playlists faocebook CODINew icon_tw Intranet mail
ภาษาไทย english หน้าหลัก

ประวัติความเป็นมาและข้อมูลพื้นฐานพื้นที่

lamprada1 resize

เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว ได้มีชาวบ้านเชื้อสายไทยยวนหรือลาวยวนจากเขตอำเภอเมือง  อำเภอหนองแซง และอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้พากันอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ใน เขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร บริเวณบ้านลำประดาปัจจุบัน มีการบุกเบิกบริเวณดังกล่าวเพื่อทำการเกษตรกรรม  ซึ่งในบริเวณดังกล่าวจะมีน้ำไหลผ่าน และลำน้ำดังกล่าวจะมีแมงดาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกว่า “ลำแมงดา” ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็น “ลำประดา” ตำบลลำประดามี 10 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมดจำนวน  2,589 คน แยกเป็น ชาย 1,302 คน หญิง 1,287 คนมีพื้นที่ทั้งหมด 39.79 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 27,861 ไร่ มีพื้นที่บางส่วนที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงเหมาะแก่การเพาะปลูกไม่มีแม่น้ำไหลผ่านตำบล สภาพลำคลองเป็น ลำคลองเล็กๆ ในฤดูแล้งน้ำในลำคลองจะแห้งขอดไม่มีน้ำ

lamprada2_resize.jpg

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) เมื่อว่างจากฤดูทำนาแล้วก็จะว่างงาน เนื่องจากสภาพพื้นที่แห้งแล้ง จึงไม่สามารถทำอาชีพเสริมเกี่ยวกับการเกษตรได้อีก   มีบางส่วนไป ทำงานนอกหมู่บ้าน เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ส่วนในหมู่บ้านที่มีอาชีพเสริม ได้แก่ เย็บผ้า ปลูกผัก และค้าขาย ตามตลาดนัด บางส่วนจะอพยพไปใช้แรงงานในเมืองใหญ่  ตำบลลำประดาโดยทั่วไปจะเป็นสังคมเกษตร มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน คือ มีความเรียบง่ายใช้ ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ค่อยมีการแข่งขันทำให้ชาวบ้านในตำบลลำประดาแห่งนี้มีการพึ่งพออาศัยกันอยู่ ตลอดเวลา สภาพเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำนา ส่วนที่เหลือ เป็น อาชีพค้าขาย รับจ้างเลี้ยงสัตว์ ทำสวน และรับราชการ จึงทำให้ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบลแห่งนี้

การทำนาข้าวสามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากในฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งจึงทำให้ไม่มีน้ำในการทำนา พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในช่วงการทำนาปีในพื้นที่ตำบลลำประดา คือ ข้าวพันธุ์ปลดหนี้ (ซึ่งถือว่า เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และที่ได้ชื่อพันธุ์ข้าวปลดหนี้เพราะเป็นพันธุ์ที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตสูงสามารถขายแล้ว ชำระหนี้ให้กับชาวนาได้) รองลงมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หอมจังหวัดพิจิตร”) ส่วนพันธุ์ข้าวอื่นๆ  มีการปลูกเหมือนกันแต่ไม่มาก การทำนาปรังนั้น จะมีการทำเพียงส่วนน้อยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2, 3, 6 และ 7 พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกันมากในการทำนาปรังได้แก่ ข้าวสุพรรณบุรี ข้าวชัยนาท ข้าวพวงทอง เป็นต้น  

lamprada4_resize.jpg

พัฒนาการความเป็นมา

วิถีชุมชนคนลำประดาซึ่งเป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอบางมูลนาก  ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทำนา ดังนั้นวิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องกับทรัพยากร ดิน น้ำ และอากาศเป็นอย่างมาก   ด้วยความที่เป็นตำบลเล็กๆ จึงมีความเป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทรมีการช่วยเหลือแบ่งปัน ระหว่างญาติพี่น้องสูง  รวมถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

แต่เมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับยุคโลกาภิวัฒน์ การสื่อสารเทคโนโลยีต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทของชุมชนเป็นอย่างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนเป็นเรื่องเดิมๆที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาที่บางคนบอกว่าอยากที่จะแก้ไขไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจชาวบ้านมีหนี้สินเป็นจำนวนมากเกิดภาวะความยากจนการทำนาใช้ต้นทุนในการผลิตสูงไม่มีงานทำไม่มีที่ทำมาหากินเป็นของตนเองต้องเช่าพื้นที่คนอื่นทำกินประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำชาวบ้านจึงถูกซ้ำเติมครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้เชื่อมโยงไปถึงปัญหาด้านสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมสูงวัยผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูลูกหลานที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน  ทำให้ครอบครัวแตกแยกเกิดช่องว่างระหว่างวัยเด็กเยาวชนรวมกลุ่มกันมั่วสุ่มติดยาเสพติดติดเกมเล่นการพนันและชู้สาวคนในสังคมเห็นแก่ตัวการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยค่านิยมฟุ้งเฟ้อความฟุ่มเฟือยใช้เงินเกินตัวรวมถึงเมื่อเป็นปัญหาสังคมสูงวัยผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่นเบาหวานความดันโลหิตสูงทำให้เกิดภาวะพิการเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์มาพาดไม่มีคนดูแล ส่วนปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซากการทำการเกษตรใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นเพื่อให้ทันฤดูกาลผลิตและเร่งทำเงินหายทันใช้ต่อการดำรงชีพจากปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ปัญหาของคนลําประดา..ใครจะแก้ไขให้?”  “ปัญหาของคนลำประดา คนลำประดาก็ต้องแก้ไขเอง” เป็นคำถามและคำตอบที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของคนลำประดาที่ไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานข้างนอกแต่กลับมองว่าหากปัญหาใดเกิดขึ้นคนลำประดาย่อมรู้ทางแก้ไขที่ดีที่สุดสิ่งสำคัญคือคนลำประดาต้องรู้จักพึ่งตนเองและร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างจริงจัง

