประชาชนสามารถสร้างอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น
- ชุมชนของตำบลเขาแก้วเป็นชุมชนที่น่าอยู่
กลุ่มออมต้นไม้ มีสมาชิกจำนวนกว่า 50 ราย มีสมาชิกกระจาย 6 หมู่บ้านครอบคลุมทั้งตำบล และมีสมาชิกที่ปลูกต้นไม้เดิมอยู่แล้วกว่า 10 รายตั้งแต่ปี 2531 เป้าหมายจะปลูกต้นไม้ให้ได้ 5,000 ต้น ในปี 2565 โดยคาดหวังว่าในอนาคตต้นไม้ที่มีขนาดเพียงพอกับกติกาของกลุ่มจะสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ของสถาบันการเงินตำบลเขาแก้วได้อีกช่องทางหนึ่ง
อุปสรรคในกระบวนการ
- หลายคนยังไม่เชื่อแนวคิดของการปลูกต้นไม้ เนื่องจากต้องให้เห็นด้วยตาจึงจะเกิดการยอมรับ
- ต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก
หน่วยงานหนุนเสริม
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว ได้อนุมัติงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล สถาบันการเงินชุมชนเขาแก้ว และสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 30,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามแผนงานภายใต้โครงการปรับปรุงพัฒนาสิ่งแวดล้อมตำบลเขาแก้ว
อนาคต ทรัพย์สินจากต้นไม้ พัฒนาไปสู่ธนาคารต้นไม้ ด้วยหลักการของประชาชนสำคัญ 4 ข้อ คือ
ข้อที่ 1 ต้นไม้ที่ประชาชนปลูก ต้องเป็นของประชาชนทั้งทรัพย์ และสิทธิ์ เพราะปัจจุบันรัฐออกกฎหมายละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์ว่าไม้สัก ไม้ยาง และไม้อีก 15 ชนิด ไม่ว่าขึ้นที่ใด ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม
ข้อที่ 2 ต้นไม้ต้องมีมูลค่าเป็นทรัพย์ขณะที่มีชีวิต เพราะในปัจจุบันต้นไม้ต้องตายเสียก่อน จึงจะมีมูลค่าโดยต้องโดนตัด แปรรูป ผ่า เผา อบเสียก่อน จึงจะมีมูลค่า เป็นการเอาเปรียบชีวิตต้นไม้ เอาเปรียบเจ้าของต้นไม้ เมื่อเทียบกับทรัพย์อย่างอื่น เช่น เหล้าในโกดังเป็นทรัพย์ เครื่องจักรในโรงงานเป็นทรัพย์ รถยนต์วิ่งบนถนนเป็นทรัพย์ เรื่องร้องเพลง ท่าเต้น เสียงดนตรี ชุดความรู้ ยังเป็นทรัพย์ได้ ไฉนต้นไม้ที่มีชีวิตยืนต้นบนแผ่นดินประชาชนจึงเป็นทรัพย์ไม่ได้
ข้อที่ 3 ต้องมีองค์กรบริหารจัดการที่มาจากคนปลูกต้นไม้ เจ้าของต้นไม้ เพื่อจัดการกันเอง เพราะไม่ให้คนอื่นมาจัดการ ซี่งหมายถึง เราโดนเอาเปรียบ
ข้อที่ 4 ต้องมีกองทุนส่งสริม สนับสนุนในกิจการปลูก ดูแลจัดการต้นไม้ โดยกองทุนนี้ต้องเก็บมาจากประชาชน ผู้ปลูกต้นไม้ กิจการค้าไม้ และกิจการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
กว่าสองปีที่ผ่านมากับการเดินทาง “ออมต้นไม้ เติมสีเขียวให้เขาแก้ว” ถึงแม้ว่าจะพึ่งเริ่มทำเรื่องนี้ไม่นานนัก แต่ย้อนกลับไป จะเห็นว่าชุมชนได้มีการปลูกพืชสวนผสมมายาวนานหลายสิบปี เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง แต่นั่นเป็นการทำตามธรรมชาติของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่า มาตอนนี้การออมต้นไม้ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนเขาแก้วที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรฯ พร้อมที่จะปกป้องและรักษาป่า จำเป็นที่คนเขาแก้วต้องลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่สีเขียวให้เต็มพื้นที่ของตำบลเขาแก้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจากการออมต้นไม้ คือ เกิดสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 50 คน ปลูกต้นไม้แล้วกว่า 800 ต้น เรามีคลองเขาแก้วที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สวนที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ สามารถสร้างเม็ดเงินจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย พัน...แสน โดยใช้เวลาไม่กี่ปี เปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นมูลค่า เพื่อสร้างฐานความมั่นคงในชีวิตตอนวัยชรา และเติมสีเขียวให้เขาแก้วได้จริง สิ่งที่ทำเรากำลังทำ จะไม่หยุดเพียง 4-5 ปี แต่เราจะสานต่อให้คนทั้งตำบลเขาแก้ว หันมาเห็นประโยชน์ของการ ออมต้นไม้ ไม่ใช่ว่าปลูกเพื่อสร้างมูลค่า เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออม เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้คงอยู่กับเรา และลูกหลายของคนเขาแก้วตลอดไป “ต้นไม้” เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง มีราคา สามารถถือครองได้ สามารถใช้เป็นบำนาญยามชรา และเป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไป” วิเชียร กล่าว
ต้นจำปาดะ อายุ 8 ปี ผลอร่อยรสหวาน
ต้นจำปาทอง อายุ 31 ปี ขนาด 210 ซม.