lamprada6_resize.jpg

จุดเริ่มต้น “ตำบลจัดการตนเอง”

แนวคิดการจัดการตนเองของตำบลลำประดาเกิดจากการทบทวนประวัติศาสตร์ และพัฒนาการในอดีตซึ่งได้เห็นถึงความสำเร็จและความล้มเหลวในพัฒนาการช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน  ทำให้มองเห็นความจำเป็นที่ประชาชน  องค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานราชการในพื้นที่จะต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์  โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการพัฒนา  จึงได้ตั้งคณะทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตำบลลำประดาและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะทำงานตำบลจัดการตนเองพร้อมกับประกาศให้ตำบลลำประดาเป็นตำบลจัดการตัวเองเมื่อปีพ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

คณะทำงานได้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงาน ณ ชุมชนบ้านเหมืองใหม่ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  หลังกลับมาจากการศึกษาดูงาน ก็ได้มีการจัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ “ตำบลจัดการตนเอง ตำบลลำประดา”ขึ้น  ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการพัฒนาสุขภาพตำบลโดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม กำหนดจุดหมายปลายทางร่วมกันใช้วางแผนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน

lamprada5_resize.jpg

ปี 2556 เกิดเวทีวาระประชาชน  การเรียนรู้ของผู้นำ แกนนำ กลุ่มและประชาชนในตำบลเริ่มจากการถอดบทเรียนของเครือข่ายวิชาการจาก อบต.ลำประดา  “ตำบลจัดการตนเองลำประดา”  หมายถึงต้องเป็นตำบลที่มีการจัดการทรัพยากรของชุมชนได้แก่ คน ทุน และความรู้  โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งประชาชน ท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนราชการต่างๆ ในทุกด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน  และสุขภาวะด้านร่างกายจิตใจที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เมื่อเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคมก็สามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆในท้องถิ่นได้ด้วยตนเองอย่างเท่าทันและเหมาะสมกับสถานการณ์

ลำประดาได้แปลงยุทธศาตร์ตำบลจัดการตนเองจากแนวคิดที่ว่า “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ”  นำไปสู่การลงมือทำร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม โดยได้แบ่งยุทธศาสตร์หลักออกเป็น 4 ด้าน

ด้านเศรษฐกิจ  การพัฒนากลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล  ได้แก่ โรงสีชุมชน โรงปุ๋ยชุมชน  กลุ่มตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่น กลุ่มสานตะกร้า กลุ่มดอกไม้จันทน์ กลุ่มเกษตรคุณธรรม กลุ่มพริกแกง และกลุ่มบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

ด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชน ได้แก่ การห้ามเล่นการพนันภายในวัด  การทะเลาะวิวาทในงานพิธีต่างๆ หรือการส่งเสริมข้อปฏิบัติในงานศาสนพิธี  งานด้านจิตอาสาการช่วยเหลือสังคมของกลุ่มองค์กรต่างๆ อาทิเช่น กลุ่ม อพปร.  กลุ่มสภาองค์กรชุมชน เป็นต้น

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนในการห้ามจับงูสิงห์และนกที่มากินหนูนาในนาซึ่งเป็นแนวคิดเชิงรุกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาห่วงโซ่อาหารผ่านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบล

ด้านสุขภาพ  การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาเรื่องสารเคมีในเลือดของเกษตรกร  การส่งเสริมสุขภาพของคนในตำบล  กลุ่มปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ  กลุ่มแอโรบิก  โดยใช้กระบวนการสร้างนำซ่อมร่วมกับโรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต.)

ผลที่เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง 

การจัดการน้ำชุมชน หนึ่งในวาระประชาชน ตำบลลำประดาที่ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรในตำบลเนื่องจากในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำแล้งซ้ำซากทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร ทำนาข้าวเป็นหลัก โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 20,000 กว่าไร่ประสบภัยแล้งทำให้พื้นที่นาปีขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะช่วงที่ข้าวที่กำลังตั้งท้อง หากไม่ได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงเลย ต้นข้าวก็จะแห้งต้นตาย ซึ่งนั่นก็หมายถึงความเสี่ยงที่ทำให้ชาวนาต้องประสบปัญหาขาดทุน ต้องแบกรับหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนทำนา จนกลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นเกือบทุกปีจนกระทั่งปี 2556 ได้เกิดเวทีวาระประชาชนคนลำประดาขึ้น การแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตรจึงเกิดขึ้น โดยผู้นำได้ประสานงาน ไปยังผู้นำตำบลบางไผ่ซึ่งเป็นตำบลใกล้เคียงในการขอใช้น้ำจากแม่น้ำน่านโดยการขอใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าของตำบลบางไผ่สูบน้ำขึ้นมาจากลำน้ำน่านส่งเข้าลำคลองสายหลักซึ่งเชื่อมต่อกับลำเหมืองดินของตำบลลำประดาซึ่งมีระยะทางกว่า 5-6 กิโลเมตรและสูบขึ้นลำเหมืองส่งไปให้ชาวนาที่อยู่ทางตอนบนให้สามารถทำนาได้ โดยช่วงแรกได้มีการประสานสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันทั้งตำบลทั้งการประสานสร้างความเข้าใจกับชาวนาและผู้นำในตำบลบางไผ่ การช่วยการตรวจตราเส้นทางน้ำและการจัดทำแผนที่การจัดการน้ำ มีการขึ้นทะเบียนชาวนาที่ทำนาในแต่ละปีเพื่อเก็บค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำปีละ 80 บาทต่อไร่ ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการน้ำตำบลร่วมกับผู้นำท้องถิ่น นายก อบต.ลำประดาประสานงานไปยังกรมชลประทานเพื่อเสนอโครงการสูบน้ำพลังไฟฟ้าโดยใช้ท่อมุดใต้ดิน หรือท่อส่งน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

วิทยาลัยผู้สูงอายุ เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในตำบลที่ได้มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุทั้ง 10หมู่บ้าน มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันจนได้ข้อตกลงตั้งกลุ่มผู้สูงอายุขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2541 โดยนายทรงพล เลิศสถิตย์ผู้อำนวยการ รพ.สต.ตำบลลำประดา ได้ชักชวนนายประสิทธิ์ เหลือจาด ซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณเข้ามาร่วมกิจกรรมผู้สูงอายุ  และได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุลำประดาขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อรวมกลุ่มผู้สูงอายุให้มีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลเพิ่มพูนสามัคคี มีคุณธรรมชี้นำคุณภาพ  นอกเหนือจากการดูแลรักษาสุขภาพแล้ว มีการสร้างกิจกรรมการรวมกลุ่มผ่านวิทยาลัยผู้สูงอายุตำบล

การแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ช่วงที่ว่างจากการทำนาชุมชนก็จะว่างงานไม่มีรายได้ เวทีวาระประชาชนตำบลลำประดาจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านลำประดา รวมตัวกันทำขนมซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านที่คนในชุมชนนิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วโดยเฉพาะการทำขนมเพื่อนำไปทำบุญที่วัดในวันพระ อาทิ เช่น ขนมเปียกปูน และขนมหม้อแกง ข้าวโปง เป็นต้น โดยเน้นกระบวนการทำที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ไม่ใส่สารกันบูด ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านจะนัดหมายรวมกลุ่มทำกันในวันโกนเพื่อขายให้กับคนในชุมชนที่ต้องการนำขนมไปทำบุญที่วัด หรือรับทำขนมเวลาที่มีออเดอร์จากลูกค้า หรือรับทำขนมให้กับ อบต. กลุ่มองค์กรในตำบลที่ต้องการจัดทำเป็นอาหารว่างประชุม เป็นต้น นอกจากนี้เวทีวาระประชาชนฯ ยังสนับสนุนกลุ่มทำตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ หมู่ที่ 3 ให้ใช้วัสดุที่เหลือใช้พวกกระดาษรีไซเคิลมาเป็นวัสดุในการผลิตตุ๊กตาซึ่งเป็นแผนงานต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

lamprada7_resize.jpg

การแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยในตำบล เป็นงานที่ขับเคลื่อนหลักโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลลำประดาที่ทำงานร่วมกับเวทีวาระประชาชนฯ ในการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในตำบลร่วมกับผู้นำทั้ง 10 หมู่บ้าน ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้มาปรึกษาหารือในเวทีวาระประชาชนฯ เพื่อเรียงลำดับความเร่งด่วนของปัญหาผู้เดือดร้อนโดยกระบวนการที่จะนำเข้าสู่เวทีตำบลจะผ่านการประชาคมรับรองในระดับหมู่บ้านมาแล้ว และเสนอต่อ พอช.เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  โดยกระบวนการซ่อมสร้างบ้านจะเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบพี่แบบน้องเป็นหลัก

แบ่งปัน
Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to Twitter