บทเรียนจากการขับเคลื่อนงานขบวนองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว
สิ่งที่ภาคภูมิใจในการทำกิจกรรมหรือปัจจัยประสบความสำเร็จ
- มีระบบการเตรียมความพร้อมที่ดี เช่น เตรียมพื้นที่ การเตรียมทีมงาน การเตรียมข้อมูล
- ประชาชนในชุมชนมี่ส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและให้ความสำคัญของการรวมกลุ่ม
- ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกกระบวนการการทำงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมประชาชนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม
- มีธงกำหนดเป้าหมายและแผนการทำงานกำกับที่ทุกคนเข้าใจกันและปฏิบัติตามแผนที่กำหนด
- มีหน่วยงานภาคีหนุนเสริมตามแผนงานเช่น องค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว/ ที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช (สาขาลานสกา) เกษตรอำเภอลานสกา องค์กรการเงินในชุมชน กลุ่มอาชีพ ภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน
- มีการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนที่ไม่รอเพียงงบประมาณจากส่วนกลางในการสร้างกระบวนการชุมชนสามารถจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนได้เอง
- เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายภายในและนอกพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนได้รับรางวัลกองทุนดีเด่น ระดับจังหวัด 2 รางวัล
- มีกระบวนการสรุปการทำงาน ติดตามและเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน
- เกิดความไม่เข้าใจเรื่องงบประมาณ จะเอาเงินไปสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์โครงการต้องระมัดระวัง ในการจัดกิจกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ เป็นเรื่องเล็กน้อย สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้การทำงานเดินไปได้ด้วยความเรียบร้อยสมาชิกสภาส่วนใหญ่เข้าใจ และให้ความร่วมมือและสัญญากันว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว ต้องเดินไปข้างหน้ากันให้ได้
- หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีการยอมรับการทำงานของสภาองค์กรชุมชนเท่าที่ควร ยังมองว่าเป็นองค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวกันมีกฎหมายยอมรับแต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่ยากสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม และเป็นข้ออ้างมองว่า อบต. ไม่สมารถเข้ามาร่วมได้เนื่องจากกฎหมายได้ห้ามเอาใว้
แนวทางการแก้ไขที่ผ่านมา
จากการได้ข้อมูล รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ยางราคาไม่ดี มีหนี้สิน ทำให้ต้องออกทำงานนอกบ้าน เพื่อหารายได้เพิ่มมาใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อได้ลงชุมชนได้รับรู้ปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน คือเรื่องเงินทุนในการประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในตำบล เช่น ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชระยะสั้น ข้าวโพด แตงกวา ผักบุ้ง ผักกาด เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ภาคี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว กองทุนสวัสดิการชุมชน และกลุ่มที่เข้าร่วม ได้มีมติว่าให้มีสถาบันการเงินชุมชน เพื่อตอบโจทย์ชุมชนเรื่องการแก้ปัญหาด้านหนี้สิน ด้านอาชีพ และกลุ่มอาชีพในตำบล โดยให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ สภาองค์กรชุมชนได้ปรึกษาหารือเจ้าหน้าที่ พอช.และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ตำบล จังหวัด เพื่อให้มีการดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยง กลุ่ม องค์กร ในการบูรณาการทุนในชุมชน
ขณะเดียวกันสภาองค์กรชุมชนตำบลก็ได้ มีการประสานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อหาพื้นที่จัดตั้งตลาดให้แก่คนในตำบลเพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของสมาชิก นอกจากสมาชิกได้มีอาหารที่ปลอดภัยแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่เหลือจากการรับประทานในครัวเรือนอีกด้วย อีกทั้งมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยการรวมเป็นเครือข่าย เช่น อบต.กองทุนสวัสดิการชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ประจำตำบล อาสาสมัครเกษตร อสม. สารวัตกำนัน แกนนำชุมชน และมีเครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่เชื่อมโยงระหว่างตำบล เวทีการเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่คนในตำบลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกิจกรรม“ออมต้นไม้” ถึงแม้ว่าจะพึ่งเริ่มทำเรื่องนี้ไม่นานนัก แต่เป็นการส่งเสริมให้คนในตำบลเกิดจิตสำนึกในการปกป้องและรักษา ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับป่า สร้างพื้นที่สีเขียวในตำบลเขาแก้วให้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
จากรูปธรรมความสำเร็จข้างต้นที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตำบลเขาแก้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญที่พี่น้องในชุมุชนร่วมกันขับเคลื่อนอาทิ โรงเรียนผู้เชี่ยวชาญชีวิตตำบลเขาแก้ว ที่มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านร่อน เกษตรอำเภอลานสกา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย องค์การบริหารส่วนตำบลแก้วและผู้สูงอายุทั้งตำบล 6 หมู่บ้าน เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ประสบ ปัญหาด้านสุขภาพ ต้องเรียนรู้ดูแลตัวเองในด้านต่างๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพ ที่อยู่อาศัย นันทนาการ เศรษฐกิจ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมาจากความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของของพี่น้องในชุมชนด้วยตัวเองทั้งสิ้น การที่ชุมชนจะเข้มแข็งหรือไม่นั้น คงไม่มีสูตรสำเร็จ หรือเครื่องมือใดจะมาบ่งชี้ หรือกำหนดได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องรู้เป้าหมาย ความต้องการของตนเอง เชื่อมั่นในพลังชุมชนว่ามีความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างมีส่วนร่วม มีความสัมพันธ์กับภาคี มีการนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนจัดการความรู้และทุนชุมชนเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนในทุกด้านได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับพี่น้องตำบลเขาแก้วที่กำลังเรียนรู้ และพัฒนาความเข้มแข็งของตนเองต่อไป